วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระพรหมวชิรญาณเปิดมหกรรมพระธรรมทายาทต้นแบบขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม



พระพรหมวชิรญาณเปิดงานมหกรรม พระธรรมทายาทต้นแบบ ขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม สืบสานปณิธานธรรมหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

วันที่ 17 ก.ค.2561 พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต เปิดงานมหกรรมพระธรรมทายาทนักพัฒนาสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ จุดเทียนปัญญา สืบสานปณิธานธรรมหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และมอบประกาศเกียรติคุณพระธรรมทายาทต้นแบบ และหน่วยงานผู้สนับสนุนภาคีเครือข่าย ณ อาคารปัญญานันทานุสรณ์ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี












ในการนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี พลเมืองอาวุโส ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "พระธรรมทายาทกับความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" ความว่า พระพุทธศาสนาเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาประเทศ อันมีหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอันมีคุณค่ามหาศาล จึงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ เริ่มจากความมั่นคง ซึ่งพระพุทธศาสนามีความเป็นเป็นผล อะไรจะมั่นคงจะต้องมีฐานกว้างและแข็งแรง เราต้องสร้างจากฐาน ไม่มีใครสร้างเจดีย์จากยอด ฐานแคบจะไม่มีความมั่งคง ประเทศไทยเรามักจะพัฒนายอดแต่เราลืมพัฒนาฐาน เช่น การศึกษา เราต้องพัฒนาฐาน เราวัดการศึกษาจากวิชาซึ่งความจริงต้องวัดจากชีวิต อะไรจะมั่นคงต้องทำฐานให้กว้างและแข็งแรง ซึ่งหลักธรรมมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ พระตถาคตจะอุบัติหรือไม่อุบัติ เพียงพระพุทธเจ้าค้นพบ พิสูจน์ พระธรรมทายาทจึงนำหลักธรรมไปทำให้ฐานประเทศไทยแข็งแรง 

จะเห็นว่า "ฐานของประเทศคือ ชุมชนท้องถิ่น" มากถึง 80,000 หมู่บ้าน มีวัดมีโรงเรียน ทรัพยากรมีมากเราจึงต้อง "ออกแบบการทำงาน" เพื่อสร้างพระเจดีย์ธรรม ของพระธรรมทายาท เพราะวัตถุประสงค์ของประเทศคือ "สังคมสันติสุขการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขสมดุล" การสมดุลทำให้เราไปได้ไกล เหมือนร่างกายและเรือถ้าสมดุลก็ไปได้ไกล เพราะทุกอย่างในร่างกายจึงทำงานแบบบูรณาการ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องสำนึกแห่งองค์รวม การพัฒนาต้องมีการบูรณาการเหมือนร่างกายเรา เราจะพัฒนาเพียงอวัยวะเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาทั้งร่างกาย การพัฒนาแบบบูรณาการจะต้องพัฒนา "ด้านเศรษฐกิจ ด้านจิตใจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา และด้านประชาธิปไตย" แต่ทุกวันเราพัฒนา "แบบแยกส่วน" เช่น การศึกษาแยกจากชีวิต แต่ความจริง ชีวิตกับการศึกษาต้องเป็นเรื่องเดียวกัน เราจึงต้องพัฒนาแบบบูรณาการ เศรษฐกิจต้องพัฒนาสัมมาชีพให้ผู้คนในสังคม ถ้าคนไม่มีสัมมาชีพบ้านเมืองก็วุ่นวาย ภาครัฐจึงต้องสร้างสัมมาชีพ ซึ่งมีพระธรรมทายาทหลายรูปส่งเสริมด้านสัมมาชีพ ผ่านหลักการร่วมคิดร่วมทำ "สังคมทางดิ่งถือว่าเป็นสังคมอ่อนแอ" ใช้อำนาจสั่งการเท่านั้น สังคมตัวใครตัวมัน แต่สังคมเข้มแข็งมีการรวมตัวกันใช้อปริหานิยธรรมเป็นฐานเพื่อร่วมคิดร่วมทำ จะเห็นว่า"ธรรมะเพื่อชุมชนเข้มแข็งคืออปริหานิยธรรม" ความจริงวัวเป็นสัตว์ที่มีพลังมากกว่าเสือตัวเดียว เสือตัวเดียววัวกลัวมาก เพราะวัวไม่รวมพลังกัน ความจริงพลังของวัวมีมากกว่าเสือแต่วัวไม่สามารถรวมกัน คนเมื่อรวมตัวกันจึงมีพลังเพื่อสร้างชุมชนเข้มเเข็ง ชุมชนเข้มเเข็งจะเป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ชุมชนเกษตรกรรมเข้มแข็งในอดีต แต่ล้มสลายเพราะอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจคนสมัยใหม่

กระบวนการชุมชนเราเห็นผู้นำตามธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน สภาผู้นำชุมชน การแต่งตั้งไม่ดีเพราะทุกคนอยากได้รับการแต่งตั้ง แต่ไม่ทำงาน แต่ถ้ารวมตัวกันเองจะมีพลังสู่ความเข้มแข็ง จึงต้องมีการสำรวจข้อมูลชุมชน ทำแผนชุมชนเกิดสภาประชาชน จากนั้นคนทั้งชุมชนขับเคลื่อนแผนชุมชน ผู้นำตามธรรมชาติจึงมีคุณสมบัติ " ทำเพื่อส่วนรวม มีความสุจริต เป็นนักปราชญ์ เป็นที่ยอมรับ มีการสื่อสารที่ดี" ศีลธรรมคือการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม มีคำกล่าวว่า "ไม่มีที่อยู่ของศีลธรรม" เพราะเป็นการใช้อำนาจ กฎหมาย แต่คนดีๆ จะอยู่ในชุมชน 




ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า  บทบาทพระธรรมทายาทด้วยการเข้าร่วมในสภาผู้นำชุมชน เป็นผู้นำตามประเด็นที่ถนัด เช่น การสร้างสัมมาชีพ กองทุนสัจจะออมทรัพย์ และสอดแทรกหลักธรรมในการพัฒนา เช่น เศรษฐกิจพอเพียง อันมีฐานมาจากพระพุทธศาสนา ด้วยการไม่โลภ ไม่ประมาทพระสงฆ์จึงสอนให้คนในชุมชนเจริญสติ ภาวนา เราจึงต้องทำงานเป็นภาคีกับองค์กรอื่นๆ เช่น สสส. มีการส่งเสริมวัดให้มีคลีนิคคลายทุกข์สร้างทุกข์ ด้วยการประยุกต์หลักธรรมแก้ทุกข์ในบริบทของคนในปัจจุบัน พระธรรมทายาทควรใช้หลักธรรมให้ตรงกับความทุกข์ พระธรรมทายาทไม่ควรใช้การบรรยายธรรมเท่านั้น เพราะจะเหมือนหมอบรรยายวิชาแพทย์ให้คนไข้ฟัง ซึ่งแก้ไม่ตรงจุด พระธรรมทายาทจึงต้องเข้าใจความทุกข์ของประชาชน สื่อสารเรื่องการแก้ความทุกข์ของประชาชน จัดสมัชชาพระสงฆ์กับการพัฒนามีการแลกเปลี่ยนกันจึงสรุปด้วยสามเหลี่ยม อันประกอบด้วย "ภาคีพระสงฆ์" ใช้ "หลักธรรมพระพุทธศาสนา" ทำให้ "ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง" นำไปสู่การเกิดปัญญาชนชาวพุทธ



...........

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กเฟซบุ๊กพระมหาวีรพล ธรรมะอารมณ์ดี และ Pramote OD Pantapat)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"เสริมดวงรับปีใหม่ 2567: เหรียญมงคลหลวงปู่ดุสิต วัดไผ่แขก"

รายงานข่าวจาก วัดไผ่แขก อ.เมืองสุพรรบุรี แจ้งว่าเมื่อวันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567ผ่านมา ทางวัดโดยทีมงานพี่เสือนำโดยป้อม สกลนคร และ นิภัทร์...