วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เชิญร่วมสนับสนุนโครงการสร้างพระสงฆ์เพื่อดำรงพุทธศาสตร์สร้างศาสนทายาท



วันที่ 28 ก.ค.2561  ดร. พระมหาคมสรณ์ คุตตธัมโม พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ในฐานะประธานโครงการสร้างพระสงฆ์เพื่อดำรงพุทธศาสตร์ ได้โพนต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ท่านคมสรณ์ ข่าวสารงานพระธรรมทูตอินเดีย ความว่า 


โครงการ: สร้างพระสงฆ์เพื่อดำรงพุทธศาสตร์

หลักการและเหตุผล:

ด้วยพระสงฆ์คือศาสนบุคคลอันเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาพระศาสนาที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของพระศาสนาที่มีประสิทธิภาพ มีจำนวนลดน้อยลง และขาดประสิทธิภาพด้านความรู้และความสามารถในการประกาศพระศาสนา ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ขณะเดียวกันการก่อสร้างถาวรวัตถุทางศาสนามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนบุคลากรสงฆ์มีไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาถาวรวัตถุเหล่านั้นและพระสงฆ์ให้ความสำคัญในการก่อสร้างจนไม่ใส่ใจการพัฒนาบุคลากรสงฆ์ ทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพพระสงฆ์ ที่ด้อยการศึกษาธรรมและหย่อนยานด้านพระวินัยและก่อปัญหาให้กับสังคมแทนที่จะเป็นผู้นำด้านจิตใจให้สังคม ในท่ามกลางกระแสความเดือดร้อน ของบ้านเมืองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบันนี้ โดยได้อาศัยประสบการณ์ตรงจากที่ผ่านการบวชเรียนมาตั้งแต่จบประถมศึกษา เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัตร์ อันเป็นช่องทางสำหรับการศึกษาเรียนรู้ อบรม ศึกษาเพื่อพัฒนาตน ก้าวสู่ลำดับชั้นที่สูงขึ้นด้านการศึกษา ทำหน้าที่ในฐานะพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งในปัจจุบันนี้

จากเด็กชนบท สู่สำนักเรียน ในพระพุทธศาสนา ได้มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาตนภายใต้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้นำพระธรรมเข้าสู่วงการต่าง ๆ ในสังคมไทยและมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อถึงยังต่างประเทศ มองเห็นโอกาสที่ผ่านมาและอยากมอบโอกาสให้พระสงฆ์รุ่นหลัง จักได้เติบใหญ่ ไต่ตามเส้นทางที่ได้ผ่านพ้นมาด้วยความยากลำบาก จากถนนชีวิต ที่ขรุขระ นำมาปรับให้เป็นถนนแห่งธรรมที่รุ่นหลัง ๆ ก็จักเดินตามได้ไม่ยากลำบากนัก โครงการนี้ จึงเกิดขึ้น


วัตถุประสงค์

๑. เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้บวชเรียนพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
๒. เพื่อพัฒนาบุคลากรและฝึกผู้นำให้สงฆ์ไทยอย่างมีประสิทธิภาพด้านวิชาการและวิปัสสนากัมมัฎฐาน
๓. เพื่อแนะแนวการศึกษาสงฆ์ไทยอย่างมีระบบและทิศทางที่ชัดเจนให้กับกุลบุตรผู้บวชเรียนในพระพุทธศานา
๔. เพื่อยกระดับการประกาศคำสอนพระพุทธศาสนาให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติ
๕. เพื่อเพิ่มจำนวนพระสงฆ์ที่เป็นนักเทศน์ นักวิชาการ นักพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพแก่คณะสงฆ์ไทย
๖. เพื่อส่งเสริมพุทธศาสนิกชนให้การสนับสนุนการสร้างพระสงฆ์แทนการสร้างถาวรวัตถุ

วิธีการดำเนินงาน

๑. เชิญชวน คัดเลือกเยาวชนไทย ที่จบการศึกษาระดับ ปฐมศึกษาปีที่ ๖ หรือระดับ ม.๓ เข้ามาบรรพชาในช่วงภาคฤดูร้อน
๒. จัดการบรรพชา คัดเลือก และสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา ในสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ
๓. จัดหาโยมอุปฐากให้ร่วมตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาเป็นรายบุคคล
๔. จัดกิจกรรมส่งเสริมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประจำปีมอบหมายงานให้รับผิดชอบและพัฒนาตนจนเป็นที่ยอมรับ
๕. ส่งเสริมแนะแนวทางให้ได้รับการศึกษาชั้นสูงสุดทั้งทางโลกและทางธรรม
๖. มอบหน้าที่ให้รับผิดชอบงานเพื่อสืบทอดอายุพระศาสนาเมื่อจบการศึกษาแล้ว

ระยะเวลาการศึกษา

ปีที่ ๑ ศึกษาระดับนักธรรมตรี, เปรียญธรรม ๑-๒ และปริยัติสามัญ ม.๑
ปีที่ ๒ ศึกษาระดับนักธรรมโท,เปรียญธรรม ๒-๓ ประโยค, ปริยัติสามัญ ม.๒
ปีที่ ๓ ศึกษาระดับนักธรรมเอก,เปรีญธรรม ๓ ประโยค, ปริยัติสามัญ ม. ๓
ปีที่ ๔ เปรียญธรรม ๔ ประโยค, ปริยัติสามัญ ม.๔
ปีที่ ๕ เปรียญธรรม ๕ ประโยค. ปรัยัติสามัญ ม.๕
ปีที่ ๖ เปรียญธรรม ๖ ประโยค,ปริยัติสามัญ ม.๖
ปีที่ ๗ เปรียญธรรม ๗ ประโยค,ปริญญาตรี ปีที่ ๑
ปีที่ ๘ เปรียญธรรม ๘ ประโยค,ปริญญาตรีปีที่ ๒
ปีที่ ๙ เปรียญธรรม ๙ ประโยค,ปริญญาตรีปีที่ ๓(จบทางธรรมเปรียญ ๙ เป็นนาคหลวง)
ปีที่ ๑๐ ปริญญาตรี ปีที่ ๔

ปีที่ ๑๑ ฝึกงานต่างประเทศ ในฐานะพระบัณฑิตปฏิบัติงาน
ปีที่ ๑๒ ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปีที่ ๑
ปีที่๑๓ ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปีที่ ๒ จบปริญญาโท
ปีที่ ๑๔ ศึกษาต่อระดับปัญญาเอก ปีที่ ๑
ปีที่ ๑๕ ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกปีที่ ๒
ปีที่ ๑๖ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. เยาวชนเข้ามาบวชสามเณรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง
๒. ได้เพิ่มบุคลากรสงฆ์ไทยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเป็นผู้นำจิตวิญญานชาวพุทธได้
๓. เป็นโครงการตัวอย่าง นำร่องการสร้างพระสงฆ์แทนการสร้างถาวรวัตถุ
๔. พระพุทธศาสนาได้บุคลากรมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสูง
๕. พระสงฆ์ไทยมีประสิทธิภาพสามารถเทศนาธรรมให้ชาวต่างชาติเข้าใจและเข้าถึงแก่นพุทธศาสน์
๖. มีพระสงฆ์ที่ได้ผ่านกระบวนการฝึกภาวะความเป็นผู้นำพร้อมเป็นผู้นำด้านจิตใจให้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชิดชูพระศาสนา

จึงประกาศมาเพื่อทราบและเชิญร่วมสนับสนุนโครงการโดยทั่วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...