“สมศักดิ์” เยือน “มาเลเซีย”หารือแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชี้ เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์ หลัง ไม่มีผู้ใหญ่เดินทางมานานนับ 10 ปี พร้อมถกภาคเอกชน เล็ง พัฒนาโรงพยาบาล-มหาวิทยาลัยนานาชาติ-สะพาน
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่โรงแรมแกรนด์รีไนด์โฮเทล รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย นายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส พรรคภูมิใจไทย นายสัมพันธ์ มายูโซ๊ะ สส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ นายอามินทร์ มายูโซ๊ะ สส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางพบผู้ประกอบการ ชาวมาเลเซีย ในรัฐกลันตัน รวมถึงยังได้พบกับ พลตำรวจโท มูฮัมหมัดซากี บินฮัจญีฮาหรน ผู้บัญชาการตำรวจรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะคีมี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงานด้านก่อสร้างและคมนาคม พร้อมเครือข่ายนักธุรกิจรัฐโกตาบารู อาทิ คุณตัน ชี ฮาว (Tan Chi Hao)เจ้าของโรงแรม Grand Renai คุณเคน บริษัท M7 very Berhard ผู้นำเข้าไก่สดแช่แข็งของรัฐโกตาบารู ดาโต๊ะ กว๊วก หนวง เพง เจ้าของ บริษัทพัฒนาพื้นที่และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งเมืองโกตาบารู เจ้าของห้าง Aeon
โดย พลตำรวจโท มูฮัมหมัดซากี เปิดเผยว่า เมื่อก่อนประเทศมาเลเซียนั้น ไม่ได้สนใจอะไรในประเทศไทย เพราะคิดว่าคนไทยนั้น ทำร้ายเพื่อนชาวมุสลิม แต่จากการประสานงานพูดคุยผ่าน สส. ก็ทำให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น โดยระบบราชการต่างๆก็มีการประสานกันเข้ามา ทำให้เวลานี้ความสัมพันธ์ไทยกับมาเลเซียนั้น เป็นเรื่องที่ดี และเป็นไปตามความต้องการของทั้งสองประเทศเหมือนกัน คือต้องการให้ประชาชนของตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ ตนอยากฝากไปยังประเทศไทย ในเรื่องของการปราบปรามแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบผ่านด่านไทยเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยอยากให้มีการกวาดล้าง เพราะคนกลุ่มนี้เข้ามาพร้อมอาชญากรรมและยาเสพติด จึงอยากให้ทางการไทย ช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจค้นด้วย ส่วนในเรื่องที่รัฐบาลไทยในเวลานี้ต้องการสร้างสะพานข้ามแดนนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่า เรื่องนี้จะทำสำเร็จ แต่อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ตนเห็นความตั้งใจของรองนายกฯ ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาความเชื่อมโยงกัน ก็ต้องขอบคุณเป็นอย่างมาก
ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเวลานี้ ก็กำลังเร่งดำเนินการมอบนโยบายให้หน่วยงานต่างๆแก้ปัญหานี้ ส่วนในเรื่องของสะพานนั้น ประเทศไทยมีความหวัง และอยากให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะประโยชน์จะเกิดขึ้นกับพี่น้อง 2 ฝั่งชายแดน รวมถึงเราจะมีพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อทำให้มีการค้าขาย ซึ่งประชาชนจะเกิดรายได้ ขณะเดียวกัน การพูดคุยกับนักธุรกิจในวันนี้ ก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่นการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ให้มีลักษณะคล้ายโรงพยาบาลกรุงเทพ การทำอาหารฮาลาล รวมถึงต้องการชิ้นส่วนเนื้อสัตว์อย่างไก่ฮาลาลที่มีความต้องการมากกว่า 300 ตู้ต่อเดือน นอกจากนี้ ทางกลุ่มนักธุรกิจ ยังอยากได้มหาวิทยาลัยนานาชาติ ที่อยู่บริเวณชายแดน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมากำหนดกันว่า จะวางกันที่ไหนอย่างไร ส่วนการทำรถไฟนั้น ตนก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่า มันค่อนข้างที่จะต้องพูดคุยกันเรื่องใหญ่ เพราะขนาดของรางประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียนั้น มีคนละขนาดกัน และยังไม่รู้ว่าจุดแลนด์มาร์ค ที่จะทำเป็นสถานีจะอยู่ตรงจุดใด โดยการพูดคุยด้านธุรกิจ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนไทยจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของวุฒิการศึกษา ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เพราะเด็กในพื้นที่นั้น ไม่มีความจำเป็นที่ต้องขึ้นมากรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัว
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังได้พูดคุยหารือกับ ดาโต๊ะซากิ ผู้บัญชาการตำรวจรัฐกลันตัน และ นางมาริสา อินทรมงคล รองกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ในเรื่องความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยนายกสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจที่อยากจะพูดคุยและแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นว่า การพบกันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่จะมีการพบผู้หลักผู้ใหญ่ของฝั่งมาเลเซีย เพื่อแสดงความจริงใจที่เรามีต่อกันในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ไปด้วยกัน โดยนี่ถือเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์ เป็นโฉมใหม่ของการแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ที่ผู้ใหญ่ระดับสูงของไทย ได้มาเยือน และพูดคุยการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น