วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

พม. โดย ศรส. รับเด็กหญิง 9 ขวบ เข้าคุ้มครองในบ้านพักเด็กฯ หลังถูกน้าชายทำร้ายร่างกาย



วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นางสาวซาราห์ บินเยาะ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม ในฐานะผู้ประสานงานหลักของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) หรือ HuSEC เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุที่เด็กหญิง อายุ 9 ปี ถูกน้าชายทำร้ายร่างกาย ที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศ กรุงเทพฯ ทาง ศรส. ได้ส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กเรียบร้อยแล้ว ซึ่งพบว่าสภาพร่างกายเด็กมีรอยฟกช้ำบริเวณหลายจุด และบริเวณศีรษะมีรอยบวม อีกทั้งจากการพูดคุยสอบข้อเท็จจริงเด็ก พบว่า แต่เดิม เด็กเคยอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ จ.สระบุรี ต่อมาพ่อต้องโทษจำคุก จึงทำให้มาอยู่ในความดูแลของแม่ ซึ่งแม่มีอาชีพเผาถ่านขาย มีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้น แม่จึงได้ส่งลูกให้มาอาศัยอยู่กับน้าชายที่ห้องเช่า ย่านประเวศ กรุงเทพฯ ซึ่งครอบครัวของน้าชายอาศัยอยู่ด้วยกัน 6 คน และน้าชายมีอาชีพรับจ้างส่งของ ส่วนน้าสะใภ้ไม่ได้ประกอบอาชีพ โดยได้บังคับเด็กให้ออกไปตระเวนขอเงินและอาหารตามที่สาธารณะ ถ้าวันไหนเด็กขอไม่ได้ จะถูกทำโทษด้วยการตีด้วยไม้ 

    นางสาวซาราห์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กระทรวง พม. ได้รับตัวเด็กหญิงเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร เรียบร้อยแล้ว และได้ประสานงานกับทีม ศรส. จ.สระบุรี เพื่อขอความร่วมมือในการเยี่ยมบ้านครอบครัวเด็ก และประเมินสภาวะครอบครัวแม่ของเด็ก พร้อมตรวจสอบประวัติการให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากแม่ของเด็กเคยปรากฏเป็นข่าวขอความช่วยเหลือผ่านสื่อ เมื่อปี 2563 ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี

      นางสาวซาราห์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ศรส. โดยเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร ได้ประสานไปยังครูประจำชั้นของเด็กในเรื่องของการรักษาสิทธิของการเรียน จึงได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังโรงเรียนในการลงเวลาเรียน และการสอบของเด็ก เพื่อดำเนินการไม่ให้เด็กเสียสิทธิในการศึกษาเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้ประสานคลินิกส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก รพ.รามาธิบดี เพื่อนำเด็กเข้ารับการตรวจประเมินจากทีมสหวิชาชีพ ในวันที่ 23 พ.ย. 66 

      นางสาวซาราห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากรายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. - ก.ย. 66) มีจำนวน 2,312 ราย พบว่า พื้นที่ความรุนแรงสูงสุด คือ กรุงเทพฯ จำนวน 202 ราย ความรุนแรงรายภาคสูงสุด คือ ภาคกลาง 38.2 % ช่วงอายุผู้กระทำมากที่สุด คือ 36 - 59 ปี จำนวน 1,281 ราย เพศผู้ถูกกระทำมากที่สุด คือ เพศหญิง จำนวน 1,931 ราย เป็นความรุนแรงด้านร่างกายสูงสุดถึง 54.5 % (ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ณ วันที่ 5 ต.ค. 66) 

         ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงในสังคมไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ  สามารถแจ้งเหตุได้ที่ 1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 2) Line OA "ESS Help me" เพียงกดเพิ่มเพื่อน @esshelpme 3) สำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ  และ 4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่


ที่มา - https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/74998


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...