วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ฯ มองบวก "เงินดิจิทัล" กระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้อย่ากังวลเกินเหตุ



ขณะที่นักวิชาการด้านวิศวกรรมฯ  นักเศรษฐศาสตร์ มั่นใจช่วยเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้คนทั่วประเทศหนุนไทยสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคต

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา เพราะขยายตัวช้ามา และมีอัตราการเติบโตของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน นโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น  อย่ากังวลเกินเหตุ อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรดำเนินมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว  การลดหนี้สาธารณะ มาตรการด้านภาษีต่าง ๆ ที่สำคัญต้องเร่งปรับโครงสร้างทางการแข่งขันของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เป็นต้น 

ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 ในภาพรวมคงจะฟื้นประมาณร้อยละ 3.2-3.3 แต่ว่าถ้ามีเงินดิจิทัลขึ้นมาอาจจะทำให้มีโอกาสเติบโตถึงร้อยละ 4.5-5 ทั้งนี้แม้ว่าหลายฝ่ายอาจมีความกังวลว่าการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ในจำนวนเงินดังกล่าว อาจจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้น แต่อยากให้มองว่าอย่ากังวลจนเกินเหตุ เพราะเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอนโดยเฉพาะในระยะสั้นเพราะให้จีดีพีเพิ่มขึ้น   ที่สำคัญยังมีอีกหลายมาตรการที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย อย่างที่เราเห็น เช่น การดึงนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น และหากรัฐเร่งปรับโครงสร้างทางการแข่งขันของประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวพ้นจากปัญหาไปได้

"ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีปัญหา เพราะขยายตัวช้า เราโตต่ำสุดในอาเซียน  เงินดิจิทัลที่รัฐบาลอัดฉีดเข้ามาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และหากติดตามมาด้วยการปรับโครงสร้างทางการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เร่งดึงนักลงทุนเข้ามาใน EEC ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

รศ.ดร.สมชาย เน้นย้ำว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยต้องมีการดำเนินการแบบองค์รวม และสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีความสามารถในการชำระหนี้ผ่านการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ  การพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล  สนับสนุน SME เกษตรกร และสตาร์ทอัพ การส่งเสริม EV เป็นเรื่องสำคัญคู่ขนานไปกับการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในเชิงโครงสร้างที่ EEC รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหากดำเนินคู่กัน ก็จะทำเศรษฐกิจของไทย มีโอกาสเติบโตได้แข็งแรง และทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ด้านรศ.ดร.พิสิษฐ์ บุญศรีเมือง ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มั่นใจว่านโยบายเงินดิจิทัลไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังจะช่วยเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้คนในประเทศด้วย พร้อมกล่าวว่านโยบายเงินดิจิทัล เป็นเรื่องที่แหลมคมมากในการให้ประชาชนมีทักษะด้านดิจิทัลด้วยตนเองผ่านการใช้เงินผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งถือว่าเป็นกุศโลบายในการสอนให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ซึ่งนโยบายนี้มาส่งเสริมได้ดีและจะยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเกิดสังคมไร้เงินสดมากขึ้น ยกกรณีประเทศจีนที่คนในประเทศใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางทำการจ่ายเงินแทนการพกเงินสด ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกสบายให้คนในประเทศ นอกจากนี้ยังมองว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายจะช่วยให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“ความพร้อมทางด้านทักษะดิจิทัลเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ความสามารถของประเทศ ซึ่งนโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลผมมองว่านอกจากจะทำให้เกิดวงรอบในการจับจ่ายใช้สอย และเพิ่มมูลค่าทางจีดีพีแล้ว ยังจะทำให้เกิดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสารสนเทศทางการเงิน การเพิ่มทักษะของคนในประเทศที่เกี่ยวกับดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลได้ในอนาคต” รศ.ดร.พิสิษฐ์ กล่าว

สอดคล้องกับดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร นักเศรษฐศาสตร์ ในฐานะรองประธานเลขาธิการหอการค้าไทย-จีน  ที่ได้กล่าวว่า เงินดิจิทัลจะช่วยเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีด้านการเงินอีกให้กับคนไทยเพิ่มมากขึ้น  โดยระบุออกเป็น 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกมองว่านโยบายเงินดิจิทัลจะทำให้คนไทยมีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ประเทศจีนไปไกลมากไทยยังวิ่งตามหลัง ฉะนั้นโครงการนี้จะเป็นการปรับฐานคนไทยให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะด้านดิจิทัลในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายไปในกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งมองว่าตรงส่วนนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการที่จะขยับประเทศเข้าไปสู่โลกอนาคต คนของเราจำเป็นต้องมีเรื่องเหล่านี้ เพราะนี่คือทิศทางของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ในประเด็นที่สอง เงินดิจิทัลจะทำให้คนไทยมีประสิทธิภาพการจัดการเรื่องการเงินและเป็นการสนับสนุนให้คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีการจับจ่ายผ่าน Alipay และ WeChat Pay ดังนั้นไทยเราต้องมีการปรับตัว เดินหน้าที่จะพัฒนาทักษะการใช้เงินดิจิทัลให้กับประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...