วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นประธานการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์สำหรับนิสิตระดับปริญญาโท รุ่น ๑๐ สาขาวิชาสันติศึกษา มจร ภายใต้บัณฑิตวิทยาลัย มจร ในจำนวนนี้มีสามเณรรวมอยู่ด้วย โดยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร ได้ชื่นชมหลักสูตรสันติศึกษามีประเด็นงานวิจัยที่สอดรับกับโลกปัจจุบันและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี "ปรัชญา อุดมการณ์ หลักการ กระบวนการ วิธีการ และกิจกรรม" สืบเนื่องจากพระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้วางรากฐานงานวิจัยและหลักสูตรไว้เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ตอนนี้ได้มีความลงตัวมีความชัดเจนมีความเป็นรูปธรรม ซึ่งบุคคล ชุมชม สังคมได้ประโยชน์อย่างมาก งานวิจัยจะนำไปสู่การเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรสันติศึกษา มจร มีระดับผู้บริหารและคณาจารย์ที่มีความพร้อมอย่างดียิ่งสามารถขับเคลื่อนหลักสูตรอย่างดี ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดหลักสูตรให้ยกระดับต่อไป
โดยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร ได้นำเสนอปรัชญาแห่งศาสตร์สันติศึกษา ประกอบด้วย ๔ ประเด็นซึ่งเป็นกรอบ ๑)ปรัชญา อุดมการณ์ ประกอบด้วย ความสงบสุข ความเสมอภาค เท่าเทียม ความยุติธรรม ๒)หลักการ ประกอบด้วย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ หลักพุทธรรม แนวทาง แนวคิดทฤษฎีต่างๆ ๓)กระบวนการ วิธีการ ประกอบด้วย ไกล่เกลี่ย เจรจา สนทนาเชิงลึก สันติภาพลงดินกินได้ ชุมชนสันติสุข การพัฒนาระยะสั้น ๔)กิจกรรม ประกอบด้วย หลักสูตรระยะสั้น โคกหนองนา อารยเกษตร ธรรมยาตรา เดิน วิ่ง สมาธิ สู่สันติสนทนา กิจกรรมขับเคลื่อนต่างๆ
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : มจร ได้สะท้อนเพื่อการพัฒนางานวิจัยซึ่งสอดรับกับจินตามยปัญญา เป็นการวิเคราะในแนวทางและกระบวนการ สามารถแบ่งออกเป็น ๕ วิธี ประกอบด้วย ๑)วิธีคิด ทำไมต้องทำวิจัยประเด็นนี้ ๒)วิธีวิจัย เป็นวิธีดำเนินการวิจัย ๓)วิธีวิเคราะห์ ระหว่างหลักพุทธสันติวิธีกับศาสตร์สมัยใหม่ ๔)วิธีเขียน สามารถเขียนออกมาเป็นงานทางวิชาการ ๕)วิธีนำเสนอ สามารถสื่อสารงานวิจัยออกมาอย่างเข้าใจโดยผู้วิจัยเข้าใจและสามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ จึงให้กำลังใจนิสิตในการพัฒนางานวิทยานิพนธ์ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น