วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ผิดวินัยจริงหรือ?!"ครูบาบุญชุ่มทำพิธีช่วย13ชีวิตทีมหมูป่ารอด"




วันที่ 6 ก.ค.2561 จากการที่พระครูบาบุญชุ่ม พระเกจิดังเมืองล้านน ที่เดินทางไปทำพิธีเปิดถ้ำสวดมนต์เพื่อเป็นกำลังใจในการช่วยนักฟุตบอลและโค้ชทีมทีนทอล์ค (หมูป่า) อะคาเดมี แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้ง 13 คน ให้ออกมาจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ให้ประสบผลเสร็จเมื่อวันที่ 29-30 มิ.ย.2561 และต่อมาทุกภาคส่วนสามารถค้นพบในวันที่ 2 ก.ค.2561 ขณะนี้กำลังเตรียมการนำออกจากถ้ำ

อย่างไร็ก็ามพระพิศาลธรรมพาที หรือพระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดัง เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ได้แสดงความเห็นว่า หลังการทำพีธีของพระครูบาบุญชุ่มนั้น อาตมามองว่าคนไทยส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องลึกลับโดยมองข้ามเรื่องลึกซึ้ง แต่อย่าลืมว่าเรื่องลึกลับไม่ได้ดับทุกข์ได้โดยตรง โดยการที่ช่วยเหลือหากเชื่อพิธีอย่างเดียว และลืมไปว่ายังมีทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยด้วยนั้น ก็จะนำไปสู่การลำเอียง แต่ถ้ามองในมุมกลับกันทางเจ้าหน้าที่ก็ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน พูดง่ายๆว่าข่าวดีที่ได้รับนั้นมาจาก 2 พลัง คือพลังของฌาน และพลังของเทคโนโลยี เปรียบเสมือนกำลังใจ และความสามารถของทุกๆคน ที่ทำให้เกิดผลสำเร็จ

ขณะที่ อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ นักบรรยายธรรม ได้แสดงความจริงว่า ทุกชีวิตและที่ติดในถ้ำ ไม่พ้นจากกรรมและผลของกรรม ควรกระทำการช่วยเหลือให้ดีที่สุด น่าชื่นชมอนุโมทนาในเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่มีจิตที่ดีและช่วยเหลือกัน แต่การช่วยเหลือนั้น ก็ต้องตามหน้าที่ที่ถูก พระภิกษุที่บวชมาในพระพุทธศาสนา ต้องประพฤติตามพระธรรมวินัย เป็นพระภิกษุ แต่ทำพิธีเปิดถ้ำ ปัดเป่าสิ่งไม่ดี แสดงถึงไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า มอมเมาชาวบ้านประชาชน เพราะ ไม่ตรงกับกรรมและผลของกรรม พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ภิกษุทำพิธีกรรมที่ผิดคำสอน หากภิกษุทำ ต้องอาบัติเป็นโทษ ตายไปตกนรก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์แสดงความเห็นความว่า เรื่องพิธีกรรมของพระผิดวินัยจริงหรือ ?

@ เนื่องจากมีผู้ส่งข้อมูลของเจ้าสำนักหนึ่งที่มีการถามตอบกันในคลิปว่า การที่ครูบาบุญชุ่ม พระเกจิชาวเหนือได้ไปประกอบพิธีกรรมหน้าถ้ำจะเป็นพิธีกรรมอะไรก็ตามที่ท่านมีความรู้เรื่องนี้ แล้วเจ้าสำนักอภิธรรมก็ให้คำตอบว่าการประกอบพิธีกรรมแบบนั้นถือว่าไม่มีในพระวินัยไม่มีในพระไตรปิฎก

หรือเลยไปบอกว่าท่านทำผิดพระวินัยไปเลย ต่อเรื่องนี้ถามว่าผมคิดอย่างไร ผมว่าก่อนที่จะไปพุดว่าท่านทำความผิดหรือไม่นั้นผมว่าเรามาพิจารณาเป็นเรื่องๆไปดีไหมครับ คือ

(๑) พิธีกรรมในสมัยก่อนพุทธกาล คืออะไร ?

@ คำถามคือเรื่องพิธีกรรมนี้มีมาก่อนในสมัยพุทะกาลหรือไม่และในพระไตรปิฎกไดกล่าวถึงเรื่องพิธีกรรมนี้ไว้ว่าอย่างไร จากการศึกษาพระไตรปิฎกมาจะพบว่าในเล่มที่ ๙ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรคนั้นมีปรากฏเรื่องของพิธีกรรมมากมายซึ่งเป็นพิธีกรรมก่อนสมัยพุทะกาลและเป็นในสมัยพุทธกาล

โดยพิธีกรรมนั้นก็คือ ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่นเวียนเทียน พิธีซัดแกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนยบูชาไฟ พิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ พิธีพลีกรรมด้วยเลือด(ที.สี.(ไทย)๙/๒๑/....)

หรือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวง-สรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ(ที.สี.(ไทย)๙/๒๗/....)

โดยพิธีกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นพิธีที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศที่พระพุทธองค์ไม่ทรงประกอบพิธีกรรมเหล่านี้ แต่ว่าพิธีกรรมเหล่านี้ไม่มีในพระวินัยบัญญัติว่าเป็นความผิดเป็นแต่เพียงพิธีกรรมที่พระพุทธองค์ตรัสว่าพระองค์ไม่ประกอบพิธีกรรมเหล่านี้เท่านั้น

เพราะทรงเห็นว่าพิธีกรรมเหล่านี้เป็นเดรัจฉานวิชาที่ไม่ทรงนำมาใช้ในจริยาวัตรของพระองค์ ซึ่งข้อมูลต่างๆที่นำมากล่าวนี้ถือว่าเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมกับศาสนาในอินเดียนั้นมีอยู่จริง โดยยุคแรกตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาปรากฏว่าผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีก็คือพราหมณ์(อัคคัญญสูตร)

(๒) พระพุทธศาสนามองเรื่องพิธีกรรมอย่างไร ?

คำถามต่อมาก็คือคำถามที่ว่า แล้วพระพุทธศาสนายอมรับพิธีกรรมแบบไหน คำตอบก็คือ พระพุทธศาสนายอมรับ

(๑) พิธีกรรมที่ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา ดังที่กล่าวมาแล้ว (เล่มที่ ๙)

(๒) พิธีกรรมที่เป็นไปเพื่อการศึกษาและการฝึกฝนตนเองหรือพิธีกรรมที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการบวช เช่น บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา บวชแบบไตรสรณคมณ์ บวชแบบญัตติจตุตถกรรมวาจา พิธีเข้าพรรษา-ออกพรรษา พิธีรับกฐิน พิธีกรรมการแสดงธรรม การปลงอาบัติหรือการออกจากอาบัติ เป็นต้น

พิธีกรรมจำพวกนี้เป็นพิธีกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเดรัจฉานวิชาใดๆเนื่องจากเป็นพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้หรือเพื่อการเป็นอยู่หรือเพื่อเป็นไปในแง่ของการศึกษาร่วมกันของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา (เล่มที่ ๔)

(๓) พิธีกรรมที่เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ (รตนสูตร) เป็นพิธีกรรมที่มุ่งถึงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามที่ตกยาก เพื่อนมนุษย์หรือเมื่อชาวพุทธได้รับความเดือดร้อนพระองค์คือพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปช่วยเหลือ

เช่น คราวที่ชาวเมืองเวสาลีประสบกับเหตุการณ์โรคภัย คืออหิวากตโรคทำให้คนตายจำนวนมาก พระองค์ก็เสด็จไปช่วยเหลือด้วยการใช้พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพช่วยเหลือชาวเมืองจนสงบทำให้ประชาชนเกิดความสุขมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ (เล่มที่ ๒๕)

จากการกล่าวมานั้น จะพบว่า พิธีกรรมใครว่าไม่สำคัญ พระพุทธศาสนามองว่าพิธีกรรมนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

(๑) พิธีกรรมนอกพระพุทธศาสนา คือพิธีกรรมที่จัดว่าเป็นดิรัจฉานวิชา เป็นพิธีกรรมของศาสนาพื้นเมืองของอินเดียหรือศาสนากระแสหลักของอินเดียในยุคก่อนและร่วมสมัยกับสมัยพุทธกาล

เนื่องจากว่าอินเดียยุคนั้นเป็นยุคที่มีศาสนาและปรัชญาสำนักต่างๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้พิธีกรรมของสำนักศาสนาและปรัชญานั้นมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยพิธีกรรมนอกศาสนานั้นพระพุทธองค์ “ทรงไม่นำมาปฏิบัติหรือไม่ทรงปฏิบัติ”เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกธรรมนอกวินัย

(๒) พิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนา เป็นพิธีกรรมที่เนื่องด้วยธรรมเนื่องด้วยวินัย เป็นพิธีกรรมที่มีความจำเป็นเป็นพิธีกรรมที่มีจุดเริ่มต้นเพื่อให้คนที่เข้าร่วมพิธีกรรมได้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาบ้าง ใช้เพื่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์บ้าง

ดังนั้น ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อพิธีกรรมในสมัยพุทธกาลจึงมีอยู่ ๒ ประการคือ (๑) ท่าทีปฏิเสธ (เดรัจฉานวิชา) (๒)ท่านทียอมรับและนำไปปฏิบัติเพื่อการศึกษาและเพื่อการช่วยเหลือประชาชนหรือเพื่อนมนุษย์ เท่านี้เองที่พระพุทธศาสนามีท่าทีต่อพิธีกรรม

(๓) คติยุคหลังที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมนั้นเป็นอย่างไร ?

สำหรับคำถามต่อมาก็คือ ถามว่ายุคหลังสมัยพุทธกาลนั้นมีท่าที่ต่อพิธีกรรมอย่างไร จากการศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะพบว่า ในยุคหลังพุทธกาลตั้งแต่ครั้งพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๑๐๐ คณะสงฆ์ยังมั่นในพิธีกรรมตามแนวทางของพระธรรมวินัยอย่างแม่นั่น

ถามว่าเพราะอะไรหรือสังเกตจากประเด็นใดบ้าง คำตอบคือสังเกตจากประเด็นเรื่องของการยังคงรักษากรอบความคิดเรื่องพระธรรมวินัยอยู่ เมื่อคณะสงฆ์ยังแม่นมั่นในพระธรรมวินัยอยู่ตราบใดท่าทีของสงฆ์ที่มีต่อพระศาสนาและพิธีกรรมก็ยังคงแม่นมั่นอยู่อย่างนั้น

แต่ภายหลัง พ.ศ.๑๐๐ เป็นต้นมาคณะสงฆ์มีการแตกนิกายออกไปอีกเป็นจำนวนมากทำให้พิธีกรรมได้เริ่มเผือมากขึ้นคือมีการนำพิธีกรรมไปใช้เพื่อลากสักการะมากหรือเน้นที่พิธีกรรมากกว่าที่จะเป็นความสมถะแบบเดิมหลายนิกายเริ่มการประกอบพิธีกรรมที่แตกต่างไปจากแนวทางของพระธรรมวินัย

เนื่องจากต่างคนต่างอยู่ จนในที่สุด พ.ศ.๓๒๖ จึงเริ่มมีการปรับรูปแบบของพิธีกรรมให้มีขอบเขตอยู่ที่พระธรรมวินัยเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในยุคแรกเริ่ม เนื่องจากมีการสังคายนาพระธรรมวินัยให้เป็นเถรวาทแบบเดิมเหมือนสมัยพุทธกาล

แต่ภายหลังจาก พ.ศ.๓๐๐ เป็นต้นมาพิธีกรรมก็เริ่มเผืออีกเพราะการขาดการเอาใจใส่จากรัฐและคณะสงฆ์ทำให้หลายนิกายพยายามสร้างพิธีกรรมใหม่ๆขึ้นมาเพื่อสู้กับพราหมณ์ฮินดู เช่น ตันตระ ในที่สุดก็เน้นพิธีกรรมแบบฮินดูเรียกว่าพุทธตันตระ

หรือมนตรยานที่มีการเน้นพิธีกรรมการสวดมนต์และปฏิบัติในเรื่องของคาถาอาคมแบบพราหมณ์ฮินดูมากขึ้น จนที่สุดพระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงเรื่อยๆ

อนึ่ง เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่มาที่ลังกา ที่ศรีลังกามีการปรับเรื่องพิธีกรรม เนื่องจากศรีลังกานั้นพระพุทธศาสนาจะต้องอยู่ได้ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้อยู่ได้จึงจะพบว่าที่ศรีลังกานั้นพิธีกรรมจึงมีเพิ่มมากขึ้นและเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาที่พม่า ไทย ลาว

พระพุทธศาสนาก็มีการปรับพิธีกรรมเพื่อให้เข้ากับความเชื่อท้องถิ่นเพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ได้ จึงเป็นผลทำให้พระพุทธศาสนาใน ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

(๑) ลักษณะที่เป็นเนื้อแท้ในพระไตรปิฎก และ(๒)ลักษณะที่เป็นแบบชาวบ้าน เพื่อให้อนุวัตรเข้ากับชาวบ้าน ซึ่งเราเรียกพระพุทธศาสนาแบบนี้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน

(๔) พระพุทธศาสนาในสังคมไทย และพิธีกรรมแบบพุทธในสังคมไทยเป็นอย่างไร ?

สำหรับสังคมไทยนั้นมีการยอมรับองค์ความรู้เรื่องพิธีกรรมที่เป็นทั้ง ๒ รูปแบบ คือ

(๑) พิธีกรรมแบบเนื้อแท้ตามที่ปรากฏในพระธรรมวินัย

(๒) พิธีกรรมแบบชาวบ้านที่เกิดการยอมรับกันตามความเชื่อของท้องถิ่นหรือพิธีกรรมแบบพุทธชาวบ้าน

โดยที่คนในสังคมไทยไม่ขัดแย้งเรื่องพิธีกรรมในสองประเภทนั้นว่ามีความสำคัญและเป็นสิ่งที่เรียกว่า “พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา”ทั้งหมดเพราะเห็นว่านั่นคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความศรัทธากับชาวพุทธโดยทั่วไปได้

เพราะแต่ละที่แต่ละแห่งนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องของความเชื่อดังนั้น ความเชื่อใดๆที่ท้องถิ่นยอมรับกันคนไทยก็ยอมรับในเรื่องนั้นโดยไม่ได้เอาจริงเอาจังในการตีความเชิงวินัยกันแบบเคร่งครัดหรือเข้มงวดมาก เพราะเห็นว่าความจำเป็นและความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่สามารถปรับให้เข้าได้กับความเชื่อในเรื่องของเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนากระแสหลัก

ชาวพุทธโดยทั่วไปยอมรับแนวทางนี้ไม่มีใครมาเที่ยวตีความมากมายเท่าไหร่เพราะเห็นว่าพิธีกรรมเป็นความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้นเอง ส่วนเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม

(๕) พระคูบาบุญชุ่ม กับพิธีกรรมหน้าถ้ำ : เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ?

@ ในกรณีเด็กติดถ้ำทั้ง ๑๓ คนนี้ทำให้ผมเห็นอะไรหลายๆอย่างที่เป็นความสับสนของคนพุทธไทยในโลกยุค 4.0 นี้เพราะโลกยุคนี้ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติต่อความเชื่อที่เกิดขึ้นหรือไปพร้อมๆกับการค้นหาในเชิงประจักษ์ของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมการค้นหาในคราวครั้งนี้

ซึ่งดูเหมือนบางครั้งจะขัดๆกันอยู่ในที แต่ผมกลับเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เอื้อกันด้วยซ้ำ กล่าวคือ ทางเจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าที่ไปพระสงฆ์ท่านได้รับนิมนต์มาเป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวพุทธ ท่านก็มาทำหน้าที่ตามคำนิมนต์ของญาติเด็ก

ซึ่งเรื่องนี้ก็มีกระแสนที่ผมเห็นว่ามีหลายท่านกล่าวถึงเรื่องนี้อยู่ ๔ กลุ่ม คือ

(๑) กลุ่มที่ ๑ ที่ออกมาพูดก็คือ กลุ่ม สำนักอภิธรรมบางสำนักที่เห็นว่า การทำหน้าที่ของคูบาบุญชุ่มผิดวินัย มอมเมาประชาชน เป็นกลุ่มที่ผมเห็นว่าเคร่งครัดเกินเหตุไม่ดูบริบทของสังคมไทย

กลุ่มที่ (๒) กลุ่มที่เห็นตามท่านเจ้าคุณวัดสวนแก้วที่เห็นว่า พระไม่ควรมอมเมาประชาชน

กลุ่มที่ (๓) กลุ่มที่เห็นตามท่านมหาวัดสร้อยทอง ที่เห็นว่ากรณีเด็ก ๑๓ คนสงสารนักดำน้ำชาวอังกฤษที่เป็นคนเจอแต่คนได้ผลงานคือพระคูบาบุญชุ่ม หรือหากไม่ตรงต้องขอโทษด้วยเพราะเห็นข่าวแบบนี้ทำนองว่าท่านมหาวัดสร้อยทองพยายามบอกว่าแทนที่สื่อหรือสังคมจะไปชื่นชมฮีโร่อย่างสามนักดำน้ำอังกฤษกลับไปให้น้ำหนักไปที่ความศักดิ์สิทธิ์หรือปาฏิหาริย์ของท่านคูบาบุญชุ่มมากกว่า

กลุ่มที่ (๔) กลุ่ม Adventure หรือยอดมนุษย์เมืองไทยยุคนี้คือบรรดาหมอดูและร่างทรงทั้งหลาย

@ สำหรับผมเองยังไม่ได้เห็นหรือคล้อยตามกลุ่มความคิดหรือนักปฏิบัติทั้ง ๔ กลุ่มนี้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ากลุ่มที่ ๑ น่าจะอาการหนักไปหน่อยคือเคร่งครัดยึดมั่นเกินไป ในวินาทีนี้เด็กจะรอดหรือไม่รอดแทนที่จะให้กำลังใจกลับมาแห้งแล้งด้วยการบอกว่า เรื่องเด็กติดถ้ำเป็นเรื่องกรรม ไม่ควรมีใครไปช่วย

พระที่ไปช่วยก็ไม่รู้เรื่องธรรมะไปทำพิธีหน้าถ้ำก็เป็นการมอมเมาประชาชน กลุ่มนี้จะคิดแบบเดียวกับตำรวจบางท่านที่ไปเคร่งครัดเรื่องกฎหมายจะเอาผิดให้ได้ไปตีความกฎหมายในภาวะวิกฤตก็ไม่แตกต่างกันกับกลุ่มที่ ๑ นี้ที่ไปเคร่งครัดกับพระวินัยในยามที่ชาวบ้านเขาเดือดร้อน

ผมว่าภาวะแบบนี้เรื่องหลักการเอาไว้ก่อน วิธีการที่จะช่วยคนให้รอดมันต้อมาก่อน ช่วยให้รอดแล้วจะอย่างไรค่อยว่ากัน ส่วนกลุ่มที่ ๒-๓ หากจะมองว่าเป็นเพียงแนวคิดหรือทัศนะหรือความคิดที่เป็นตัวเลือกหนึ่งก็ถือว่าทุกคนมีสิทธิในการคิดได้ครับไม่ว่ากัน ส่วนกลุ่มที่ ๔ ผมว่าให้ถือว่าเป็นปกติสุขของคนกลุ่มนี้ว่าไปตามเรื่อง

ในทั้ง ๔ กลุ่มนี้ ผมอยากชวนมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยว่า สังคมไทยบ้านเรามีมุมมองต่อสถานการณ์ในคาวคับขันหรือเกิดภาวะวิกฤตอย่างไรในสถานการณ์เด็กติดถ้ำ ๑๓ คนนี้จะพบว่ามันมีความจริงอยู่ ๒ ประการ คือ

(๑) เด็กติดถ้ำไม่รู้ว่าจะรอดไหม 
(๒) ทุกฝ่ายพยายามที่จะเข้ามาช่วย โดยฝ่ายที่จะเข้ามาช่วยก็มีอยู่ ๒ กลุ่มหลัก คือ

(๑) กลุ่มที่มีความเชื่อเชิงวิทยาศาสตร์การค้นหาตามปกติวิสัยของชาวโลก

(๒) กลุ่มที่มีความเชื่อเชิงจิตวิญญาณ เป็นกลุ่มที่เข้าไปช่วยเหลือในมิติทางด้านจิตใจ คือความต้องการที่ยึดเหนี่ยวในยามที่กำลังเดือดร้อนไร้ที่พึ่ง ทางใดก็ตามในยามที่คนเรากำลังประสบภาวะวิกฤตที่สุดในชีวิตผมว่าหลักการบางเรื่องทิ้งไว้ก่อนเลยยังได้

สิ่งที่ผมคิดว่าคนที่กำลังประสบภาวะเช่นนั้นต้องการก็คือ “วิธีการ”มากกว่า คือจะหาวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ปัญหานั้นมันคลี่คลายลงไปได้ด้วยดี หรือหลุดพ้นไปจากการตกอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นนั้นได้

ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้คนยามวิกฤตนั้นผมว่า การช่วยเหลือทั้ง ๒ ทางหรือ ๒ วิธีการทั้งทางด้านเชิงประจักษ์หรือเชิงวิทยาศาสตร์และทางด้านจิตวิญญาณนั้นก็ควรที่จะต้องดำเนินการไปในทางเดียวกัน

คือเมื่อมีวิธีการทางเทคโนโลยีแล้วก็ต้องอาศัยการปลอบประโลมทางด้านจิตใจตามไปด้วยก็จะเป็นเรื่องที่ดีไม่เห็นว่าจะผิดตรงไหน ส่วนจะช่วยได้หรือไม่ได้นั้นค่อยว่ากันอีกที ซึ่งการที่หาวิธีช่วยเหลือชีวิตคนนั้นต้องหาหลายๆวิธีมาประกอบกัน ดังปราชญ์ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า

ยามเข้าป่าท่องคาถากันช้างไล่
ขึ้นต้นไม้อีกด้วยช่วยคาถา
เห็นน้ำแกงจวนหมดรสโอชา
เติมน้ำปลาอีกด้วยช่วยน้ำแกงฯ
(หลวงตาแพร เยื่อไม้)

กรณีของพระคูบาบุญชุ่ม ผมว่าการมาโปรดญาติโยมของท่านนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วเนื่องจากท่านมาให้กำลังใจญาติโยมหรือบรรดาญาติๆของเด็กๆที่ติดถ้ำ อย่างน้อยๆท่านก็มาแสดงความห่วงใยต่อความวิตกกังวลของชาวบ้าน ก็อย่างที่ผมอธิบายไว้ในตอนต้นว่า พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

(๑) พิธีกรรมตามพระธรรมวินัยที่เอื้อให้เกิดการศึกษา

(๒) พิธีกรรมที่ไม่ขัดแย้งพระธรรมวินัยที่เอื้อให้เกิดการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือโปรดสัตว์ให้พ้นความเดือดร้อน

@ ท่านคูบาบุญชุ่มท่านไม่ได้ไปประกอบพิธีตามพระธรรมวินัยก็จริงนะครับ แต่ท่านไปประกอบพิธีกรรมที่ไม่ได้ขัดแย้งพระธรรมวินัย คือท่านไปประกอบพิธีกรรมเพื่อโปรดเพื่อนมนุษย์ด้วยการแผ่เมตตาหน้าถ้ำ

ผมถามว่าท่านไปทำแบบนั้นคือไปแผ่เมตตา การไปแผ่เมตตาผิดตรงไหนครับ พระพุทธองค์ก็ทรงสอนให้พระภิกษุหรือชาวพุทธแผ่เมตตาหรือสวดมนต์เพื่อให้เกิดอานุภาพเพราะพระพุทธมนต์นั้นมีอานุภาพอยู่แล้ว

เนื่องจากพุทธมนต์นั้นเป็นบทสวนมนต์ที่เน้นถึงการแสดงออกถึงการเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก ดังนั้น การที่คูบาบุญชุ่มท่านไปในพื้นที่เพื่อไปประกอบพิธีกรรมนั้นท่านไปเพื่อช่วยเหลือคนไปโปรดชาวบ้านยามที่ชาวบ้านเดือดร้อน

ผมว่าเป็นปกติของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนานะครับ ส่วนเรื่องของพระวินัยผมว่าสำนักพระอภิธรรมที่กำลังเดินสายเผยแผ่พระธรรมคำสอนอยู่ตามแนวทางและวิธีสอนของตนอยู่นั้นผมว่า “ลดโทนเรื่องความเคร่งครัดลงบ้าง”

ในยามหน้าสิ่งหน้าขวานเช่นนี้หลักการก็ลดหย่อนลงไปบ้างก็ได้ แม้พระพุทธองค์พระองค์ก็ไม่ได้เคร่งครัดจนพระทำอะไรไม่ได้เลย เรื่องของพระวินัยนั้นทรง “เปิดช่องเพื่อก่อให้เกิดความคลี่คลายได้เสมอ” ลองไปอ่านพระวินัยดูให้ดีๆอย่ามาพากันตีความแคบๆแล้วก็นึกเอาเอง เข้าใจเอาเอง

เพราะมันจะกระทบกับหลักการทางพระพุทธศาสนาอันนี้ไม่ได้ว่านะครับแต่ผมขอให้พากันอ่านเนื้อหาของพระวินัยและดูเจตนาพระวินัยให้ชัดเจนด้วยว่าพระวินัยมุ่งอะไร และต้องการที่จะทำให้เกิดอะไรกับสงฆ์ บางครั้งผมเองก็เห็นว่าหลายคนหลายท่านยึดถือเอาเพียงตัวบทโดยไม่อ่าน

คำขยายความพระวินัย หรือตัวอนุบัญญัติหรืออนาปัตติวารซึ่งเป็นองค์ประกอบของพระวินัยรวมถึงบทมาติกาที่มีในพระไตรปิฎกประกอบ การยึดเอาเฉพาะตัวบทแล้วมาตีความเองนั้นผมว่ามันผิดตั้งแต่ยังไม่คิด เอาล่ะเมื่อพูดมาถึงองค์ประกอบพระวินัยผมจะถือโอกาสอธิบายในเรื่องนี้ให้ฟังสักนิด การบัญญัติพระวินัยนั้นจะมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ

(๑) มีผู้กระทำความผิดชัดเจน ทรงบัญญัติเป็นปฐมบัญญัติ ผู้ที่ทำความผิดครั้งแรกเป็นอาทิกัมมิกะ ไม่มีความผิด

(๒) เมื่อมีคนทำความผิดแบบเดียวกันหรือคล้ายกันนั้นจะทรงบัญญัติซ้ำเรียกว่าเป็น “อนุบัญญัติ” ความผิดจะเป็นแบบเดียวหรือคล้ายกับปฐมบัญญัติก็ได้ โดยจะทรงบัญญัติซ้ำและแจกแจงความผิดตามที่ปรากฏ โดอนุญัตตินั้นจะมีอนุบัญญัติ ๑-๒-๓-๔ หรือมากกว่านั้นก็ได้

(๓) ทรงบัญญัติหรือแจงกรณีที่ไม่มีความผิดหรือยกเว้นความผิดเอาไว้เรียกว่า “อนาปัตติวาร” หรือเหตุที่ไม่ต้องอาบัติ

(๔) ในถ้อยคำของพระบัญญัติที่ไม่ชัดเจนทรงอธิบายไว้เป็นข้อๆ เช่น คำว่าทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่อยู่ในแผ่นดิน ทรัพย์ที่อยู่บนบก ทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ ทรัพย์ที่อยู่ในที่แจ้ง

ทรัพย์ที่อยู่ในน้ำ ทรัพย์ที่อยู่ในเรือ ทรัพย์ที่อยู่ในยาน ทรัพย์ ที่นำติดตัวไปได้ ทรัพย์ที่อยู่ในสวน ทรัพย์ที่อยู่ในวัด ทรัพย์ที่อยู่ในนา ทรัพย์ที่ อยู่ในพื้นที่ ทรัพย์ที่อยู่ในหมู่บ้าน ทรัพย์ที่อยู่ในป่า...(วิ.ม.(ไทย)๑/๙๓/...) คำอธิบายนี้เรียกว่า มาติกา

(๕) เมื่อมีประโยคในพระบัญญัตินั้นไม่ชัดก็ทรงอธิบายเพิ่มเติม เช่นว่า คำว่า เมื่อจีวร...สำเร็จแล้ว หมายความว่า จีวรของภิกษุเสร็จแล้ว สูญหายแล้ว ฉิบหายแล้ว ถูกไฟไหม้เสียแล้ว

หรือภิกษุหมดหวังว่าจะได้ผ้ามาเย็บ เป็นจีวร คำว่า เมื่อกฐินเดาะแล้ว หมายความว่า กฐินเดาะด้วยมาติกาอย่างใด อย่างหนึ่งในมาติกา ๘ หรือสงฆ์เดาะกฐินในระหว่าง (วิ.ม.(ไทย)๒/๔๖๓/....) นี้เรียกว่า สิกขาบทวิภังค์

ผมว่าถ้าอ่านพระวินัยโดยการไล่อ่านให้ครบตามที่ว่ามานี้จะเข้าใจถึง “เนื้อหาและเจตจำนงของพระวินัยได้อย่างครบถ้วน” แต่เท่าที่ผมสังเกตผมว่าคนที่หยิบพระวินัยไปอ้างหรือไปกล่าวว่าพระภิกษุทำผิดแบบนั้นแบบนี้เป็นแต่เพียงการเอา “ปฐมบัญญัติ”ซึ่งเป็นตัวบทไปอ้างโดยที่ไม่ศึกษา อนุบัญญัติ มาติกา สิกขาวิภังค์ ประกอบการตัดสินใจหรือประกอบการพิจารณา

หรืออีกประการหนึ่งในหมวดพระวินัยนี้นอกจากมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องแล้วก็ยังมี เรื่องที่ทรงอนุญาตที่ไม่ได้บัญญัติเป็นสิกขาบทเอาไว้ด้วย ซึ่งเรื่องประเภทนี้ก็ต้องนำมาประกอบในการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบทด้วยจึงจะถือว่าครบถ้วน

การเอาตัวบทไปอ้างเพียงอย่างเดียวนี่แหละคือปัญหาของคนที่ศึกษาพระวินัย เพราะหากเอาไปอ้างแบบนั้นสิ่งที่จะเกิดก็คือการมองตัวบทไม่ชัดเจนเมื่อมองตัวบทไม่ชัดเจนก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดได้

เอาล่ะสรุปเรื่องท่านพระคูบาบุญชุ่ม ผมว่าการช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลืออะไรอย่างไรก็ตามผมถือว่าดีหมดทั้งนั้นแหละเพราะคนที่คิดจะช่วยเหลือนั้นแรงใจและความตั้งใจมันมาเต็มเปี่ยมมากมายเหลือคณา

อย่าไปตัดกำลังใจของคนที่เขามาช่วยเหลือ โยมก็ช่วยแบบโยม พระท่านก็ช่วยแบบพระ ทั้งพระทั้งโยมต่างให้การช่วยเหลือกันและกันผมว่ามันดีขนาดไหนแล้วอย่าพึ่งมาแทงกั๊กดักทางกันเลย เมื่อมีเหตุการณ์ธรรมดาย่อมมีวีรบุรุษ

หรือทุกสถานการณ์สร้างวีรบุรุษด้วยกันทั้งนั้นแหละผมว่าทุกคนที่ไปช่วยเด็กล้วนเป็นวีรบุรุษด้วยกันทั้งนั้น

(๑) ไม่มีใครเหนือใครหรือได้คุณความดีเหนือใครดอกครับ 
(๒) ทุกคนดีเหมือนกันหมดแหละแล้วแต่ว่าเราจะเอาอะไรไปมอง ถ้าหาเหตุแบบสีหาเหตุก็ไม่ดีค่อยดีเท่าไหร่

เนื่องจากคอยแต่หาช่องหรือหาความผิดผมว่ามี่ใครไม่เคยทำความผิด แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเข้าใจต่างหาก ผมหวังว่าเราท่านทั้งหลายหากตั้งเมตตาจิตเหมือพระครูบาบุญชุ่มที่มีต่อเด็กๆหรือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้น

เราทุกคนก็จะได้ดีและมองเห็นแต่สิ่งที่ดีนะครับ หวังว่าทุกท่านคงจะพอเข้าใจและตั้งเมตตาจิตที่ดีต่อกัน เท่านั้นแหละที่ผมต้องการ ช่วยกันเป็นสิ่งทีดีเสมอครับ

ขอบคุณครับ

Naga King

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...