วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระชัยวัฒน์ชินบัญชร หลวงปู่ทิม อิสริโก จากรังของ "เจ้ากรมพระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่"




พระครูภาวนาภารัติ หรือ หลวงปู่ทิม อิสริโก มีชื่อและสกุลนามเดิมว่า "ทิม งามศรี" เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๒๒ ที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ ๒ ต.ละหาร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายแจ้-นางอินทร์ งามศรี มารดาของท่านเป็นน้องสาวของหลวงปู่สังข์ พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น และเป็นผู้สร้าง “วัดละหารไร่”

ต่อมา หลวงปู่สังข์ ได้ย้ายไปอยู่ที่ “วัดเก๋งจีน” และได้สร้างพระเนื้อตะกั่วขึ้นที่วัดนี้ อายุ ๑๙ ปี หลวงปู่ทิม ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นทหารประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ นาน ๔ ปีเศษ หลังปลดประจำการแล้ว ท่านได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๔๙ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ โดยมี พระครูขาว วัดทับมา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “อิสริโก”

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้อยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ช่วงนั้นท่านได้ศึกษาตำราต่างๆ ของหลวงปู่สังข์ ที่ได้รับไว้ด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง เมื่ออยู่ครบพรรษาแล้ว ท่านได้ขออนุญาตอาจารย์ออกเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เป็นเวลานานถึง ๓ ปี จึงได้เดินทางกลับมาอยู่ที่วัดนามะตูม เป็นเวลา ๒ พรรษา  ระหว่างนี้ได้เล่าเรียนวิชาอาคมกับพระเกจิอาจารย์หลายท่าน รวมทั้งอาจารย์ฆราวาส อาทิ อ.เริ่ม อ.รอด และ อ.สาย และตำราของหลวงปู่สังข์

ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่ที่ วัดไร่วารี ซึ่งเป็น ชื่อเดิมของ ของ “วัดละหารไร่” โดยได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นต้นมา ท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิ และถาวรวัตถุต่างๆ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง  พ.ศ.๒๔๘๓ หลวงปู่ทิมได้จัดสร้างโรงเรียน เพื่อสอนลูกหลานของชาวบ้านให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง พ.ศ.๒๔๙๗ คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูภาวนาภิรัติ”

ในครั้งนั้น หลวงปู่มิได้มีความสนใจใยดีกับเรื่องของยศตำแหน่งที่คณะสงฆ์ได้มอบให้ ท่านจึงไม่ได้เดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด จนกระทั่งชาวบ้านรู้ข่าว จึงพร้อมใจจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศและตราตั้ง มาถวายให้กับท่านถึงวัด ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้

วัตถุมงคลของ หลวงปู่ทิม มีการสร้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นพระผง พระปิดตา พระกริ่ง เหรียญ รูปเหมือน ตะกรุด ผ้ายันต์ ฯลฯ ทุกอย่าง และทุกรุ่น ล้วนได้รับความศรัทธาสนใจจากลูกศิษย์ลูกหา ชาวบ้าน และนักสะสมพระเครื่องทั่วประเทศ เนื่องจากมีประสบการณ์ในทุกด้าน โด่งดังไปทั่วทุกวงการ จนมีการสร้าง “ของปลอม” ออกมามากมาย ที่สำคัญ คือ ยังมีการนำรูปแบบพิมพ์ทรงองค์พระและชื่อพระเครื่องของท่าน ไปสร้างเลียนแบบโดยพระเกจิอาจารย์อื่นๆ มากมาย

พระเครื่องของ หลวงปู่ทิม ที่โด่งดังสุดๆ อาทิ พระขุนแผนผงพรายกุมาร, พระกริ่งชินบัญชร, เหรียญเจริญพรบน, เหรียญเจริญพรล่าง, พระนาคปรกใบมะขาม (ปรกจ้อย) ฯลฯ หลวงปู่ทิม นับเป็นพระอริยสงฆ์ที่น่าเคารพบูชากราบไหว้อย่างยิ่ง ท่านมีปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใส เป็นพระบริสุทธิสงฆ์ที่งดงามด้วยศีลาจารวัตร รักสันโดษ สมถะ มักน้อย ไม่ยินดียินร้ายในรูป รส กลิ่น เสียง ใดๆ

กิจวัตรส่วนตัวของท่าน คือ ฉันเช้าประมาณ ๗ โมงเช้า โดยฉันข้าวมื้อเดียว พร้อมกับ ผัก ถั่ว น้ำพริกกับเกลือป่น ส่วน เนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด รวมทั้งน้ำปลา ท่านจะไม่ยอมฉัน ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า ๔๗ ปี

หลวงปู่ทิม ได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๘ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๖๙ โดยได้รับพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๖ ณ วันนี้ถึงแม้ว่า หลวงปู่ทิม จะละสังขารจากไปแล้ว ๔๐ ปี แต่คุณงามความดีของหลวงปู่ก็ยังอยู่ในความทรงจำของศิษยานุศิษย์ 

พระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง ปี ๒๕๑๗ ถือว่า เป็น ต้นกำเนิดของคำว่า "พระกริ่งชินบัญชร" ที่ได้รับความนิยมกันมาก จนมีพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ นำชื่อนี้ไปสร้างตามแบบอย่างหลายสำนัก หลายวัด พระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม ประกอบพิธีเททองหล่อแบบโบราณ ที่ลานวัดละหารไร่ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๑๗ โดย หลวงปู่ทิม เป็นผู้เททองด้วยตัวท่านเอง

พุทธลักษณะของพระกริ่งชินบัญชร ถอดแบบจาก พระกริ่งใหญ่ ของเมืองจีน โดยประยุกต์ให้งดงามยิ่งขึ้น สร้างด้วย เนื้อทองคำ จำนวน ๑๓ องค์ ทุกองค์ตอกเลขไทยตั้งแต่ ๑-๑๓ ไว้ที่ใต้ฐานซึ่งปิดด้วยแผ่นทองคำ พร้อมกับโค้ดรูป “ศาลา” ด้านหลังองค์พระตอกโค้ดตัวขอม “นะ” ทุกองค์  พระกริ่งเนื้อทองคำ มีการเช่าหาแพงที่สุด คือ องค์ละกว่า ๕ ล้านบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีการสร้าง พระกริ่งชินบัญชร เนื้อนวโลหะ ใต้ฐานปิดด้วยแผ่นเงิน ตอกโค้ดรูป “ศาลา” และโค้ดตัว “นะ” ที่ด้านหลัง มีทั้งตอกหมายเลขและไม่ได้ตอก สำหรับภาพพระองค์ครู องค์นี้เป็น พระชัยวัฒน์ชินบัญชร เนื้อทองคำสร้าง พ.ศ.๒๕๑๗ โดยหลวงปู่ทิมเป็นผู้เททองนำฤกษ์ด้วยตัวท่านเอง  จำนวนกราสร้างเนื้อทองคำ จำนวนสร้าง ๕๙ องค์

ขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก นาย กิตติ พจนานุภาพ นายกสมาคมจิตรางค์คนางค์อนุรักษ์พระเครื่องไทย ผู้สะสมพระเครื่องหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ที่ขึ้นชื่อว่ามากที่สุด เจ้าของฉายา "เจ้ากรมพระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่"


..............

(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก พระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เขียนธรรม

เนื้อหาหนังสือนิยายอิงธรรมะ: เขียนธรรม แนวคิดหลัก: หนังสือ "เขียนธรรม" เป็นการผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องราวของตัวละครกับแนวคิดธรร...