วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ณพลเดช"ที่ปรึกษา"พวงเพ็ชร-กมธ.ศาสนาฯสภาฯ"ทอดกฐินตกค้างวัดป่าคาสามัคคีเขาค้อ



วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566  นายณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ เป็นประธานกฐินที่วัดป่าคาสามัคคี อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ วัดนี้อยู่ห่างจากวัดดังแห่งหนึ่งคือวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว (มีพระพุทธเจ้าสีขาวซ้อนกัน 5 องค์) เพียง 10 กม. สำหรับบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ความเย็นสบายเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือการที่มีนักท่องเที่ยว นักแสวงบุญ ความสวยงามของวัดวาอาราม ต่างกันแบบลิบลับ  

นายณพลเดช  กล่าวว่า สาเหตุที่เป็นประธานกฐินวัดป่าคาสามัคคี ก็ด้วยเพราะวัดนี้ติดลำดับวัดที่ไม่มีเจ้าภาพกฐิน หรือเป็นวัดที่กฐินตกค้างนั้นเอง ในทุกๆ ปี ประเทศไทยจะมีวัดที่ไม่มีคนไปทอดกฐินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเพราะพระก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน ญาติโยมก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้สร้างกิจกรรมอันเป็น Soft Power ที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่สืบทอดกันมาช้านานในท้องถิ่น ในความเป็นจริงตามพุทธบัญญัติการจะทอดกฐินไม่ได้ใช้เงินมาก หากมีแต่เพียงองค์กฐิน ที่ถวายพระภิกษุที่จำพรรษาครบไตรมาส เช่น 1.ผ้าไตรจีวร 2.บาตร 3.ตาลปัตร 4.ย่าม 5.รองเท้า และบริวารกฐินเพียงเล็กน้อย เท่านี้ก็ดำเนินการพิธีกรานกฐิน ได้แล้วครับ จริงๆ หากเราจัดงบประมาณลงไปเพื่อเป็นต้นกฐิน สำหรับกฐินตกค้าง ผมว่าอาจใช้เงินไม่ถึง 100 ล้านบาทต่อปีด้วยซ้ำซึ่งผลที่ได้กลับคืนสู่สังคมผมเชื่อมั่นว่าคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม



อีกมุมมองหนึ่งในมิติของการพัฒนาการ ของการคลังสาธารณะหรือการคลังมหาชน ในยุคต้นกับยุคคลาสสิก รัฐไม่เน้นกู้แต่โลก “ยุคใหม่” นี้ ทั่วโลกต่างยอมรับการใช้งบประมาณเกินดุล แม้ญี่ปุ่นเองก็มีหนี้สาธารณะ Debt-to-GDP สูงถึง 256.9% หากมองย้อนหลังอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 60.17% และที่ผ่านมาเราแทบจะกู้มาโดยไม่เห็นนำเม็ดเงินเข้าไปสนับสนุนการศาสนาเลย แม้ที่เห็นๆ ในช่วงโควิดที่ผ่านมาพระก็ไม่ได้เงินเยียวยาโควิดทัดเทียมกับประชาชนทั่วไปด้วยซ้ำ กลับกันฝ่ายสงฆ์กลับถูกโจมตีเรื่องเงินบริจาค อ้างว่ารวยซึ่งมีวัดเพียงไม่ถึง 0.01% ที่เข้าข่ายและอาจผิดจริง แต่วัดอีก 99.99% หาเช้ากินเพล เงินจะสร้างจะบำรุงโบสถ์วิหารก็แทบไม่มี ความนี้เป็นความลำบากของวงการพระสงฆ์ไทยเป็นอย่างมาก 

"แนวคิดของผมเห็นว่า ควรตั้งกองทุนหรือธนาคารที่มีลักษณะ คล้ายกับธนาคาร + บสย. ที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาลและตรวจสอบได้ เพื่อสนับสนุนการเงินให้กับวัดและคณะสงฆ์ เพื่อผลักดันไปสู่ Soft power ทั้งด้านศิลปะและวัฒนธรรม เสริมสร้างการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยสนับสนุนจากรัฐฯ คล้ายๆ กับวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ที่เขาหางบประมาณเองแต่ผลทำให้ชุมชนประชาชนโดยรอบได้รับอานิสงส์ มีรายได้เข้าครัวเรือนเป็นกอบเป็นกำ และอีกมิติหนึ่งก็สร้างศีลธรรมให้กับสังคม ลดคดีสู่กระบวนการยุติธรรม เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว บ้านเมืองงดงาม มีเอกลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เมืองไทย ซึ่งเป็นการลงทุนที่น้อยแต่คุ้มค่ามหาศาล" นายณพลเดช  ระบุ

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.แจงขั้นตอนสมัครรับเลือกเป็น สว. พร้อมขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ 10 พ.ค.นี้

  เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่าผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ว...