วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"สส.พรรคเพื่อไทย" เสนอไอเดียแก้หนี้สินครัวเรือนในสภาฯ ชูดิจิทัลวอลเล็ตเรือธงสร้างรายได้



เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566   สส.พรรคเพื่อไทย ร่วมอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ในสภาผู้แทนราษฎร   โดยมีทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สส.มหาสารคาม และ นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สส.พิษณุโลก ร่วมอภิปรายข้อแนะนำ และข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมาธิการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางนำไปแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้พี่น้องประชาชน

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แก้ไขวิกฤตต้มยำกุ้งสำเร็จ ด้วยนโยบาย Dual Track Policy

ทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าหนี้สินครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าไม่นับช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาแล้ว ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2540 หรือต้มยำกุ้ง ได้ส่งผลกระทบหลายประเทศรวมถึงไทยที่แทบล้มละลาย มีหนี้สิน เงินบาทตกต่ำต้องเลิกกิจการและคนตกงาน นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในสมัยนั้นต้องแก้ไขปัญหานี้สินประเทศและหนี้สินครัวเรือนไปพร้อมกันด้วยการประกาศสงครามความยากจน มุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมกับนโยบาย Dual Track Policy เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจครัวเรือน ฟื้นฟูประเทศ สร้างความเจริญเติบโตระยะยาว ประชาชนหลุดพ้นหนี้สินความยากจน 

เหตุนี้ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จึงได้นำนโยบาย Dual Track Policy มาใช้เพื่อแก้ปัญหาหลังวิกฤตโควิด ผลกระทบจากสงครามยูเครน รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางซึ่งก็ไม่สู้ดี ซึ่งหัวใจของนโยบาย Dual Track Policy คือการกระจายเงินลงสู่ประชาชนด้วย Multiplier Effect สร้างเงินสร้างรายได้ ไปพร้อมกับการลงทุน การท่องเที่ยวและลงทุนขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์ไป เมื่อโครงการขับเคลื่อนรายได้ของพี่น้องก็เพิ่ม ก็จะมีเงินไปลดหนี้สินไปด้วย

วันนี้ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้ให้เกษตรกร

นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สส.มหาสารคาม อภิปรายว่า หนี้สินครัวเรือน เป็นเพราะประชาชนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย จึงทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันดำเนินนโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้พี่น้องประชาชน ด้วยการลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ช่วยลดราคาสินค้าให้พี่น้องมากที่สุด รวมถึงแก้ไขหนี้สินให้พี่น้องเกษตรกรด้วยนโยบายพักชำระหนี้ 3 ปี

วันนี้พี่น้องชาวนามหาสารคาม คิดถึงรัฐบาลเพื่อไทยสมัยที่ทำราคาข้าวดี ชาวนามีเงินเก็บ พ่อค้าในเมืองขายสินค้าได้ โรงงานก็ผลิตของเพิ่ม รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นเอาไปเป็นรายได้ทำนโยบายดีๆ เช่น เบี้ยยังชีพให้พี่น้อง และวันนี้รัฐบาลกำลังจะทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ตนเชื่อว่า รัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพให้พี่น้องมีรายได้เพื่อลดหนี้สินช่วยให้เศรษฐกิจดี และอีกไม่นานเศรษฐกิจประเทศจะดีขึ้นหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้น้อยเป็นรายได้ปานกลางต่อไป

หนุนรัฐบาล ‘พักหนี้เกษตรกร’ 

นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สส.พิษณุโลก กล่าวว่าวันนี้หนี้ครัวเรือนที่พี่น้องประชาชนกังวลมากสุดคือ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายได้กับการจ้างงานค่าแรงไม่เหมาะสม รวมถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้และการผ่อนหนี้ที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างดัชนีชี้วัดรายจ่ายที่แพงขึ้นคือค่าไข่ไก่ วันนี้ ราคาไข่ไก่เบอร์ 4 ราคาแผงละ 130 บาท แพงขึ้นจากราคาเดิมที่แผงละ 97 บาท

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะฝากไปยังรัฐบาลคือ 1. ช่วยควบคุมราคาสินค้าหรือบริการไม่ให้สูงมากขึ้น 2.ลดต้นทุนราคาปัจจัยการผลิตการเกษตร เช่นราคาปุ๋ย วัคซีน อาหารสัตว์ 3.พี่น้องรอนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลว่าเมื่อใดจะได้เริ่มต้นใช้เงิน เพราะจะได้นำเงินไปซื้อปุ๋ย ซื้อเมล็ดพันธุ์มาลงทุนปลูกข้าว รวมถึงสุดท้ายข้อ 4.ฝากรัฐบาลพิจารณาพักหนี้เกษตรกรในกลุ่มหนี้ที่มากกว่า 3 แสนบาท หมายความว่าหากใครหนี้มากกว่า 3 แสนบาท ให้พักหนี้ต้นและดอกในยอดหนี้ 3 แสนบาทแรก ส่วนหนี้เกินจาก 3 แสนบาทเกษตรกรยังรับภาระจ่ายดอกเบี้ยเป็นปกติ เพื่ออย่างน้อยได้ลดภาระพี่น้องลงไปได้ระดับหนึ่งเพื่อมีแรงฟื้นชีวิตกลับมาสู้อีกครั้ง

ดิจิทัลวอลเล็ต เรือธงสร้างรายได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่าคนไทยมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลสูงที่สุด ตามมาด้วยหนี้บัตรเครดิต ซึ่งที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือแต่ก็โดนซ้ำเติมทั้งวิกฤตโควิด น้ำท่วม ภัยแล้ง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนปัญหาสงครามที่กำลังเกิด ดังนั้น เราจึงมาช่วยกันแนะแนวทางขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สินดังนี้

1.รัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เช่นนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เป็นการเพิ่มทุนให้พี่น้อง กระตุ้นการลงทุน และถ้าในครอบครัวมีสมาชิก 4-5 คนเราจะได้เงินทุนก้อนใหญ่ ดำเนินภายใต้วินัยการเงินการคลัง ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถห่วงใยได้แต่ถ้ายึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนแล้ว นโยบายนี้จะต้องเกิด   

2. รัฐเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สิน ลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้รายย่อย

3.พักชำระหนี้ให้เกษตรกร กลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงขยายไปยังวิชาชีพอื่นพร้อมรักษากรอบวินัยการเงินการคลัง

 4.ให้ความรู้ด้านการเงิน ส่งเสริมวินัยการเงินให้ประชาชนและ 

5.พัฒนาทุนมนุษย์ ส่งเสริมการออมเพื่อการลงทุน รองรับการขยายงานของรัฐบาล 

ถ้าดำเนินการดังนี้แล้ว หนี้สินไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากเรามีศักยภาพในการใช้หนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องถือธงนำพร้อมการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...