วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติ มจร" แนะมนุษย์ต้องพัฒนาจิตให้ก้าวไกลกว่า "AI"



วันที่ ๒๔  พฤศจิกายน ๒๕๖๖ พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร.ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)   ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์การปฏิบัติธรรมประจำปี ๒๕๖๖  เปิดเผยว่า พระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  โค้ชวิชากรรมฐานสำหรับนิสิตวิทยาลัยพุทธศาสตรนานาชาติและนิสิตหลักสูตรสันติศึกษา มจร  จำนวน ๓๐๐ รูป/คน ตามโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานประจำปี ๒๕๖๖ ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ถึง ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ความโดยสรุปว่า    

การศึกษาทางพระพุทธศาสนาจะต้องผ่านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เราจึงต้องตอบคำถามของตนเองได้ ๓ ประการ คือ ขันธ์ ๕ คืออะไร ด้วยการศึกษาถึงเวทนากำหนดรู้เท่าทันกับความเจ็บปวดของรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร ด้วยศึกษาตามกฏของไตรลักษณ์เป็นธรรมพื้นฐาน ขันธ์ ๕ ควรดำเนินเป็นไปอย่างไร ด้วยการศึกษาตามปฏิจจสมุปบาท  เราจึงใช้คำว่า สติเป็นฐาน โดยมีความเชื่อมโยงกับสติปัฏฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความหมายเดียวกัน การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาขันธ์ ๕ ด้วยการใช้ไตรสิกขา โดยขันธ์ ๕ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ซึ่งล้วนจะต้องใช้ปัญญา 

โดยปัญญาทางพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ ๑)ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทุกคนมีอยู่แล้ว  ๒)ปัญญาในการรักษาตนเอง ปัญญาในการประกอบอาชีพ ๓)ปัญญาด้วยการเห็นแจ้งด้วยวิปัสสนากรรมฐานโดยใช้ไตรสิกขาเป็นเครื่องมือ มีกรอบใหญ่เป็นสติปัฏฐาน ในการพัฒนานั้นจะต้องอาศัยหลักสัปปายะทั้ง ๗ เช่น สถานที่สะดวก อาหารที่เอื้อเกื้อกูล บุคคลเป็นกัลยาณมิตร  การถ่ายทอดสื่อสารเป็นวจีสุจริต  อากาศเย็นสบาย จะเข้ากับหลักมหาสติปัฏฐานสูตร แม้ทุกศาสนาก็มีวิธีการพัฒนามาจากภายในแต่วิธีแตกต่างกัน เวลาปฏิบัติเป็นธรรมดาของคนที่มีสักกายทิฏฐิจะเกิดขึ้น ประกอบด้วย  ๑)เอตํ มม แปลว่า  นั่นของเรา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกขณะจิต ขนาดไม่เป็นของเรายังบอกว่า นั่นของเรา ๒) เอโสหมสฺมิ  เราเป็นนั่น เรื่องตำแหน่งต่างๆ ความอยากจะเป็น เป็นนั่นเป็นนี่  ๓) เอโสเมอตฺต นั่นอัตตาของเรา ซึ่งสักกายทิฏฐิถ้าคลายไม่ได้ชีวิตจะพังเพราะมีโลภะ โทสะ โมหะ

ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาขันธ์๕ตามแนวทางของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แม้โลกธรรมจะเกิดขึ้นกับเราอย่างไรก็ตาม จึงต้องรู้เท่าทันผ่านการพัฒนาของตนเอง แม้โลกจะพัฒนาก้าวไกลถึงระดับAI แต่การพัฒนาด้านจิตใจยิ่งต้องพัฒนาให้มากเท่านั้น  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...