วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“ทีมไรท์” ชวนตัวแทนพรรคการเมืองรณรงค์ “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงจากผู้มีอำนาจทางการเมือง”



“ทีมไรท์” ชวนตัวแทนพรรคการเมืองรณรงค์ “ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงจากผู้มีอำนาจทางการเมือง” จี้ สตช.เพิ่ม ตำรวจหญิงสอบสวนเหยื่อ แก้ปัญหาถูกกระทำซ้ำจากคำถามของตำรวจชาย ขณะ “กลุ่มสีดาไม่ทน” ชี้ถูกขู่ทำร้ายหลังช่วยเหยื่อถูกนักการเมืองคุกคามทางเพศ

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มนักการเมืองและนักวิชาการรุ่นใหม่ในฐานะนักคิด และนักปฏิบัติ ในนาม “ทีมไรท์” 'ทำที่ใช่ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง' จัดเสวนาเรื่อง "ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง จากผู้มีอำนาจทางการเมือง” เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ประกอบด้วย  ดร.ลีลาวดี วัชโรบล พรรคเพื่อไทย,นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ,ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ พรรคภูมิใจไทย ,นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์,ดร.บุณณดา สุปิยพันธุ์ พรรคพลังประชารัฐ,นางเยาวภา บุรพลชัย พรรคชาติพัฒนากล้า และตัวแทนสีดาจากสีดาไม่ทน ร่วมพูดคุยรณรงค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ท่ามกลางความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมงานคึกคัก 

ในการเสวนาได้กล่าวถึงสาเหตุปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงยังคงถูกกระทำ แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นแต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงอีกจำนวนมากยังคงถูกทำร้ายคุกคามทั้งในเรื่องเพศ และเรื่องจิตใจ โดยปัญหาสำคัญคือความไม่เสมอภาคเชิงอำนาจที่แตกต่างกันโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ามักใช้ความได้เปรียบในการคุกคามต่อผู้หญิง หรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ดังที่เห็นปรากฎเป็นข่าวในสื่อมากมายในปัจจุบัน  

นอกจากนี้ยังเห็นว่าสังคมไทยยังคงไม่เห็นความสำคัญในการดูแลเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ ทั้งในเรื่องการดำเนินการทางกฎหมาย หรือการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนทำให้เหมือนการถูกกระทำซ้ำอีกครั้ง  โดยเฉพาะในระบบการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม ที่ในทุกครั้งที่เหยื่อไปแจ้งความจะต้องได้รับคำถามจากตำรวจผู้ชายซ้ำไปมาในคำถามที่ตอกย้ำความเจ็บช้ำน้ำใจ เช่น กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นโดยนักการเมือง พรรคการเมืองต้นสังกัดก็กลับนำข้อมูลการตรวจสอบที่ควรจะเป็นความลับมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ส่วนผู้กระทำผิดกลับไม่ได้มีมาตรการลงโทษที่จริงจัง เพียงแค่ตัดเรื่องจบ ผู้กระทำผิดยังคงได้ไปต่อในขณะที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือทางจิตใจจากการที่ข้อมูลเสียหายได้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว 

“ที่ผ่านมากลุ่มสีดาไม่ทนได้รับข้อมูลมากมายจากผู้หญิงที่ถูกกระทำ แต่พวกเธอไม่กล้าบอกใคร เพราะส่วนใหญ่ถูกกระทำจากผู้มีอิทธิพล ผู้มีอำนาจ และจากการที่กลุ่มสีดาออกมาเป็นตัวแทนในการเผชิญหน้าสู้ให้กับผู้หญิงทุกคน กระทั่งล่าสุดพวกเราถูกข่มขู่ทางโซเชียลโดยมีการอัดคลิปขู่ให้พวกเราระวังตัวจะมีการขุดประวัติของพวกเราทุกคนขึ้นมา และยังกล่าวหาว่าการนำเคสขึ้นมาแต่ละเคสเป็นการเซตขึ้นมาซึ่งได้มีการไปแจ้งความไว้แล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มสีดาไม่ทนจะขอยืนหยัดช่วยเหลือผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศและขอให้ลุกขึ้นมาต่อสู้และไม่ทนต่อการถูกคุกคามทางเพศ” ตัวแทนกลุ่มสีดาไม่ทนกล่าว 

สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้นผู้เสวนาเห็นตรงกันว่ารัฐควรเอาจริงเอาจังต่อการใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะในระบบการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการปกปิดข้อมูลของเหยื่อ และแนวทางการสอบสวนที่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ที่ส่วนใหญ่เห็นว่าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ชายที่ทำให้เหยื่อไม่สะดวกใจ ดังนั้นจึงควรเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง หรือสหวิชาชีพให้มากขึ้น  รวมทั้งรัฐจะต้องสนับสนุนให้มีช่องทางหรือกระบวนการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิง หรือเหยื่อได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และไม่ถูกกระทำซ้ำ ขณะเดียวกันจะต้องให้ปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชนที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตเห็นความสำคัญเรื่องสิทธิระหว่างหญิงชายไม่ล่วงละเมิดหรือคุกคามกันและกัน 

ทั้งนี้ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างระบุว่า ในแต่ละพรรคต่างให้ความสำคัญและพยามผลักดันให้นักการเมืองที่จะเสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชนจะต้องตระหนักและมีจริยธรรมโดยเฉพาะเรื่องการคุกคามหรือละเมิดทางเพศจากนักการเมืองเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้   โดยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ตัวแทนทีมไรท์ ในฐานะตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า พรรครวมไทยสร้างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องของกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว เพราะเป็นที่ทราบว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคเป็นผู้พิพากษาจึงเข้มงวดในเรื่องของจริยธรรมนักการเมืองดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาร่วมงานในพรรคจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้น และในส่วนของสมาชิกพรรคนักการเมืองรุ่นใหม่ก็ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีมาโดยตลอดและจะยังคงเดินหน้ารณรงค์เรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอน 

หลังเสร็จสิ้นการเสวนา ได้มีการจัดประมูลภาพศิลปะ ผลงานของ อาจารย์ ดร. ไพโรจน์ พิทยเมธี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ “น้องอเล็ก” ชนกรณ์ พุกะทรัพย์ ศิลปินเด็กออทิสติกไทย เพื่อนำรายได้มอบให้สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ในการสนับสนุนการทำงานเพื่อเด็กและสตรีในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ 

สำหรับการจัดเสวนาดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ จากหลายประเด็น ทั้งเรื่อง ค่านิยม กฎหมาย ศาสนา หรือแม้แต่กระทั่งอำนาจ ที่ทำให้เกิดปัญหา ผู้หญิงโดนข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ หรือ โดนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกของสังคมไทยต่อการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ทั้งจากภัยในโลกออฟไลน์และโลกไซเบอร์ โดยมีทีมไรท์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการ นักคิด นักปฏิบัติ  นักการเมืองรุ่นใหม่ เยาวชน และประชาชนที่สนใจ รวมตัวกันจัดกิจกรรมรณรงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...