วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562
ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย! 'บิ๊กตู่'ลงพื้นที่ 'อุตตม'ขยายชำระหนี้ 'เฉลิมชัย'เร่งระบายน้ำออกทะเล
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2562 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมลงตรวจพื้นที่รับฟังปัญหา และเยี่ยมประชาชนเพื่อจะได้ช่วยเหลือ บรรเทาความเสียหายและสร้างขวัญใจกำลังใจให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยจากพายุโพดุลได้ถล่มในหลายจังหวัด ในวันพุธที่ 4 ก.ย.นี้
"โดยพลเอกประยุทธ์พร้อมคณะจะเดินทางไปยังจังหวัดพิษณุโลกที่ศาลากลาง เพื่องประชุมรับฟังปัญหาสถานการณ์เสร็จสิ้น จะเดินทางไปตรวจสถานการณ์และเยี่ยมประชาชน ที่อำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางไปยังจังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ที่ประตูระบายน้ำบ้านหาด สะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และจะเดินทางกลับจังหวัดกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
"อุตตม"สั่งธ.ก.ส.ขยายระยะเวลาชำระหนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดแต่ละพื้นที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ได้มอบหมายให้นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กำหนดแนวทาง พร้อมกำชับให้ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้ กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า โดยนำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ไปจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน
โดยเบื้องต้นได้ส่งถุงยังชีพช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และนครพนม ไปแล้วกว่า 20,000 ถุง รวมทั้งเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ เช่น จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงจะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัยต่อไป
นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลา 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส.ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้ทันทีหรือที่ Call Center 02-5550555
'เฉลิมชัย'สั่งกรมชลเร่งระบายน้ำเหนือออกทะเล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุที่ทำให้ฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจึงได้สั่งการให้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกในพื้นที่ทางตอนบน ที่เป็นห่วงขณะนี้คือ การระบายน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้อธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า ทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 กันยายน จากเดิมระบายอยู่ที่ 424 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 480 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 140 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งขวาจากเดิมรับน้ำจากเดิม 230 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 260 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งได้กำชับว่า การเพิ่มปริมาตรการระบายต้องไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระย ในเขตจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาจะต้องมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นไป ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยให้ทำทันทีที่น้ำลด ทั้งนี้หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยนาข้าวได้ไร่ละ1,113บาท พืชไร่ได้ไร่ละ 1,148บาท พืชสวนและพืชอื่นๆ ได้ไร่ละ 1,690 บาท
ส่วนทางด้านปศุสัตว์นั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์รายงานว่า ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยเบื้องต้นด้วยการจัดหาพืชอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ ช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วม และฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ ส่วนการช่วยเหลือช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังสำหรับพื้นที่เสียหายเป็นเงินหรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน สำหรับการช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามที่เสียหายจริงซึ่งกำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ โดยโคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็ดไข่และเป็ดเนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็นต้น
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า กรมประมงได้รายงานถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ประสบภัยว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านประมงให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ให้หน่วยงานของกรมประมงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำต่างๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ อวน กระชัง และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอเพื่อขนย้ายหรือจับสัตว์น้ำออกจำหน่าย จัดเตรียมเรือตรวจการประมง รถยนต์พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ประมงไว้ประจำหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่เกษตรกร และจัดเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ไว้ช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
“สำหรับการช่วยเหลือหลังน้ำลดให้สำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ พิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอนุมัติได้ 20 ล้านบาทตามระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นปัจจุบันแล้ว หากเงินงบประมาณไม่เพียงพอสามารถขอใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอนุมัติได้ 50 ล้านบาทต่อไป” นายเฉลิมชัยกล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"ดร.มหานิยม" ร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดอาวุธ "สมเด็จธงชัย" ประธาน เข้ากราบ "หลวงปู่ศิลา" เพื่อความเป็นสิริมงคล
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล) ออกปฏิบัติหน้าที่ด้านพระพุทธศาสน...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น