วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ผอ.สนค.เผยทางออกภาคเกษตรไทย เกษตรกรรมยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม



เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรและธุรกิจการเกษตร พบว่า ภาคเกษตรทั่วโลกต่างพยายามเร่งปรับตัวเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับภาคเกษตร รวมทั้งไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)  มีการรายงานข้อมูลว่า ภาคเกษตรกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้น้ำจืดมากกว่าร้อยละ 70ของปริมาณน้ำจืดทั่วโลกซึ่งการทำเกษตรกรรมเพื่อให้มีผลผลิตที่มากเกินความต้องการ (Overproduction) และการทำเกษตรกรรมแบบไม่ยั่งยืน (Unsustainable Farming) รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งทำให้พื้นที่และทรัพยากรทางการเกษตรเสื่อมโทรม ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดความเสื่อมโทรมส่งผลให้สูญเสียผลิตภาพการผลิตมากถึง 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยสาเหตุหลักมาจากเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีผลผลิตทางการเกษตรร้อยละ 29 ของโลก ที่ไม่สามารถทำการเกษตรแบบยั่งยืน

ปัจจุบันเทรนด์ธุรกิจการเกษตรเริ่มใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนด้านการเกษตร ช่วยลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่เกษตรกรรม และลดการสูญเสียผลิตภาพการผลิตทางการเกษตร โดยการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยในการทำเกษตร ดังนี้


·       ธุรกิจเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 14.5 โดยร้อยละ 65 ของก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์มาจากอุตสาหกรรมโคเนื้อและโคนม จึงเป็นสาเหตุหลักที่นักลงทุนและนักธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหันไปมุ่งเน้นนวัตกรรมโปรตีน อาทิ โปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น พืช สาหร่าย แมลง และจุลินทรีย์ ตัวอย่างบริษัทที่ตอบโจทย์การทำนวัตกรรมโปรตีน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ บริษัท Remilk ประเทศอิสราเอล ผู้ผลิตโปรตีนนมโดยไม่ใช้วัว (Animal-free Dairy Proteins) แต่ใช้นวัตกรรมผลิตนมจากห้องทดลองโดยวิธีการหมักจุลินทรีย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล และหน่วยงานอาหารของสิงคโปร์ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการระดมทุนได้ถึง 120 ล้านดอลลาร์ ขณะนี้กำลังเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตโปรตีนนมโดยไม่ใช้วัวที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย

·       ธุรกิจเพื่อลดการใช้น้ำ ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การทำเกษตรรูปแบบเดิมทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรเกี่ยวกับการใช้น้ำ อาทิ การทำเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ที่สามารถระบุปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการทำเกษตรได้อย่างแม่นยำ การใช้เทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนทานต่อความแห้งแล้ง ตัวอย่างบริษัทที่ตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้น้ำภาคเกษตร ได้แก่ บริษัท KIlimo ให้บริการในแถบประเทศละตินอเมริกา (อาทิ อาร์เจนตินา ชิลี และเม็กซิโก) บริษัทฯ มีการจำหน่ายแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดการระบบใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ Big Data จุดเด่นของแพลตฟอร์มดังกล่าว คือ มีการประมวลผลเพื่อชดเชยปริมาณการใช้น้ำในการเกษตร อาทิ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำในการทำเกษตรได้

·       ธุรกิจเพื่อการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถป้องกัน ปรับปรุงและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสภาพดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างบริษัทที่ตอบโจทย์การฟื้นฟูความเสื่อมโทรมสภาพดิน ได้แก่ บริษัท Boomitra สหรัฐอเมริกา ใช้ดาวเทียมและเทคโนโลยี AI ในการติดตามและรายงานปริมาณคาร์บอนในดินทั่วโลก และมีแพลตฟอร์มในการประเมินคุณภาพดินและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน ทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในดินได้

ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า เทรนด์ธุรกิจภาคเกษตรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน สามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ (Startup) ที่สนใจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อาทิ การจำหน่าย/ให้บริการแพลตฟอร์มการเกษตรที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งธุรกิจดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกร สามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...