พ่อเมืองนครพนม ชื่นชมความสำเร็จ โคก หนอง นา ครัวเรือน นางดาวใจ วงศิลา บ้านหนองดินแดง อำเภอเมืองนครพนม พร้อมเน้นย้ำ "ทีมจังหวัดนครพนม" ร่วมกันหนุนเสริมขยายผล น้อมนำพระราชดำริสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชน
วันนี้ (12 ต.ค. 66) นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนม มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง อารยเกษตร อันเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะยังประโยชน์อันไพบูลย์ให้เกิดแก่ชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็นวิถีชีวิตแห่งความสุข วิถีชีวิตแห่งความสงบร่มเย็น และวิถีชีวิตที่สมาชิกในครอบครัว สมาชิกในชุมชน ตลอดจนคนที่มาเยี่ยมเยือน จะได้รับการแบ่งปันความสุขเหล่านี้ ให้ได้ร่วมกันรับความสุขและมีความสุขอย่างยั่งยืน
"จังหวัดนครพนมได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ลงพื้นที่หนุนเสริมองค์ความรู้และติดตามถามไถ่การน้อมนำแนวพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมจังหวัดนครพนม โดยนายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม ได้นำทีมลงพื้นที่ติดตามและเยี่ยมชมความสำเร็จ โคก หนอง นา พื้นที่อำเภอเมืองนครพนม การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ครัวเรือน นางดาวใจ วงศิลา ขนาด 1 ไร่ ณ บ้านหนองดินแดง หมู่ที่ 1 ตำบลคำเตย อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยมีนางสาวณิชาทิพย์ อุบลบาลไชโรจน์ พัฒนาการอำเภอเมืองนครพนม พร้อมด้วยทีมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครพนม ร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานดังกล่าว และสนับสนุนข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง" นายวันชัยฯ กล่าวในช่วงต้น
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของชาวจังหวัดนครพนมและคนไทยทุกคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" และทรงอรรถาธิบายในเรื่อง "อารยเกษตร" กล่าวคือ คนไทยมีอาชีพเกษตรกร ซึ่งเราทำการเกษตร 365 วัน หรือทั้งปี แต่ประเทศไทยมีฤดูฝนเพียง 120 วัน (4 เดือน) ด้วยเหตุนี้ในช่วงวันที่เหลือนอกจากฤดูฝน เราจึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนถึงมีเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพและการทำเกษตรกรรม โดยนำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ ปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มพื้นที่ป่าตามศาสตร์พระราชา ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต่ออีกว่า จากการลงพื้นที่ติดตามและเยี่ยมชมความสำเร็จ โคก หนอง นา ของนางดาวใจ วงศิลา โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม นั้นได้มีคำแนะนำแก่ครัวเรือน ให้มีการจัดทำฐานเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ อาทิ 1) ฐานคนรักษ์ป่า 2) ฐานคนรักษ์ดิน 3) ฐานคนรักษ์น้ำ 4) ฐานคนรักษ์แม่โพสพ 5) ฐานคนมีไฟ 6) ฐานคนรักษ์สุขภาพ 7) ฐานคนเอาถ่าน 8)ฐานคนมีน้ำยา และ 9) ฐานปลูกพืชสมุนไพร หรือจัดทำฐานการเรียนรู้ตามองค์ความรู้ที่ตนมี เช่น ฐานทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยคอก ฐานคันนาทองคำ เป็นต้น พร้อมแนะนำให้ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทั้งไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม้ 5 ระดับ และให้เลี้ยงไก่ เป็ด สุกร โค เพิ่มเติมเพื่อจะได้มีรายได้จากหลายช่องทาง
“โคก หนอง นา ของนางดาวใจ วงศิลาได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมมาตั้งแต่ ปี 2565 เป็นเวลา 1 ปีเศษแล้ว บริเวณแปลงต้นแบบมีการปลูกป่า 5 ระดับ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จนทั่วบริเวณแปลง ริมขอบสระ และคลองไส้ไก่ มีการปลูกต้นไม้พื้นถิ่น พืชผัก ผลไม้ ได้แก่ พริก มะเขือ มะนาว มะกรูด ขิง ข่า ตะไคร้ ถั่วฝักยาว บวบหอมเตยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง กล้วยตานี มะละกอ ดอกกระเจียว มะม่วง เงาะ กระท้อน ลิ้นจี่ มะพร้าว ทุเรียน ลำไย ไผ่ ต้นยางนา ประดู่ พยุง มะค่า ต้นสัก เลี้ยงสุกร ไก่ เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาไน ปลาธรรมชาติหลากหลายชนิด ฯลฯ โดยครัวเรือนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตโคก หนอง นา เพิ่มขึ้นมากถึงเดือนละ 2,000 - 3,000 บาท ” นายวันชัยฯ กล่าว
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพิ่มเติมว่า ขอให้ทีมจังหวัดนครพนมได้เป็นกำลังสำคัญในการหนุนเสริมดูแลส่งเสริมพี่น้องประชาชนทุกคนได้มุ่งมั่นตั้งใจในการประยุกต์ เกษตรทฤษฎีใหม่ ไปสู่ โคก หนอง นา ต่อยอดไปเป็นอารยเกษตร เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา ที่ยั่งยืนให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจได้มีโอกาสได้เรียนรู้ศึกษา พร้อมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" เพื่อสร้างความยั่งยืนทางอาหาร และความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตาม 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ที่พวกเราทุกคนได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อน 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน
“สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน คือ ต้องมีการ "สร้างทีม" เป็นทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน และนำแนวทาง 4 กระบวนการสำคัญมาใช้ในการทำงานของทีม คือ การร่วมกันพูดคุย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ และต้องทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการงานกับทุกภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในขั้นพื้นฐาน (Basic Need) ต่อยอดไปสู่ความต้องการขั้นสูง คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ เพื่อให้พี่น้องประชาชน ลูกหลานเยาวชนคนไทยของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ให้สมกับเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ดี เป็นราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดิน" นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น