วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ปลัด มท. หารือผู้แทนพิเศษ UN ด้านความรุนแรงต่อเด็ก ยก 3 แนวทางแก้



ปลัด มท. หารือผู้แทนพิเศษ UN ด้านความรุนแรงต่อเด็ก ยก 3 แนวทาง คือ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” “หมู่บ้านยั่งยืน” และ ”การแก้จนแบบพุ่งเป้า" เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความรัก ความอบอุ่นให้แก่ครอบครัวและชุมชน หนุนเสริมให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป 

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566  เวลา 16.30 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร. นาจัด มาลลา มะจิด (Dr. Najat Maalla M'jid) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติด้านความรุนแรงต่อเด็ก เข้าเยี่ยมคารวะ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การป้องกันและยุติความรุนแรงต่อเด็ก การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี และการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โอกาสนี้ นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือในการนี้ด้วย.

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นลูกหลานของพวกเราทุกคน โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด เป็น CEO ของทุกกระทรวง เป็นประธานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของจังหวัดในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อ การดูแลสุขภาวะ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม การอำนวยความสงบเรียบร้อย อาชญากรรม ยาเสพติด การคุ้มครองเด็ก โดยทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่ายที่มีกลไกทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ ซึ่งมี "ทีมงาน" ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน มาร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เด็ก” นั้น กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์ของผู้เป็นแม่ เพื่อให้ดูแลทารกอย่างถูกต้องตามหลักสาธารณสุข เรื่องปัจจัยพื้นฐาน (Basic Needs) ในการดำรงชีวิต กระทั่งเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือ วางแผนหาแนวทางร่วมกันกับภาคีเครือข่ายอย่างใกล้ชิดเป็นประจำต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้เร็วที่สุด

“สำหรับการขับเคลื่อนงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการเกื้อหนุนและลดความรุนแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กปฐมวัย” กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมให้มี “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนในการดูแลสุขภาพอนามัย พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ การเข้าสังคม การสร้างความรู้รักสามัคคี มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับหลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) ด้วยการสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ให้เกิดความร่วมมือกันในชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กเล็กได้มีโอกาสได้รับการดูแลพัฒนาให้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยผ่านการเล่น การเรียนรู้สภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้เด็กได้มีเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว ถูกดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งจะเป็นการลดการกระทำรุนแรงต่อตัวเด็ก ก่อให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม ต่อยอดไปสู่ความรักและความสามัคคีของคนในชุมชน ดูแลเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเราให้รอดพ้นจากการกระทำที่รุนแรงต่าง ๆ ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังมีแนวทางในการหนุนเสริมการดูแลเด็กด้วยการน้อมนำแนวพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดพื้นฐาน 8 ข้อ ได้แก่ 1) ด้านที่อยู่อาศัย โดยพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มั่นคงแข็งแรง ครัวเรือนมีส้วมถูกสุขลักษณะ 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำพระราชดำริ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาส่งเสริมการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ 3) ด้านความสะอาด โดยส่งเสริมการคัดแยกขยะต้นทาง ด้วยหลัก 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การจัดการขยะชุมชน เช่น ตลาดนัดขยะ ธนาคารขยะ และจุดทิ้งขยะอันตราย เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) ด้านความสามัคคี ส่งเสริมการรวมตัวเป็นคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน เพื่อดูแลช่วยเหลือ 5) ด้านความร่วมมือ ส่งเสริมให้มีการพบปะกันเป็นประจำ ในลักษณะ "ร่วมพูดคุย ร่วมปรึกษา ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์" 6) ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางศาสนาในระดับหมู่บ้าน ตามความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม รวมถึงการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้าน 7) ด้านความมั่นคงปลอดภัย ส่งเสริมให้มีการดูแลคนในหมู่บ้านไม่ให้ติดยาเสพติด จัดการความเสี่ยงทางด้านกายภาพ เช่น มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ และมีทางสัญจรที่สะดวก เป็นต้น และ 8)มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ รวมถึงการลาดตระเวนหรือตั้งด่านตรวจรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์รวมทั้งหมด ที่ผู้รับประโยชน์จะมิใช่เฉพาะเด็กเท่านั้น แต่จะเป็นคนทุกช่วงวัยที่จะมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

“และอีกแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยแพลตฟอร์ม ThaiQM โดยได้นิยามคำว่า ยากจน คือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ทำการเก็บข้อมูลครัวเรือนได้มากถึง 14,562,655 ล้านครัวเรือน ทำให้ได้พบครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน 3,810,466 ครัวเรือน และได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 3,614,409 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 94.85 และยังมีครัวเรือนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา 196,057 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 5.15 ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งที่เราจะต้องคิดหาแนวทางแก้ไขให้ได้ เพื่อให้ปัญหาหมดสิ้นไป และจะทำการสำรวจปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอีก 6 ล้านกว่าครัวเรือนในเขตของเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนทุกครัวเรือนภายในประเทศ โดยยึดหลักว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)" ซึ่งแนวทางนี้ก็จะเป็นอีกวิธีการที่สำคัญในการหนุนเสริมการดูแลเด็กอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่เด็กกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทย รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของเด็ก ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้มีการขับเคลื่อนและมีการอำนวยความสะดวกมาโดยตลอด โดยกรมการปกครองได้มีการเปิดให้บริการทำบัตรประจำตัวแก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้ได้มีบัตรประจำตัวไว้ใช้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การได้รับสิทธิการเป็นแรงงาน การเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการยืนยันตัวบุคคล ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 66 ตนก็ได้มีการประชุมหารือกับขบวนการ P-Move ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่จะได้พิจารณาเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป

“ตนขอย้ำว่า สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยกำลังขับเคลื่อนทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวนี้ จะช่วยหนุนเสริมและลดความรุนแรงในเด็กที่ครอบคลุมทุกมิติ กล่าวคือ การมี “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” จะสร้างความรักความสามัคคีและความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในครอบครัว "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" จะทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนในหมู่บ้านมีความรักความสามัคคี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเวลาในการช่วยกันดูแลเอาใจใส่เด็กซึ่งเป็นลูกหลานของตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และ "การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย" ผ่านการ Re X-ray ครัวเรือนทั้งประเทศด้วยแพลตฟอร์ม ThaiQM จะทำให้เรามีประเด็นปัญหาความต้องการของแต่ละครัวเรือน ทั้งความต้องการมีน้ำดื่มสะอาดในการบริโภค การไม่มีทุนการศึกษาเล่าเรียน ไม่มีชุดเครื่องแบบนักเรียน เครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารี มีคนป่วยติดเตียงไม่มีคนดูแล ไม่มีส้วม ไม่มีอาชีพ เป็นหนี้เป็นสิน มีคนติดยาบ้ายาเสพติด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บบันทึก จัดหมวดหมู่ และพร้อมสำหรับการแก้ไขให้ปัญหาเหล่านี้หมดสิ้นไปในปี พ.ศ 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยความมุ่งมั่นของคนมหาดไทยที่ต้องการ Change for Good ทำให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น ช่วยกันพัฒนาพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย 

ด้าน ดร.นาจัด มาลลา มะจิด (Dr.Najat Maalla M'jid) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติด้านความรุนแรงต่อเด็ก กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้หารือร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำให้ตนเชื่อมั่นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศไทย จะสามารถบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านเด็กในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เกิดการปรึกษาหารือ และพร้อมผลักดันการสร้างสิ่งที่ดีร่วมกัน เพื่อทำให้เด็กที่ได้รับสิ่งที่ดีในชีวิตเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พิชิต" ตรวจเยี่ยม "มจร" หารือจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ

เมื่อวันที่  9 พฤษภาคม 2567 หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านเป็นที่เรีย...