วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

หอการค้าจังหวัด-สภาอุตฯจังหวัดทุกภาคทั่วไทย ประสานเสียงหนุนนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท”



หอการค้าจังหวัด-สภาอุตฯจังหวัดทุกภาคทั่วไทย ชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนล้า ประสานเสียงหนุนนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท”  เชื่อมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค สร้างอาชีพกระจายรายได้-ดันการท่องเที่ยวในจังหวัด

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 หอการค้าจังหวัดทุกภาคทั่วไทยรวมถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ เห็นด้วยกับนโยบายเงินดิจิทัล เชื่อมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากภาคอีสาน นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า มาตรการเงินดิจิทัลนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมภายในจังหวัดนครราชสีมาให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอนมาก ทั้งนี้นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังมีธุรกิจที่หลากหลายทั้งค้าปลีก ค้าส่ง  ก็จะทำให้การใช้จ่ายคึกคัก โดยเฉพาะเกษตรกรจะขายพืชผลทางการเกษตรป้อนให้กับพ่อค้าแม่ค้านำไปผลิตสินค้า สร้างรายได้ให้ทั้งชุมชนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งจังหวัด

ด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนล้า  หากรัฐบาลสามารถเร่งรัดการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ทันในช่วงต้นปีหน้าในไตรมาส 1 ก็จะช่วยให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายซื้อของใช้อุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และด้วยเงื่อนไขใช้ได้เฉพาะภายในอำเภอตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชนของผู้ที่มีสิทธิเท่านั้น  ก็มองว่าจะช่วยให้เม็ดเงินกระจายไปตามพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยไม่กระจุกอยู่แต่เฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งหากหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 2 รอบ ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างมั่นคง

ขณะที่นายวิโรจน์ ฉัตรหิรัญย์  ประธานหอการค้าจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเพราะเงินกลุ่มนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ จะเกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นว่า อยากให้ภาครัฐแบ่งการจ่ายเงินออกเป็น 2 เฟส คือภายในระยะเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน จนกว่าจะครบ 10,000 บาท น่าจะดีกว่าเพราะจะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาวกว่าการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว  

ในส่วนเสียงสะท้อนจากภาคเหนือนั้น นายปรกฤษฏิ์ สายหัสดี กรรมการเลขาธิการ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า หากมีเงินดิจิทัล 10,000 บาทถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มของคนรากหญ้าจนไปถึงกลุ่มคนชนชั้นกลาง เพราะสองกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากช่วงที่โควิด 19 ระบาดมากที่สุด เพราะจะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 3 – 6 เดือนนับจากวันที่รัฐบาลเริ่มแจกเงิน 

ขณะที่ นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ ก็มองว่าการจ่ายเงินที่จะเริ่มขึ้นในช่วงของเดือนพฤษภาคมปีหน้าไม่ถือว่าช้าเกินไป แต่กลับเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมากกว่า เพราะเงินดิจิทัลจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในเรื่องของการศึกษาเพราะตรงกับช่วงที่เด็กนักเรียนเปิดเทอมพอดี ถือเป็นการผ่อนแรงให้กับกลุ่มผู้ปกครองในการซื้อหาอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียนและสิ่งจำเป็นได้อีกมาก 

ขณะที่ภาคใต้ก็สนับสนุนเงินดิจิทัลเช่นกัน นายกฤษฎา อึ้งสกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล มองว่า เงินดิจิทัลจะกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสตูลให้ดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เพราะเศรษฐกิจภายในจังหวัดที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบเหงา อีกทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้าภายในจังหวัดเองก็ต่างรอคอยเพราะจะทำให้สินค้าขายดีขึ้นและเกิดการจ้างงานได้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการจับจ่ายของประชาชนในพื้นที่มีความคึกคักเพิ่มขึ้น รวมไปถึงผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีรายได้ไม่คงที่ก็สามารถนำเงินส่วนนี้ไปต่อยอดอาชีพช่วยทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

สอดรับกับมุมมองของ นายณัฐนวรรธ ศักดา นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวสุราษฎร์ธานี  ที่ประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆภายในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารได้อานิสงส์จากโครงการนี้ที่จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนและฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือถ้านโยบายนี้ออกมารัดกุมดีก็จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ด้วย

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...