นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของปลื้ม-กิตติศักดิ์ รอดประเสริฐ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักพากย์-เจรจา โขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ระหว่างวันที่ ๕ พฤศจิกายน - ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
“กิตติศักดิ์” เล่าว่า เติบโตในครอบครัวคนโขน มีคุณตาบุญเหลือ แซ่คู หัวหน้าคณะโขนสดคณะประยุทธ ดาวใต้ กรุงเทพฯ เป็นผู้ฝึกสอน จึงได้เริ่มเรียนรู้และฝึกหัดเล่นโขนสดตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล เมื่อโตขึ้นอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ หัดรำ หัดออกหน้าพาทย์ หัดร้องโขนสดและหัดแสดงเป็นตัวยักษ์ ลิง และหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ พออายุ ๑๕ ปีก็ได้ออกแสดงเป็นยักษ์ เช่น ยักษ์อาสา ยักษ์กองลาดตระเวนและลิง ซึ่งโขนสดเป็นการแสดงพื้นบ้านที่นำศิลปะหลายแขนงมารวมไว้ทั้งฉากเปลี่ยนได้ นักแสดงแต่งหน้าเหมือนลิเก ใส่หัวโขนประมาณครึ่งหน้าผาก ใช้เพลงหน้าพาทย์เชิด มีการร้องเอง พูดเอง เล่นเสียงและด้นกลอนไปเรื่อยๆ และการเต้น เช่น ท่ายักษ์ ท่าลิง จะมีท่าของโขนสด ทำให้โขนสดมีความยากทั้งการร้อง การเต้น และที่ยากที่สุดคือ การเล่นดนตรีให้จังหวะเพราะต้องรู้ว่าพระ นาง ยักษ์ เต้นจังหวะช้า และลิงเต้นจังหวะเร็ว
ด้วยความรักการแสดงโขนเป็นชีวิตจิตใจ หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ “กิตติศักดิ์” เลือกเข้าเรียนสาขานาฏศิลปไทย วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และฝึกพากย์โขนกับครูสุธีร์ ชุ่มชื่น อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นเวลา ๒ ปี กระทั่งได้รับโอกาสสำคัญในชีวิตโดยได้รับคัดเลือกจากครูสุธีร์ให้เป็นหนึ่งในนักพากย์-เจรจาโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยพากย์ตัวพระราม
“กิตติศักดิ์”เริ่มฝึกซ้อมมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเขาต้องปรับตัวเยอะเพราะการพากย์โขนสด พูดธรรมดา ไม่ได้มีทำนอง ขณะที่โขนพระราชทานฯต้องพากย์เป็นทำนอง มีจังหวะ ต้องทำเสียงตามบุคลิกและอารมณ์ของตัวละคร เช่น ตัวพระเสียงเข้มแข็ง ตัวยักษ์เสียงดุดัน ตัวลิงเสียงว่องไว เมื่อพากย์ตัวพระราม จึงต้องฝึกเสียงให้มีพื้นฐานและมีพลัง รวมทั้งฝึกพากย์เจรจา การเดินทำนอง เช่น พากย์รถ ชมความงามของราชรถที่มุ่งหน้าจากสถานที่หนึ่งไปสถานที่หนึ่ง การเจรจาโต้ตอบกัน และโขนพระราชทานฯ มีหัวโขน ชุดโขนที่วิจิตรงดงาม การร้อง ท่ารำเป็นแบบแผนโบราณ อ่อนช้อยงดงาม และมีฉากอลังการ เช่น ตอนที่กุมภกรรณรบ จะมีหุ่นเชิดตัวใหญ่ออกมารบกัน
“เป็นครั้งแรกที่เข้ามาร่วมแสดงโขนพระราชทานฯ ไม่คิดว่าตัวเองจะเข้ามาได้ ตอนเด็กเคยมาดู ใฝ่ฝันสักวันจะได้มายืนอยู่บนเวทีการแสดงนี้ ก็ได้มายืนอยู่บนเวทีนี้จริงๆ เป็นเวทีใหญ่ที่สุดของชีวิต ปกติจะพากย์โขนตามงานของวิทยาลัยนาฏศิลป รู้สึกภูมิใจมากได้ทำสิ่งที่รักและฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก และมีโอกาสสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์โขนศิลปะการแสดงอันงดงามของชาติ ” กิตติศักดิ์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
“กิตติศักดิ์”นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเยาวชนไทยที่มีใจรักในการแสดงโขนและมีความตั้งใจที่จะสืบสานอนุรักษ์ศิลปะการแสดงโขนมรดกศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติให้คงอยู่ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น