วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การ(หมอภาคย์)กราบ : คือวัฒนธรรมอันดีงามของชาวพุทธ ?




วันที่ 26 ก.ค.2561 เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า การกราบ : คือวัฒนธรรมอันดีงามของชาวพุทธ ?

@ จากการนำเสนอเรื่องนี้ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เกาะกระแสหมูป่า แต่เมื่อติดตามข่าวแล้วเห็นภาพนี้ (ที่ให้ดู)คือพอเห็นภาพนี้แล้วไม่รู้นะครับว่าใครจะคิดอย่างไร แต่สำหรับผมแม้จะเป็นภาพที่ชินตา คือการกราบเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวพุทธทั่วๆไป แต่การเห็นภาพที่หมอภาคย์ได้ก้มกราบสามเณรหมูป่าทั้ง ๑๒ รูปนั้นเป็นภาพที่ผมเองรู้สึกได้ถึง

(๑) ความเป็นพุทธที่เป็นสิ่งหนึ่งที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมบ้านเรามานาน แต่ระยะหลังๆมานี่เราแทบจะไม่นำเอาคุณค่าของการกราบนี้มาอธิบายกันมากนัก เพราะอาจจะถือว่าเป็นเรื่องของความคุ้นชิน

(๒) เห็นความอ่อนโยนของคนพุทธที่แม้ว่าจะเข้มแข็งหรือแกร่งอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่อยู่ต่อหน้าสมณพราหมณ์หรือพระภิกษุสามเณรแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาก็เข้าไปกราบด้วยความอบอุ่นใจโดยไม่ต้องมีคำเรียกร้องจากใครชาวพุทธเราจะรู้ด้วยจิตวิญญาณและสามัญสำนึกในความเป็นพุทธ

(๓) ผมมองเห็นความรักความผูกพันที่คุณหมอภาคกับสามเณรหมูป่าทั้ง ๑๓ ชีวิต (แต่ที่มาบวชเพียง ๑๒ เพราะอีกหนึ่งเป็นคริสต์)ในระหว่างที่อยู่ในถ้ำหรือขณะที่ติดถ้ำกัน ผมว่าแม้ระยะเวลามันจะสั้น แต่ภาวะแห่ง “ความเป็นความตาย” ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณหมอภาคย์และเด็กๆเกิดความสนิทสนมและเคารพรัก เมตตาต่อกัน เป็นภาพที่ผมเองรู้สึกดีกับสิ่งที่เห็น ที่ว่ารู้สึกดีเพราะ

(๑) ดีที่เห็นวิถีของชาวพุทธที่ยังคงอยู่กับสังคมมาอย่างยาวนานเหนียวแน่นนั้นยังคมได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิถีแห่งชายชาติทหารอย่างหมอภาคย์ที่ได้แสดงออกนี้ผมของชื่นชมว่า คุณหมอปฏิบัติหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมมากทั้งในสนามและในเวลานอกราชการที่คุณหมอเป็นชาวพุทธด้วยจิตวิญญาณจริงๆ

(๒) ดีที่ผมเห็นคนพุทธและชาวพุทธทุกหมู่เหล่ายังให้ความสำคัญกับวิถีแห่งความเป็นพุทธอยู่ตลอดเวลา คนพุทธเราเมื่อคราวประสบเหตุเภทภัยต่างๆสิ่งหนึ่งที่พวกเราไม่เคยลืมก็คือ “การเข้าหาพระ หรือการเข้าหาที่พึ่งคือพระรัตนตรัย”ซึ่งเป็นที่พึ่งอันเกษมดั่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ เมื่ออันตรายเข้ามาถึงก็เข้าหาพระเมื่อพ้นอันตรายมาแล้วก็เข้าสู่ร่มพระศาสนา ซึ่งถือว่านั่นเป็นวิถีแห่งความเป็นพุทธที่สมบูรณ์อีกประการหนึ่ง

@ การกราบ ไม่ใช่แค่พิธีกรรม แต่มันคือวิถีทางวัฒนธรรม ?

เมื่อเอ่ยถึงการกราบ ผมคิดว่าหลายท่านก็คงจะทราบดีว่าการกราบนั้นผู้กราบจะต้องทำอย่างไรรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการกราบผมจะไม่พูดถึงเพราะเราท่านทั้งหลายต่างทราบกันดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมจะพูดถึงก็คือสารัตถะของการกราบนั้น คือ อะไร และเรากราบกันเพื่ออะไร โดยมีรายละเอียดที่เราจะต้องศึกษาดังต่อไปนี้

(๑) การกราบคือการแสดงออกถึงวิถีของชาวตะวันออกโดยเฉพาะในวัฒนธรรมอินเดียที่เป็นทั้ง พิธีกรรมและวิถีทางวัฒนธรรม ซึ่งคำว่า เป็นพิธีกรรม ก็คือเมื่อในยามที่จะต้องประกอบพิธีกรรมนั้น

การกราบถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ประกอบพิธีกรรมจะต้องทำหรือแสดงออกเพื่อแสดงถึงความเคารพที่ตนเองมีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือองค์พิธีที่เป็นที่ตั้งของพิธีกรรมนั้น คนอินเดียเวลาประกอบพิธีกรรมจะต้องนั่งกระโหย่งเท้าแล้วประนมมือตรงระหว่างอกจากนั้นก็บรรจงกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์เพื่อแสดงถึงความเคารพนอบน้อมต่อพิธีกรรมนั้น

ส่วนคำว่า เป็นวิถีทาวัฒนธรรม หมายถึง การกราบนั้นเป็นวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งที่คนในวัฒนธรรมอินเดียจะต้องแสดงออกเสมอเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนบนอบต่อผู้ที่ตนเองศรัทธา เมื่อเกิดความศรัทธาต่อใครก็จะกราบผู้นั้นหากไม่ศรัทธาก็จะไม่กราบ ดังนั้น การกราบจึงเป็นวิถีแห่งวัฒนธรรมของคนอินเดียโบราณ

(๒) เรากราบกันนั้น กราบเพื่ออะไร ?

สำหรับคำตอบที่มีในเรื่องนี้ก็คือเรากราบกันเพื่อ

(๑) แสดงความเคารพ หมายความว่าผู้ใดเคารพใครก็จะไหว้หรือกราบผู้นั้น อนึ่ง การกราบก็เป็นสื่อสัญญะ แสดงให้ผู้ที่เรากราบรู้ว่าเราแสดงออกซึ่งความเคารพท่าน แม้ว่าผู้นั้นเราอาจจะพึ่งเจอเป็นครั้งแรกก็ตาม การกราบย่อมทำให้ท่านรู้ว่าเราเคารพท่าน ส่วนคนที่ศรัทธาต่อบุคคลหรือวัตถุสิ่งนั้นอยู่แล้วการกราบคือการแสดงออกถึงความเคารพที่มีต่อผู้นั้นอย่างสุดซึ้ง

(๒) แสดงความนอบน้อมและยอมรับ การกราบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างง่ายๆในวัฒนธรรมอินเดีย หากว่าไม่สนิทไม่คุ้นเคยกันก็จะไม่กราบหรือหากไม่ยอมศิโรราบด้วยการยอมรับในคุณความดีหรือคามรู้ของผู้นั้นแล้วก็จะไม่กราบเพราะการกราบนั้นเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความนอบน้อม และการยอมรับในคุณวุฒิ วัยวุฒิของท่านผู้นั้นโดยไม่ต้องสงสัย

(๓) แสดงความอ่อนโยนที่เด็กหรือผู้ที่ศรัทธาจะพึงมีต่อบุคคลที่เป็นผู้ที่ตนเองศรัทธาหรือเชื่อมั่น การกราบทั่งๆไปในสังคมอินเดียโบราณก็คือ

(๑) สำหรับบุคคลทั่วไปนั้นจะถูกสอนกันในครอบครัวว่าจะต้องกราบไหว้บูชาบิดามารดาและเทพเจ้า เด็กๆจะถูกสอนตั้งแต่เวลายังเด็กตัวเล็กๆทำให้เป็นวิถีแห่งวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มาตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเจอพระหรือสมณพราหมณ์แล้วจะต้องเข้าไปกราบเพื่อแสดงความเคารพทันที หรือเวลาอยู่ที่บ้านก็สอนให้กราบพ่อแม่เป็นการทำสักการะอย่างหนึ่ง

(๒) สำหรับนักบวช การกราบถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวัง นักบวชอินเดียจะกราบพระหรือนักบวชที่ตนเองศรัทธาเท่านั้น พระหรือสมณพราหมณ์ที่ตนเองไม่ศรัทธาก็จะไม่กราบเพราะถือว่านั้นเป็นการแสวงหาบุญเขตนอกศาสนา

หรือเอาใจออกห่างศาสนาของตนเอง แต่เมื่อนักบวชหรือสมณพราหมณ์ในศาสนานั้นสามารถที่จะแสดงธรรมให้ตนเองเชื่อก็จึงจะสามารถกราบผู้นั้นได้ เหมือนกรณีอุรุเวลากัสสปะกับพี่น้องที่ไม่ยอมแสดงความเคารพพระพุทธองค์ ต่อเมื่อทรงแสดงธรรมแล้วก็จึงเข้ามากราบ เป็นต้น

(๓) การกราบเป็นการแสดงออกถึงความ”ลดมานะทิฏฐิ” คนอินเดียก็อย่างที่ว่ามีทิฏฐิยึดในทิฏฐิของตนเองสูงว่าสิ่งที่ตนเองมีตนเองเป็นนั้นดีกว่าคนอื่นเมื่อเวลานักบวชเจอนักบวชก็จะไม่ยอมลดราวาศอกเรื่องการอวดคำสอนกัน คือโต้แย้งถกเถียงกันแต่ก่อนที่จะถกเถียงกันก็จะมีกติกาว่าถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้จะต้องยอมเป็นศิษย์จนวันตายและจะยอมกราบโดยไม่มีเงื่อนไข

ดังนั้น การกราบในมุมหนึ่งก็คือ “การแสดงออกถึงการยอมลดทิฏฐิ”ของตนเองที่มีต่อบุคคลหรือสิ่งของนั้นๆ เหมือนพระฉันนะไม่ยอมไหว้พระภิกษุอื่นเพราะมีทิฏฐิว่าตนเองเป็นคนสนิทของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทำให้ก่อนที่ทรงจะปรินิพพานได้วางมาตรการในการจัดการกับพระฉันนะเรียกว่า “การลงพรหมทัณฑ์”เพื่อให้พระฉันนะคลายทิฏฐิยอมกราบพระสงฆ์รูปอื่นๆ

จากการกล่าวมาจะพบว่า การกราบในวัฒนธรรมอินเดียนั้นมีปรัชญาอยู่ในวิถีทางวัฒนธรรมนั้นมากมาย ส่วนเมืองไทยชาวพุทธไทยเราได้รับวัฒนธรรมการไหว้หรือการกราบมาจากวัฒนธรรมอินเดียผ่านศรีลังกามาเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา

เราจึงรู้จักการกราบการไหว้อย่างสนิทใจและการกราบของคนไทยนั้นเรากราบกันทั้งในแง่ของพิธีกรราและแง่ของวิถีทางวัฒนธรรม และการกราบนั้นก็ป็นความงดงามทางวัฒนธรรมพุทธในบ้านเรามาเป็นระยะเวลานานแล้ว

@ หมอภาคย์ นายทหารชาวพุทธกับการกราบสามเณรหมู่ป่า

ภาพี่ยกมาประกอบการเขียนในวันนี้ผมว่าผมรู้สึกอิ่มใจกับภาพของนายทหารผู้แข็งแกร่งได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธในการดูแลสามเณรมาจากในถ้ำและตามส่งจนถึงวัดเพื่อให้เหล่าสามเณรได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมแบบพุทธในวัดทางพระพุทธศาสนา

แสดงออกถึงวิถีของการเป็นชาวพุทธที่ดีด้วยการกราบน้องๆสามเณรทั้ง ๑๒ รูปด้วยความเคารพในวิถีแห่งการเป็นเหล่ากอของสมณะอย่างซาบซึ้งที่ผมเองเห็นแล้วก็อดที่จะอิ่มใจกับภาพที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ ภาพที่หมอภาคย์กราบเหล่าสามเณรหมูป่านั้นแสดงถึง

(๑) ความเคารพในความเป็นผู้ที่มีศีลสูงกว่าของเหล่าสามเณรทั้ง ๑๒ รูป

(๒) แสดงถึงการยอมรับในวิถีแห่งความเป็นชาวพุทธของน้องๆสามเณรหมูป่าที่เลือกเดินทางสู่วิถีแห่งธรรมซึ่งเป็นการยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยในการก้าวสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์นั้นอย่างสนิทใจ

(๓) แสดงออกถึงการลดมานะทิฏฐิที่เดิมทีหมูป่าทั้งเล็กใหญ่เรียกหมอภาคย์ว่าพี่บ้าง น้าบ้าง พ่อบ้าง(กรณีสามเณรไตตั้น) หมอภาคย์ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่กว่า

แต่เมื่อหมูป่าทั้งหมดบวชเป็นสามเณรแล้วหมอภาคย์กราบแทบเท้าสามเณรได้นั่นแสดงถึงสัญญะแห่งการยอมลดทิฏฐิไม่ถือมั่นในความอาวุโสทางวัยวุฒิ กราบน้องๆสามเณรด้วยความสนิทใจในภาวะแห่งการเป็นเหล่ากอแห่งสมณะนั้น เห็นแล้วช่างเป็นภาพที่น่าอนุโมทนาบุญยิ่งนัก

ขอบคุณครับ

Naga King

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เตือนผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ศึกษาและทำความเข้าใจระเบียบการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย

   เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567  ด้วยปรากฏว่ามีบุคคล กลุ่มบุคคล ได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเล...