วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ศน. วางกรอบแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม เป็นวาระจังหวัด


 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566  นายประเสริฐ เล็กสรรเสริญ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ครั้งที่ 2/2566 เพื่อวางกรอบแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ โดยมีนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 2 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2566ที่ผ่านมา  

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่าที่ประชุมรับทราบผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม 5 ประการ และทุนชีวิต ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งได้สำรวจในกลุ่มคนไทย โดยแบ่งช่วงอายุเป็น 3 ช่วงวัย คือ 13 - 24 ปี  25 - 40 ปี และ 41 ปีขึ้นไป ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งดัชนีชี้วัดคุณธรรมนี้เป็นการประเมินตัวบุคคลจากภายใน เพื่อวัดพฤติกรรมบ่งชี้การมีคุณธรรม 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู ให้คุณธรรมถูกถอดรหัสมาเป็นพฤติกรรมที่จับต้องได้ โดยผลสำรวจในภาพรวมของทั้ง 3 กลุ่ม พบว่า คุณธรรม 5 ด้าน อยู่ในระดับพอใช้ โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนเท่ากับ 4.74 จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ซึ่งอยู่ในระดับพอใช้เช่นเดียวกัน โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนเท่ากับ 4.56 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72  และทุนชีวิต เป็นการสำรวจระบบนิเวศที่อยู่รอบตัวบุคคล ที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญา รวมทั้งความสามารถปรับตัวและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ ประกอบด้วย 5 พลัง คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน โดยผลสำรวจทุนชีวิตในภาพรวมของทั้ง 3 กลุ่ม พบว่า อยู่ในระดับดีมาก

โดยได้คะแนนร้อยละ 84.46 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ซึ่งอยู่ในระดับดี คือ ร้อยละ 78.16 มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.06  และที่ประชุมยังได้ติดตามรายงานผลตัวชี้วัดภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 9 ตัวชี้วัด ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว 5 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1) ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570 (4.74 คะแนน) 2) หน่วยงานภาครัฐน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงาน มีค่า ITA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5  ภายในปี พ.ศ. 2570 (91.95 คะแนน) 3) จำนวนเครือข่ายทางสังคมมีขีดความสามารถในการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570 (42,430 แห่ง)  4) จำนวนหน่วยงานภาครัฐมีค่า ITA ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570  (6,737 แห่ง) 5) ทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 (ร้อยละ 80.82) และอยู่ระหว่างติดตามผลอีก 4 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1) จำนวนประชากรอายุ 13 ปี ขึ้นไป มีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อนการมีคุณธรรมจริยธรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี  2) จำนวนเครือข่าย/องค์กรจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี 3) จำนวนองค์กรเครือข่ายทางสังคมที่มีการพัฒนาระบบเครดิตทางสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยเพื่อรองรับการส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570 4) จำนวนคนที่ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตจากการส่งเสริมคุณธรรมขององค์กรเครือข่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งจะดำเนินการรายงานผลภายในเดือนธันวาคม 2566

นายชัยพล สุขเอี่ยม กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบ แผนการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการการส่งเสริมคุณธรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) อาทิ การประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม การอบรมพัฒนาวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม การสำรวจสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ การผลิตสื่อองค์ความรู้ และการประเมินผลทั้งนี้ยังจะผลักดัน 6 ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการขับเคลื่อนคุณธรรม ของภาคีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ของ 6 กลุ่มเครือข่ายทางสังคม ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ  ภาคศาสนา ภาคการศึกษา ภาคสื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ได้แก่ การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์คุณธรรม การค้นคว้าและต่อยอดทุนความดี สนับสนุนกระบวนการเครือข่ายโค้ช การพัฒนาระบบเครดิตทางสังคม การผลิตสื่อความดีเผยแพร่ทางสื่อมวลชน และผลักดันการส่งเสริมคุณธรรมเป็นวาระของจังหวัด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติต่อไป 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...