วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เดินหน้าปั้นเมืองอัจฉริยะ ‘รัฐมนตรีดิจิทัลฯ’ มอบหมาย Depa ผนึก BOI ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 100% 3 ปี ดึงดูดลงทุน ‘Smart City’



พร้อมให้สิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ มุ่งสร้างการมีส่วนร่วม เปิดทาง ‘ชุมชน’ ร่วมออกแบบเมืองที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน  

 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘ผลักดันไทยสู่ Smart City’ ในงาน Post Today Smart City 2024  ณ ห้อง แกรนด์ บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอรำวัณ กรุงเทพฯ ว่า นโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภานั้นให้ความสำคัญในการพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัย รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และสานต่อนโยบายด้าน ‘Carbon Neutrlity’ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไอออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้กติกาใหม่ของโลกที่ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม .

นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อเข้ามาบริหารงานกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติให้มีความสอดคล้องกัน โดยได้ริเริ่มโครงการ ‘The Growt Engine of ThaiLand’ ที่จะมี 3 เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญ โดยเครื่องยนต์ที่ 1 จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ เครื่องยนต์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความมั่นคงและปลอดภัย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและผู้ใช้งานทุกคน และเครื่องยนต์ที่ 3 จะเป็นการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ เพราะวันนี้บุคลากรเหล่านี้ในประเทศยังมีไม่มาก .

“ในเครื่องยนต์ที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับขีดความสามารถของประเทศนั้น ได้มีการบรรจุแผนงานเรื่อง Smart City ไว้เป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นกลไกสำคัญในการกระจายความเจริญในยังทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การบริหารจัดการเมืองและสิ่งต่างๆ ซึ่งจะตอบโจทย์การนำไปสู่ Smart City ในทุกมิติ” 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวต่อว่า เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City จะมีตัวชี้วัดอยู่ 7 ด้าน ได้แก่ 1.การเดินทางขนส่งอัจฉริยะ 2.พลังงานอัจฉริยะ 3.เศรษฐกิจอัจฉริยะ 4.พลเมืองอัจฉริยะ 5.การใช้ชีวิตอัจฉริยะ 6.การบริหารจัดการภาครัฐอัจฉริยะ และ 7.สิ่งแวดล้ออัตฉริยะ ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญโดยจะต้องเป็นหัวข้อบังคับขั้นต่ำสำหรับเมืองอัจฉริยะทุกเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คือเรื่องของนโยบาย Carbon Neutrlity 

นายประเสริฐ กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Smart City จึงได้มีการส่งเสริมใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในการพัฒนามาตรการดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่ Smart City ด้วยมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับนักลงทุนในเมืองอัจฉริยะสูงสุดถึง 100% ของเงินลงทุน ระยะเวลาสูงสุด 3 ปี จากเดิมที่นักลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกรณีลงทุนด้านดิจิทัลใน Smart City สูงสุด 50%  โดย 2. ได้มอบโจทย์ให้กับทาง Depa ไปประสานงานต่อกับ BOI เพื่อให้นักลงทุนใน Smart City ที่ซื้อสินค้าและบริการในบัญชีบริการดิจิทัล จะได้รับการลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 50% และ 3. กระทรวงดิจิทัลฯ มีมาตรการการพัฒนาข้อมูล โดยส่งเสริมการให้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองที่เป็นหัวใจในการยกระดับเมืองสู่เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน สามารถติดตาม ประเมินและยกระดับเมืองต่อไปได้ 

“หัวใจของการยกระดับจากชุมชนเมืองสู่เมืองอัจฉริยะนั้น เรื่องสำคัญคือชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับชุมชนว่า Smart City แบบไหนที่ชุมชนต้องการ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของแต่ละชุมชนแล้วจึงออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการและมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีความเหมาะสม และไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน เพราะแต่ละเมืองมีความแตกต่างกัน ปัญหาของคนในแต่ละเมืองก็แตกต่างกันและแต่ละเมืองก็เอกลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้นแนวคิดการเป็น Smart City จึงมีความแตกต่างกัน อาทิ กรุงเทพมหานครอาจต้องการเมืองอัจฉริยะที่มีเทคโนโลยีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือแก้ไขปัญหาจราจร หรือ เชียงใหม่อาจเป็น Smart City เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือตัวอย่างในต่างประเทศ เช่นเมืองซานฟรานซิสโก เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเน้นที่จะลด Carbon Footprint โดยเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและวางระบบการคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ รวมไปถึงในอัมสเตอร์ดัม ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันออกแบบขึ้นมา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวย้ำ 

 นายประเสริฐ กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้มีการพูดถึง IoT Sensor เพื่อบริหารจัดการมลภาวะและทรัพยากรต่างๆ หรือการพูดถึง Big Data และ AI ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์อย่างแม่นยำเพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงการพูดถึง Carbon Cradit Trading Platform ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัจจัยในการผลักดันการยอมรับในภาครัฐและผู้ประกอบการต่างๆ ในการนำเสนอสินค้าและบริการไปสู่ต่างประเทศ และเรื่อง Blockchain Technology ในการพัฒนาด้านต่างๆ ซึ่งเราจำเป็นต้องทำและเป็นข้อบังคับของ Smart City ทุกเมืองที่จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ย้ำว่า เป้าหมายและสิ่งที่คาดหวังจาก Smart City นั้นคือการจะต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความต่อเนื่องและอยู่กับเมืองนั้นตลอดไป โดยไม่จำเป็นจะต้องทำตามกระแสและจะต้องอยู่ในบริบทที่ประเทศไทยจะต้องได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ยังต้องลดความเหลื่อมล้ำหรือ Smart For All ทุกคนจะต้องได้รับบริการที่สะดวกสบายอย่างเท่าเทียมกัน รวมไปถึงจะต้องเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเมือง ลดค่าใช้จ่าย ใช้ชีวิตที่มีค่าอย่างสะดวกสบาย ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นเมืองที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจะได้เห็นเมืองแห่งความสุข ที่มีความสะดวกสบายและได้เห็นรอยยิ้มของทุกคนในชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...