วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

กระทรวงเกษตรฯสร้างเสถียรภาพยางเพิ่มการใช้ประเทศ เสนอครม.ไฟเขียวหน่วยงานราชการใช้ล้อยางกยท.



“ธรรมนัส” เดินหน้าออกมาตรการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ เร่งหน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ พร้อมเตรียมขอไฟเขียว ครม. ให้รถยนต์ราชการใช้ล้อยาง กยท.เดินเครื่องสวนยางพาราเกษตรแปลงใหญ่ ประกาศสงครามกับยางพาราเถื่อน 

 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯมุ่งเน้นที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐจะต้องกำหนดเป็นนโยบายไม่ว่าจะเป็นการใช้ยางพาราในการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ของหน่วยภาครัฐที่จะต้องทำถนน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ในปริมาณที่มากแล้ว ถนนยังมีความทนทานมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ลดการเกิดฝุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือเบื้องต้นกับนายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับให้รถยนต์ของหน่วยราชการใช้ล้อยางที่การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ผลิต โดยออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีผลบังคับใช้

           สำหรับการผลิตล้อยางของกยท.นั้นล่าสุดได้เจรจากับโรงงานผลิตล้อยางของจีนรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง ถึงแนวทางการร่วมลงนาม MOU ในการผลิตล้อยางให้กับ กยท.โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ เพื่อมีความพร้อมที่จะผลิตล้อยางให้กับ กยท.ได้ทันทีรองรับการใช้ล้อยางรถยนต์ของหน่วยงานราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และทหาร ซึ่งรถยนต์แต่ละคันมีอายุใช้ล้อยางประมาณ 2-3 ปีก็จะต้องเปลี่ยนใหม่  ซึ่งหากดำเนินการได้เป็นรูปธรรมจะทำให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนรวมถึงได้สั่งการให้ กยท.ดำเนินการปรับสมดุลปริมาณยางในประเทศ  โดยเร่งตรวจสอบสต๊อกยาง ตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน พื้นที่สวนยาง และปริมาณผลผลิตยาง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลยางที่ครอบคลุมทั้งประเทศ (Big Data)  ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการยาง กำหนดนโยบาย มาตรการต่างๆ ด้านยางได้อย่างสอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์  สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของยางพาราไทยอีกด้วย

          ขณะที่การเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมายก็ต้องทำคู่ขนาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทีมปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช”จะสอดส่องและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายางผิดกฎหมายหากพบเบาะแสผู้กระทำผิดให้แจ้งหน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมทันทีพร้อมทั้งให้กยท.บูรณาการร่วมทำงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตร ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในเส้นทางที่มีการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศเมียนมาร์ หากเป็นยางพาราที่ขอใช้เส้นทางในประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 จะต้องมีเอกสารที่ถูกต้องและชัดเจนตรงกับปริมาณยางที่ขอผ่าน

            ด้านนายณกรณ์  ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า  กยท. มุ่งเน้นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ โดยจะผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะการยกระดับสินค้าเกษตร “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูล ค่าสูง” โดยกำหนดเป้าหมายนำร่อง จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ ผ่านโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ (Smart Farm) ภายใต้แผนสร้างความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ประกอบด้วย การอบรมพัฒนาความรู้ด้านยางพาราครบวงจร ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน การบริหารจัดการ และการจัดการด้านการตลาด ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อก้าวไปสู่ Smart Farm 

          “สถานการณ์ราคายางขณะนี้มีแนวโน้มที่ีดีขึ้นนอกจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ผลผลิตทั่วโลกลดลงขณะที่ความต้องการมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว นโยบายด้านยางพาราของรัฐบาลที่ชัดเจน และที่สำคัญการประกาศสงครามกับยางพาราเถื่อน โดยสั่งปราบปรามอย่างจริงจังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกสนับสนุนให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด ราคายางแผ่นรมควันชั้น3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับราคา 55.23 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบ 52.60 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำยางสดราคา 52.30 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 15 เดือน”นายณกรณ์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.แจงขั้นตอนสมัครรับเลือกเป็น สว. พร้อมขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ 10 พ.ค.นี้

  เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่าผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ว...