วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

วัดเส้าหลินเผยใช้กังฟู-แพทย์สื่อธรรมนำคนสู่วิปัสสนากรรมฐาน



วันที่ 23 ก.ค.2561 เฟซบุ๊ก A.P. Ānando ได้โพสต์ข้อความว่า ไปร่วมงานสัมมนาที่วัดเส้าหลินประเด็น “วัดเส้าหลินกับพระพุทธศาสนายุคสุ่ย-ถัง” (20-21 ก.ค. 61) เสนอบทความเกี่ยวกับข้อแตกต่างบางประการในรตนวรรค ระหว่างจตุรงควินัย (四分律 คัมภีร์วินัยของนิกายธรรมคุปตะ)และบาลีวินัย (ของเถรวาท) วิเคราะห์เปรียบเทียบสาระในคัมภีร์ทั้งสองส่วนที่มีทั้งความเหมือนและความต่าง

โดยประวัติศาสตร์แล้ววัดเส้าหลินมีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์จตุรงควินัยอย่างมาก ทั้งด้านการแปลและการสืบทอดในสมัยโบราณ (โดยเฉพาะผลงานของท่านฮุ้ยกวาง 慧光) ปัจจุบันนี้บรรพชิตชาวจีนโดยทั่วไปได้รับการอุปสมบทและถือปฏิบัติตามหลักจตุรงควินัย แต่ส่วนใหญ่เรามักรู้จักวัดเส้าหลินในภาพของพุทธศาสนานิกายเซ็นและกังฟูเป็นหลัก อันที่จริงประวัติศาสตร์วัดเส้าหลินมีเยอะกว่านั้น

กล่าวโดยสังเขปสมัยโบราณวัดนี้โดดเด่นใน 3 ด้านคือ กรรมฐาน การแพทย์และกังฟู เพื่อนพระวัดเส้าหลินเล่าว่า งานทั้งสามส่วนนี้กำลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ที่กำลังมาแรงน่าจะเป็นด้านการแพทย์ที่วัดได้ทำหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนปักกิ่งและกำลังเปิดสอนอยู่ ส่วนงานกรรมฐานได้ทราบว่ามีอาจารย์วิปัสสนาฝ่ายเถรวาทไปสอนอยู่เรื่อยๆ กังฟูคงไม่ต้องพูดมีสอนกันเป็นนับสิบโรงเรียนที่เชิงเขาทางขึ้นวัด

เคยคุยกับหลวงพ่อหย่งซิ่นเจ้าอาวาสตอนมาวิสาขะที่ มจร ท่านเล่าว่ากลยุทธ์ในการเผยแผ่พุทธศาสนาของท่านให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกคือ กังฟู ท่านบอกว่า กังฟู มันดึงดูดใจคนทั่วโลกเหมือนมวยไทย กังฟู ก้าวข้ามกำแพงศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ใครก็มาฝึกได้ ท่านเล่าต่อ บางคนมันสนใจกังฟูก่อนแล้วค่อยหันมาสนใจธรรมะและกรรมฐานทีหลัง ว่าแล้วท่านก็ชี้ไปที่พระชาวฝรั่งเศสรูปหนึ่งที่ยืนคอยท่านอยู่หน้าห้องรับรองแขกวีไอพีงานวิสาขะ แล้วหันกลับมาคุยกับผมต่อว่า ท่านรูปนี้ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นเคยเรียนกังฟูที่เส้าหลินอยู่สี่ปีจนเลื่อมใสพระพุทธศาสนาแล้วออกบวช ได้ฟังวิสัยทัศน์การเผยแผ่พุทธศาสนาแบบมหายานจากหลวงพ่อแล้วไปไกลจริงๆ (งานสัมมนาครั้งนี้ทางวัดจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงฮวาและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้ร่วมงานราว 50 รูป/คน)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...