วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

"มจร๔.๐"ติวเข้มนิสิตทำแอพเทศน์ธรรมผ่านมือถือ



วันที่ ๑๑ ก.ค.๒๕๖๑ พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ดร. หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า  ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิเศรษฐีเรือทอง วัดพุน้อย จังหวัดลพบุรี จัดโครงการพัฒนาทรัพยากรสงฆ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภาคใต้หัวข้อ “อบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนา Mobile Applicationบนระบบปฏิบัติการ Android” ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ วัดพุน้อย ตำบลหนองม่วง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยมีพระโสภณพัฒนคุณ เจ้าคณะอำเภอหนองม่วง เจ้าอาวาสวัดพุน้อย เป็นประธาน 

มีพระสงฆ์เข้าร่วมอบรมมากกว่า ๖๐ รูป ประกอบด้วยพระนิสิตสาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาการแนะแนว จำนวน ๔๐ รูป พระนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการเทศนา (ป.ทศ.) จำนวน ๒๐ รูป ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ จำนวน ๑๐ รูป/คน

สำหรับโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์เกิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ สามารถพัฒนาสื่อการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาผ่านระบบ Mobile Application บนระบบปฎิบัติการ Android ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สังคมเปลี่ยนไปรูปแบบการนำเสนอธรรมก็ต้องเปลี่ยนแปลง” วิธีการนำเสนอธรรมให้เข้าถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันผ่านระบบดิจิตอลจะทำอย่างไร? การอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนา Mobile Application บนระบบปฏิบัติการ Android จึงเป็นการให้ความรู้และประสบการณ์แก่พระสงฆ์ในการนำเสนอธรรมทางพระพุทธศาสนาบนโทรศัพท์มือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างรวดเร็วตามวิถีการดำเนินชีวิตที่ยึดติดอยู่กับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันยังเป็นการปฏิบัติรูปการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติ (Learning Outcome) ของผู้เรียน อย่างไรก็ตามโครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องเพื่อนำไปสู่การขยายผลสำหรับการพัฒนาศักยภาพของพระสงฆ์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสังคมยุคดิจิตอลต่อไป” พระปลัดสรวิชญ์ กล่าว

ทั้งนี้พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. รักษาการอธิการบดี มจร ได้กล่าวในปาฐกถาในงาน ๕๗ ปี ครุศาสตร์ มหาจุฬา รำลึก เมื่อวันที่ ๙ ก.ค.ที่ผ่านมาความว่า ยุคดิจิตอลเป็นยุคสังคมข่าวสาร เราจึงมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและพัฒนามาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในปี ๒๕๕๙ (Ministry of Digital Economy and Society) ถือว่าเรามาอยู่ยุคร่วมสมัย มีลักษณะ "ความรวดเร็ว" เช่นกรณีหมูป่าออกจากถ้ำเราสามารถรับรู้อย่างรวดเร็วแม้จะเป็นเหตุการณ์ในป่าในภูเขา ยุคดิจิตอลจึงต้องถือโอกาสแสวงหาความรู้ "ไม่มีขอบเขตจำกัด" สามารถไปได้ทั่วโลก และ "เชื่อมโยงเครือข่าย" โลกปัจจุบันจึงเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย เราจะเลือกเป้าอย่างไรให้เกิดความเหมาะสม  

รักษาการอธิการบดี มจร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันครุศาสตร์เปิดสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตร ๔ ปี เป็นยุคดิจิทัล  ถือว่าเป็นโอกาสของมหาจุฬาฯ เราจะสอนไปถึงการเขียนโปรแกรม ซึ่งอดีตเลขศูนย์ไม่มีคนอินเดียเป็นคนคิดเลขศูนย์ เพราะคนอินเดียชอบนั่งกรรมฐาน ปัจจุบันดิจิทัลมีราคาถูก  อย่างเช่นกรณีการช่วยชีวิต ๑๓ หมูป่า ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกเพราะอาศัยดิจิตอลถือว่าเป็นจิตอาสาของบุคคลทั่วโลก ครุศาสตร์ต้องมีการสอนด้วยจิตอาสา ออกไปช่วยสังคม 

"มหาจุฬาฯต้องมีความรวดเร็วในสถานการณ์ปัจจุบัน มีจิตอาสาด้วยความสมัครใจทำงานเพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนและสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งอื่นใด เราอยากเห็นการปฏิบัติศาสนกิจของนิสิตมหาจุฬาฯด้วยจิตอาสา โดยเฉพาะนิสิตที่ไปปฏิบัติศาสกิจกับชาวเขา แต่เราต้องถอดบทเรียนจากสิ่งที่เราพื้นที่ ต่อไปใครจะขอตำแหน่งทางวิชาการ จะต้องทำบริการวิชาการเพื่อสังคม ลักษณะของจิตอาสานั้นต้องเสนอตัวเข้าร่วมกิจกรรม อันเป็นประโยชน์สุขแห่งประชาชนและสังคม ด้วยความสมัครสมานเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน ครูครุศาสตร์จะต้องมีจิตอาสาเป็นเครื่องนำทาง จิตอาสาจึงเป็นสังคหวัตถุธรรมด้วย ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา"  พระพรหมบัณฑิต กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ราหุลสูตร

       ช่วยเขียนบทความทางวิชาการ เรื่อง "วิเคราะห์   ราหุลสูตร   ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่  17  ขุททกนิกาย   อิติว...