วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

‘เกษตรฯ – กลาโหม’ ผนึกปราบหมูยางพาราทิพย์ ร่วมพัฒนาผลผลิตเกษตร



‘เกษตรฯ – กลาโหม’ ผนึกความร่วมมือครั้งใหญ่ ยกระดับเสริมแกร่งภาคการเกษตร สู่ 4 มิติใหม่ “ช่วยเหลือ ป้องกัน สร้างสรรค์ พัฒนา” มุ่งสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจรายได้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนามในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงกลาโหม โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานสักขีพยาน นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นสักขีพยานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอก โดมศักดิ์ คำใสแสง ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเอก พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นสักขีพยานกระทรวงกลาโหม  ตลอดจน นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล          

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ สร้างรายได้สำคัญแก่ครัวเรือนของประชากร โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม รายได้ของภาคเกษตรกลับพบว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งยังขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความผันผวนตามฤดูกาล จึงก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรตกต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปัญหาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามมา ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงกลาโหม จึงได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินงานตามภารกิจภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของหน่วยงาน สู่มิติ “ช่วยเหลือ ป้องกัน สร้างสรรค์ พัฒนา” เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยการ ‘ช่วยเหลือ’ ได้แก่ การรับซื้อผลผลิต ตั้งจุดจำหน่าย กระจายสินค้า ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัย ‘ป้องกัน’ การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ‘สร้างสรรค์’ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรม สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และ ‘พัฒนา’ เสริมศักยภาพด้านการเกษตรให้กำลังพล พัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ โครงการพระราชดำริ โครงการทหารพันธุ์ดี จึงได้ตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้นในวันนี้         

“ความร่วมมือกันของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำคัญการยกระดับภาคเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์ และเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันชายแดน โดยเฉพาะนโยบายปราบปรามการนำเข้าสินค้าเกษตรเถื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลของเกษตรกร เป็นเรื่องท่านนายกฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองหน่วยงานจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น เชื่อมั่นว่าการผนึกความร่วมมือกันของกระทรวงเกษตร และกระทรวงกลาโหม จะนำพาเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว        

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพราะภาคเกษตรถือเป็นหัวใจหลักของประเทศไทย ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและทันที ซึ่งทั้ง 4 ขอบเขตความร่วมมือ “ช่วยเหลือ ปกป้อง สร้างสรรค์ และพัฒนา” ถือเป็นภารกิจหลัก ที่ทั้งสองหน่วยงานได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้จะเดินหน้าการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 กระทรวงควบคู่กันไป เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยได้มีพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

       สำหรับขอบเขตความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ ดังนี้

                   1. การรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การตั้งจุดจำหน่าย และการกระจายสินค้าล้นตลาด โดยกระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลแหล่งรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม โดยประสานการจัดซื้อ จัดจำหน่าย และการขนส่งผ่านสถาบันเกษตรกร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงกลาโหม พิจารณารับซื้อผลผลิตตามความต้องการของหน่วยงาน รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่เพื่อตั้งจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรตามศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงาน

                   2. การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายตามแนวชายแดน (ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง) โดยกระทรวงกลาโหมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนในการตรวจสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ

                   3. การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน การดำเนินการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมแก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์

                   4. การเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการพัฒนาพื้นที่การเกษตร ศูนย์การเรียนรู้ การฝึกอบรม การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เพื่อยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...