วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระขุนแผนเคลือบ วัดอัมพวัน นนทบุรี ในวันที่เซียนพยายามทำพระ ๒ กรุให้เป็นเดียวกัน






เมื่อ ๕ ปีก่อน


วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ พระเกษมสันต์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการพระครูมงคลกิจจาทร (หลวงปู่ทองย้อย มังคโล) เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ต.บางด้วน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี 


เปิดเผยถึงการขุดพบกรุพระเก่าแก่หลายร้อยปีว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี ๒๕๕๔ ทำให้คลองบริเวณข้างเจดีย์เก่าแก่ของวัดมีดินเลนและสิ่งปฏิกูลทับถมขวางทางเดินน้ำ 


ทางวัดจึงได้นำรถแบ็กโฮมาขุดลอก พร้อมตัดต้นหญ้าที่ขึ้นสูงรายล้อมเจดีย์ แต่ปรากฏว่าใบพัดได้ตัดกระทบกับของแข็งบางอย่างจนเครื่องหยุดทำงานทันที เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นไหโบราณเก่าแก่ ซึ่งภายในบรรจุพระเก่าแก่จำนวนกว่า ๑๐๐ องค์


ในครั้งนั้น พระเกษมสันต์ บอกว่า “ได้เปิดไหโบราณดังกล่าว ซึ่งภายในมีดินเกาะกันเป็นก้อน จึงแคะดูพบว่ามีวัตถุมงคลเก่าแก่ มีเลนเกาะติดแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก 


จากนั้นอาตมาได้นำวัตถุมงคลเหล่านี้มาทำความสะอาด ปรากฏว่าส่วนใหญ่เป็นพระขุนแผนกระเบื้องเคลือบ (พิมพ์อกใหญ่) มีความเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ทีเดียว 


และมีลักษณะเหมือนกับพระกรุที่มีราคาแพงหายากของกรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงสร้างบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล


ทันทีที่ข่าวพระกรุวัดอัมพวันแตก แพร่สะพัดไป ปรากฏว่ามีบรรดาเซียนพระและผู้มีความชื่นชอบในมนต์เสน่ห์พระขุนแผน ต่างเดินทางมาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาตนเอง 


บ้างก็ไม่ลังเลใจล้วงกระเป๋าควักเงินสดบูชาติดไม้ติดมือไปคนละหลายองค์ ในขณะที่บางรายไม่ปลงใจ 


และมีคำถามตามมาอีกมากมายถึงพิมพ์ขุนแผนที่ผิดเพี้ยนไปจากตำนานเล่าขานของหมู่เซียน เช่น มีขนาดเล็กความคมลึกลวดลาย และสีไม่ชัดเจน ฯลฯ


การพบพระขุนแผนเคลือบคราวนี้ แม้กรรมการวัดบ้านอยู่ติดวัดยังไม่รู้เลย กระทั่งแปลกใจเห็นมีผู้คนมาที่กุฏิพระเอเยอะ ดึกดื่นก็ยังมา จึงรู้ว่าเขามาบูชาพระขุนแผนเคลือบ 


ทำให้กรรมการวัดกลัวว่าจะถูกครหาว่าวัดอัมพวันหลอกลวงญาติโยม จึงรายงานให้คณะสงฆ์รู้ มีการตั้งกรรมการสอบสวนพระเอและพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่มีส่วนรู้เห็นปล่อยพระกันไปแบบเงียบๆ ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว


กรรมการคนหนึ่งบ้านอยู่ติดวัดบอกและย้ำว่า พระเอได้มอบพระขุนแผนเคลือบให้เจ้าคณะอำเภอบางใหญ่ ท่านตี๋ไปเก็บรักษาไว้เป็นพระที่เหลือมีแค่ ๕๐ องค์เท่านั้น


เรื่องเล่าของการพบพระกรุงครั้งนี้มีหลายที่มา ที่เป็นข่าวคือ รถแบ็กโฮขุดเจอไห จากนั้นพระเกษม หรือ พระเอ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เก็บเอาไว้เลย ส่วนอีกเรื่องเล่าหนึ่ง คือ


 "พระถางหญ้าแล้วเจอไหใส่พระ" 


ในขณะที่ชาวบ้านใกล้เคียงบอกว่า เจอไหในดงกล้วยใกล้ๆ วัด ทั้งนี้นับรวมได้ ๓ ไห 


ในการเปิดไหครั้งแรก พระเอเคยพูดมีไหเพียง ๑ ใบเท่านั้น โดยพบพระกว่า ๑๐๐ องค์ 


จากนั้นไหที่พบเพิ่มเป็น ๒ ใบ พร้มกับจำนวนพระเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๐๐ องค์ 


ส่วนพระขุนแผนกรุวัดอัมพวันที่หมุนเวียนในวงการพระเรื่องเวลานี้ราว ๔๐๐ องค์ มากกว่าที่เปิดไหครั้งแรกถึง ๓๐๐ องค์ ที่เกินมาผู้ครอบครองต่างก็ยืนยันว่าเป็น


 "พระขุนแผนเคลือบกรุวัดอัมพวัน ๑๐๐%"


อย่างไรก็ตามเพื่อความชัดเจนของพิมพ์พระที่พบ ในครั้งนั้นนายวันชัย สอนมีทอง ประธานฝ่ายประสานงานสื่อมวลชนสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย และนักเขียนของ นสพ.บ้านเมือง ได้นำรูปพระไปให้เซียนพระในตลาดท่าพระจันทร์ดู 


ปรากฏว่า ครั้งแรกไม่มีใครเช่า ต่างระบุในทำนองที่ว่า


 "ไม่ใช่พระขุนแผนพิมพ์เดียวกับ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา" 


แต่ให้หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ วัน เรื่องราวกลับตาลปัตรกลายเป็นว่า 


นักเล่นพระสนามงามวงศ์วาน เช่าหากันองค์ละล้าน 


สนามพระท่าพระจันทร์ มีทั้งเล่นและไม่เล่น ที่ไม่เล่นหันมาเล่นตามน้ำไปกับเขาก็มีแล้ว 


สนามพระมณเฑียรบอกตามเขาไม่ทันแล้ว ก็เลยไม่เล่นขอสงวนตัวไว้ก่อน 


สนามพระพาต้า ปิ่นเกล้า บอกอยากเล่นเหมือนกันแต่ไม่ใช่ราคานี้ เพราะเป็นพระกรุใหม่ วัดอัมพวัน ราคาแพงเล่นไม่ไหวใจไม่ถึง 


ส่วน สนามพระโลตัส ปิ่นเกล้า พอได้ดูปั๊บ พิโธ่ ดูง่ายแต่ยังใจไม่ถึง


 "พระในประเทศไทยแท้ทุกองค์" 


นี่เป็นคำยืนยันของ อ.ประจำ อู่อรุณ หนึ่งในผู้ชำนาญการและกรรมการตัดสินพระชุดเบญจภาคีของสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย


ทั้งนี้ อ.ประจำ อธิบายให้ฟังว่า พระทุกองค์เป็นพระแท้ แต่แบ่งออกได้ ๒ แบบ คือ แท้แบบของเก่า และแท้แบบของใหม่ 


อย่างกับกรณีของพระสมเด็จ วัดขุนอินทรประมูล จ.อ่างทอง ในช่วงแตกกรุใหม่มีคนถือมาให้ดู ก็ตอบไปว่า "เป็นพระแท้ของวัดขุนอินทรประมูล" 


แต่ถ้าบอกว่า "เป็นพระแท้แบบพระที่สมเด็จโตสร้างไม่ได้ เทียบกับวัดระฆัง วัดบางขุนพรหมไม่ได้" 


ในกรณีพระขุนแผนเคลือบ วัดอัมพวัน จ.นนทบุรี ก็เช่นกัน "เป็นพระแท้ของวัดอัมพวัน"


แต่ถ้าบอกว่าเป็นพระแท้แบบวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ วัดเชิงท่า อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ไม่ได้ ต้องบอกว่าเป็นพระแท้แบบวัดอัมพวันเท่านั้นจึงจะถูกต้อง


เมื่อ ๔๐ ปี จำได้ว่าคนชื่อทวน ทำพระขุนแผนเคลือบของปลอมออกมาขาย โดยฝีมือการทำปลอมสุดยอดมาก ชนิดที่เรียกว่า ใครเห็นต่างก็บอกว่าเป็นของแท้ แต่ก็ไม่รอดพ้นสายตาเซียนพระ 


ในมุมมองส่วนตัวแล้ว ถ้ามองแบบคราวๆ หรือไม่เคยเห็นพระขุนแผนเคลือบของแท้มาก่อน ก็ต้องบอกว่า พุทธศิลป์คล้ายกัน ฝีมือการทำยังถือว่าห่างชั้นมาก พูดง่ายๆ คือ ถ้าเป็นลายเซ็นปลอมก็ไม่ต้องเข้าเครื่องตรวจสอบ ในทัศนะของผม 


ฝีมือเรียกว่าอย่างห่างชั้นมาก หากไปเทียบกับวัดใหญ่ วัดเชิงท่า พิมพ์ก็แตกต่างกันแล้ว นอกจากนี้แล้วเส้นสายขององค์พระ ซุ้ม และแข้ง ก็ต่างกัน ต้องบอกว่าเป็นพระแท้ของวัดอัมพวันเท่านั้น


ในฐานะที่เป็นคนเช่าพระ อ.ประจำ บอกว่า ถ้าใครมาเสนอขายหากรู้ว่ามีทางไปต่อก็จะซื้อพระขุนแผนเคลือบ วัดอัมพวัน ณ เวลานี้มีกำไรก็ต้องซื้อไว้ขายต่อ 


แต่เวลาขายจะต้องระบุว่าเป็นของวัดอัมพวันเท่านั้น เพราะราคาที่ซื้อขายกันในปัจจุบัน ถ้าเป็นพระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ต้องบอกว่า คนขายยิ่งกว่าตกควาย เพราะปัจจุบันสภาพพระขุนแผนเคลือบของวัดอัมพวัน


ถ้าเป็นของวัดใหญ่ ราคาต้องไม่ต่ำกว่า ๑ ล้านบาท โดยปัจจุบันองค์สวยๆ อยู่ที่กว่า ๒ ล้านบาท การเปิดเช่าทางวัดบอกว่าพบที่วัดอัมพวัน เปิดให้เช่าบูชาองค์ละ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ได้กล่าวอ้างเทียบกับพระที่อื่น 


ส่วนความเกี่ยวพันกับพระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่นั้น อ. ประจำบอกว่า


"เป็นเรื่องของคนวงการพระพูดกันไปเอง”


ทั้งนี้ อ.ประจำ ได้พูดไว้อย่างน่าคิดว่า ปัจจุบันนี้พระแท้หรือไม่แท้อยู่ที่เซียน เพราะคนเชื่อว่าเซียนเป็นผู้รู้จริง ในอดีตเคยมีบทเรียนมาแล้ว เช่น 


พระสมเด็จวัดขุนอินทรประมูล พระกรุนางโรงทอ พระวัดตะไก หน้าครุฑ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เมื่อข่าวแตกกรุใหม่ๆ คนตื่นแห่ซื้อกัน แต่เดียวนี้ไม่มีใครเล่นหากัน 


ตอนซื้อนั้นเป็นของแท้หมด แต่ความจริงจะปรากฏก็เมื่อต้องขายพระออกไป พระแท้ๆ กลับกลายเป็นพระปลอมไปได้ ผู้สะสมพระเครื่องเคยโดนมากนักต่อนักแล้ว 


การเล่นพระจะต้องมีสติ อย่าเชื่อตาเซียน แม้กระทั่งเซียนอย่างผม ซึ่งมีประสบการณ์ตัดสินพระชุดเบญจภาคีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒ หรือกว่า ๔๐ ปี การซื้อพระหลักแสนขึ้นไป ยิ่งเป็นหลักล้าน ต้องมีความรอบคอบเป็นพิเศษ


อย่าเชื่อเซียนคนใดคนหนึ่ง เพราะเซียนยังมีกิเลส อยากขายพระได้กำไรมากๆ ความจริงของพระขุนแผนเคลือบ วัดอัมพวัน จะปรากฏเมื่อขายพระออกไป
             

จึงต้องหาคำตอบต่อไปว่า "ไห หรือ โถโบราณในแม่น้ำที่ขุดได้อยู่กับใคร อีก ๒ ใบ และพระ ๓๐๐ องค์ ที่เพิ่มขึ้นมาจากไหน ฝีมือของใคร"

..........

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเพจพระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เด็กดอย(มิ)ด้อยดอกเตอร์

เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เด็กดอย(มิ)ด้อยดอกเตอร์ 1. บทนำ: จุดเริ่มต้นการเดินทาง เปิดเรื่อง : แนะนำตัวละครหลัก "สันติสุข" นักเข...