วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อบรมนักข่าวเพิ่มทักษะทำข่าวยามขัดแย้ง-ภัยมา



วันที่ 30 ก.ค.2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จับมือสหภาพแรงงานกลางสื่ิอมวลชนไทย และหลายองค์กร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การรายงานข่าวในสถานการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ” หรือ Safety Training รุ่นที่ 9 ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น จ.สระบุรี


นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื้อหาหลักสูตรของการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย 1.การเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าว 2.การเข้าทำข่าวในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติและพื้นที่ความขัดแย้ง 3. การเอาตัวรอด ช่วยชีวิต และการปฐมพยาบาลเชิงยุทธวิธีในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 4.ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ ไม่ให้เป็นผู้ขยายข้อความเพิ่มความขัดแย้ง หรือ Hate speech รวมทั้งเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลือ ข่าวลวง หรือ Fake news ที่กำลังเป็นปัญหาของโลกออนไลน์ในปัจจุบัน


นายปราเมศ กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่สื่อมวลชนทุกคน ไม่ว่าจะทำข่าวสายไหน เป็นสื่อประเภทใด จะได้มีโอกาสเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง และเข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ ที่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก คนที่ไม่เคยทำสนามข่าวภัยพิบัติหรือความขัดแย้งมาเลย หลังจากผ่านการอบรมครั้งนี้จะได้นำบทเรียนที่ได้รับจากการอบรม ไปเป็นด่านทดสอบว่าเมื่อได้รับการอบรมมาแล้ว การทำข่าวดีขึ้นไหม การประสานงานกับเพื่อนร่วมทีม กับกอง บก. เป็นอย่างไร


“ ซึ่งอยากให้ระลึกไว้เสมอว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำข่าวไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงหรือภัยพิบัติ คือ นักข่าวต้องปลอดภัยกลับมา และการรายงานข่าว จะต้องไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ และไม่เป็นภัยต่อสังคม ซึ่งนี่คือหัวใจของการอบรม Safety Training ”


ด้านนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง รองเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเลขาธิการสหภาพฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับการอบรม Safety Training เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรง จากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 หลังผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้มีการจัดงานเติมกำลังใจ ให้กับสื่อมวลชน และรับการยื่นข้อเสนอ 11 ข้อ ให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จัดหลักสูตรอบรม ให้องค์ความรู้ การทำข่าวในสถานการณ์ความรุนแรง ก่อนที่จะเริ่มมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ Safety Training รุ่น 1 ในปี 2553 และจัดต่อเนื่องทุกปี มาจนถึงปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 9 แล้ว มีสื่อมวลชนที่ผ่านการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ Safety Training แล้ว รวมกว่า 300 คน


"โดยปีนี้ มีการปรับและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์การทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน ที่ต้องลงพื้นที่ภัยพิบัติ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จึงมีการเพิ่มหลักสูตรการรายงานข่่าว การเอาตัวรอดในการทำข่าวทางน้ำเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้มีทักษะในการรายงานข่าวที่ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น"


ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับการอบรมครั้งนี้จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีผู้รับการอบรมเป็นสื่อมวลชนจากหลายสำนักและสื่อหลายแขนง จำนวน 29 คน ได้รับการสนับสนุนจาก สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) บมจ. บางจาก บมจ.วิริยะประกันภัย เครือเนชั่น บริษัท แอลเอสเทคโนโลยี จำกัด นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวฯ ยังขอขอบคุณทีมกู้ชีพทางน้ำ ใจถึงใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน ที่ส่งทีมงานมาร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้าอบรม และสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง 36 ที่นำเสื้อชูชีพของสถานีมาสนับสนุนการอบรมทางน้ำครั้งนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: สัจจะคู่ชีวิตแห่งปติพพตาวิมาน

   ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ในชีวิตที่ข้าเดินผ่านมา มั่นในศรัทธา รักเดียวต่อคนคู่ใจ จิตไม่...