วันเข้าพรรษาต้นแบบสร้างปรองดองในสังคมไทยสิ่งดีที่ถูกมองข้าม
สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
วันเข้าพรรษาคือเป็นวันที่พระภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนาจะทำพิธีกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่ง ส่วนใหญ่จะประกอบพิธีในช่วงเย็น ญาติโยมทั้งหลายต้องการได้บุญเพิ่มทั้งข้อทานมัยบุญสำเร็จด้วยการบริจาคทานคือถวายดอกไม้แก่พระภิกษุและสามเณร เพื่อที่ท่านจะนำไปบูชาพระหรือใช้ประกอบในการแสดงสามีจิกรรมก่อนที่จะกล่าวคำอธิษฐานพรรษา
หากญาติโยมทั้งหลายต้องการจะได้บุญเพิ่มมากขึ้นไปอีกในข้อ "ธัมมัสสวนมัย" คือการฟังธรรมช่วงที่พระภิกษุและสามเณรทำวัตรเย็นก็จะได้บุญข้อนี้อีกคือทำให้เกิดสมาธิมีจิตใจสงบจะขั้นไหนนั้นก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล แต่หากฟังพระภิกษุและสามเณรทำวัตรเย็นเป็นภาษาบาลีนั้นรู้เรื่องก็เท่ากับว่าได้บุญข้อ "ภาวนามัย" อีกคือทำให้เกิดปัญญา หรือตั้งสติรู้เท่าทันเสียงที่พระภิกษุและสามเณรทำวัตรเย็นก็เป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยกำหนดว่ารู้หนอหรือได้ยินหนอ ส่วนศีลนั้นก็คงจะได้รับกันในโอกาสต่างๆ หรือไม่ละเมิดก็คือว่ามีศีลแล้ว
เท่ากับว่าเป็นการได้บุญครบทั้ง ทาน ศีล สมาธิและปัญญา และเท่ากับเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปดในอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหนทางแห่งความดับทุกข์อยู่กับความขัดแย้งได้อย่างมีความสุข
ที่นี้วันเข้าพรรษาต้นแบบสร้างความปรองดองสังคมไทยอย่างไร
ก็เมื่อทุกท่านทำบุญครบทั้ง ทาน ศีล สมาธิและปัญญา ความปรองดองก็เกิดแล้ว และเกิดนานเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะรักษาความปรองดองไว้ได้นานเท่าใด ไม่ใช่ออกนอกวัดก็แบ่งฝ่ายกันอยู่เหมือนเดิม
ที่นี่ตัวอย่างของพระภิกษุและสามเณรที่เป็นต้นแบบของการสร้างความปรองดองก็อยู่ตรงที่การแสดงสามีจิกรรมโดยกล่าวคำขอขมาเป็นภาษาบาลีพร้อมกันหลายคนว่า
ผู้ขอ เถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต. (3 หน) แปลความว่า ท่านพระเถระ ความผิดพลาดที่ได้กระทำด้วยความประมาททั้งทวารทั้ง 3 คือกาย วาจา ใจ ขอท่านจงยกโทษหรือให้อภัยแต่ความผิดพลาดทั้งปวงนั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด
ผู้รับ อะหัง ขะมามิ ตุมเหหิปิ เม ขะมิตัพพัง. แปลความว่า เรายกโทษหรือให้อภัยแก่พวกท่านทั้งหลายและพวกท่านทั้งหลายก็ยกโทษหรือให้อภัยแก่เราด้วย
ผู้ขอ ขะมามะ ภันเต แปลความว่า ขอรับ พวกข้าพเจ้าทั้งหลายยกโทษหรือให้อภัย
นี้เท่ากับการแสดงความอโหสิกรรมหรืออภัยทานของพระภิกษุและสามเณร เท่ากับว่าพระภิกษุและสามเณรได้ให้ทานในข้ออภัยทาน ส่วนญาติโยมทั้งหลายได้ทานข้อวัตถุทาน และสามารถเอาตัวอย่างข็องพระภิกษุและสามเณรไปทำกับบุคคลที่เคยมีเรื่องทะเลาะ ความเห็นไม่ลงรอยกันบ้างก็ให้อภัยทานกัน ก็เชื่อแน่ว่าสังคมไทยจะเกิดความปรองดองสมานฉันท์โดยยกเอาวันเข้าพรรษานี้เป็นตัวอย่าง ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำกันหรือไม่หรือยังถือทิฐิกันอยู่ก็อยู่กันแบบนี้ต่อไป
ส่วนอภัยทานสร้างความปรองดองในสังคมไทยอย่างไรนั้นพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เขียนไว้นานแล้วตั้งแต่วิกฤติความขัดแย้งที่ไม่สามารถมีกลไกรการบริหารจัดการให้สมดุลจนเกิดความรุนแรง สามารถติดตามได้จากลิ้งค์นี้ https://www.gotoknow.org/posts/398297
ขณะที่ เฟซบุ๊ก Naga King อาจารย์จากคณะพุทธศาสตร์ มจร ได้ให้ความเห็นความว่า
พระเข้าพรรษา...โยมปวารณาทำความดี ?
@ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียโอกาสและเวลาหรือเทศกาลที่มีอยู่ในวันนี้คือเทศกาลเข้าพรรษา ว่าเมื่อเวลาเข้าพรรษามาถึงพระภิกษุสามเณรก็จะพากันอธิษฐานเข้าพรรษากันตามอารามต่างๆว่า
ในช่วงพรรษานี้จะไม่ไปเที่ยวพักค้างอ้างแรมในที่อื่นนอกจาก ณ สถานที่ที่ได้อธิษฐานเอาไว้แล้ว และเพื่อให้การอธิษฐานจำพรรษาขลังยิ่งขึ้น ท่านก็จะพากันปวารณากรรมแก่กันและกันว่า
"ในช่วงเข้าพรรษานี้หากมีกรรมอันใดที่ได้ล่วงละเมิดต่อกันก็ขอให้อภัยซึ่งกันและกัน และให้ถือว่าช่วงเข้าพรรษานี้ก็ขอเปิดโอกาสให้เพื่อนสหธรรมิก ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ตักเตือนได้อย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าพร้อมที่จะรับฟังและนำไปปฏิบัติตาม"
ซึ่งการปวารณาเช่นนี้ก็เพื่อ
(1) แสดงความบริสุทธิ์ใจในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ในการยอมรับและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น เนื่องจากบางคนมีปัญหามากเวลามากินนอนอยู่ร่วมกับคนอื่น ช่วงเข้าพรรษานี้จึงถือเป็นโอกาสดีได้เข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกัน
(2) แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้
(3) เพื่อน้อมจิตใจไปในการศึกษา(สิกขา)เพื่อพัฒนาตนเองทั้งทางด้าน ร่างกาย ด้านระเบียบวินัย ด้านจิตใจ และด้านสติปัญญาให้เต็มที่
(4) เพื่อได้ทำหน้าที่ในการศึกษาพระธรรมวินัยได้อย่างเต็มที่ทั้งทางด้านการปริยีติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ให้ครบพร้อมบริบูรณ์
@ ถ้าเรามองภารกิจการเข้าพรรษาของพระสงฆ์ท่านได้เช่นนี้ ผมว่าก็ง่ายนะที่ชาวพุทธที่เป็นเจ้าของกิจการ หรืออย่างน้อยสุดคือหน่วยครอบครัวจะได้เอาสาระวันเข้าพรรษานี้ไป วางเป็นนโยบายเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันหรือเพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกันในช่วงเข้าพรรษานี้
(1) ในด้านครอบครัว
ผมว่าผู้นำครอบครัวควรถือโอกาสวันเข้าพรรษานี้เรียกประชุมพ่อแม่ลูก ถือโอกาสให้ทุกคนในครอบครัวมาแสดงเจตจำนงหรือมาปวารณาร่วมกันว่า
สามเดือนนี้พ่อเปิดโอกาสให้แม่(ภรรยา)และลูกๆตักเตือนได้หากว่าพ่อทำอะไรผิดไปพ่อจะไม่โกรธและจะปฏิบัติตนเป็นคนดีของลูกๆและเมียจะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี จะไม่ไปพักค้างแรมนอกบ้านนอกจากมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
หรือคนที่เป็นภรรยาก็จะปวารณาต่อสามีและลูกๆเช่นกันว่าช่วงสามเดือนนี้แม่ขอเปิดใจกว้างๆให้พ่อและลูกๆตักเตือนได้แม่จะไม่โกรธหรือแสดงอาการเกรี้ยวกราดใดๆแม่จะอดทนทำงานเพื่อลูกเพื่อสามีค่ะ
จากนั้นผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็จะให้ลูกๆปวารณาตนเองต่อหน้าพ่อแม่ว่า ในช่วงสามเดือนนี้ลูกๆจะเป็นลูกที่ดีจะตั้งใจเรียน จะช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านจะไม่เล่นเฟส ไลน์เกิน 4 ทุ่ม
จะขยันเรียนหนังสือจะไม่เถียงพ่อแม่ จะไม่คบเพื่อนไม่ดี มีอะไรจะพูดหรือเล่าให้พ่อกับแม่ฟัง จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจะกลับบ้านตรงเวลา จะไม่โกรธเวลาพ่อแม่ดุหรืออบรมสั่งสอนในทางที่ดี เป็นต้น
จากนั้นก็ให้แม่พาลุกๆเอาดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปกราบขอพรจากคนที่เป็นพ่อ จากนั้นพ่อก็จะให้พรภรรยาและลูกๆก็เป็นอันเสร็จพิธี ผมว่านะถ้าทุกครอบครัวทำแบบนี้ได้สังคมบ้านเราก็คงจะมีแต่ความสุข
(2) ด้านเจ้าของกิจการ โรงเรียนครู นักเรียน
ผมว่าทุกองค์กรที่เป็นองค์กรชาวพุทธเราก็สามารถนำเอากรอบการ "ปวารณาเข้าพรรษา"ของพระท่านไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้"
ตัวอย่างเช่น องค์กรบริษัทห้างร้าน เจ้าของกิจการก็สามารถเรียนพนักงานในร้านมาทำความเข้าใจและเริ่มการปวารณาได้ว่า ในสามเดือนนี้เราจะมีปฏิญญาร่วมกันว่า
(1)นายจ้างจะเปิดโอกาสให้ทลูกจ้างตักเตือนในการทำงานได้ด้วยการเปิดโอกาสให้โทรศัพท์หรือส่งคำวิจารณ์การบริหารงานได้โดยไม่มีการโกรธหรือนำไปเป็นเงื่อนไขในการตัดเงินเดือน
(2) หัวหน้าแผนกต่างๆก็ให้คำปวารณาว่าจะทำงานให้ดีและจะเปิดใจให้กับลูกน้องทุกคนได้ตักเตือนหรือแนะนำได้
(3)ลูกน้องทุกคนของบริษัทหรือห้างร้านก็ปวารณาต่อเจ้าของกิจการว่าสามเดือนนี้จะเป็นคนดี ตั้งใจทำงานและเปิดใจให้นายจ้างว่ากล่าวตักเตือนได้ จากนั้นให้หัวหน้าแผนกนำลูกน้องไปขอขมาและขอศีลขอพรจากนายจ้าง เมื่อนายจ้างให้พรแล้วก็ถือว่าจบพิธีการ
แม้แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆผอ.โรงเรียนก็สามารถนำกรอบแนวคิดวันปวารณาเข้าพรรษาไปใช้ได้ ถ้านำไปใช้ได้โรงเรียนจะไม่มีกรณีนักเรียนประท้วงไล่ผอ.หรือมีกรณีครูแอบกินเด็กในโรงเรียนอันเป็นที่มาของข่าวอื้อฉาวในวงการศึกษาดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอนครับ ขอเพียงแต่นำไปทดลองใช้ให้ได้กันจริงๆก็พอ
ขอบคุณมากครับ
Naga King
จะเห็นได้ว่าสิ่งดีๆ ของวันเข้าพรรษามีอยู่มากมาย ไม่ได้มีแต่ประโยชน์เฉพาะพระ หรือญาติโยมเฉพาะวันนี้เท่านั้น หากนำมาสร้างเป็นกระบวนการสร้างความปรองดอก แล้วนำไปสู่การปฏิบัติการแล้ว คงจะทำให้สังคม และการเมืองไทยลดความอึมครึมลงไปได้มาก อาจจะเป็นหนทางหรือมรรคในการแก้ปัญหาความขัดแย้งลงได้ หากมี
"มโน ปุพพังคมา ธัมมา มโน เสฏฐา มโน มยา
ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ"
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น