วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

สมเด็จพระสังฆราชโปรดประทานผ้าพระกฐิน เชิญไปทอดถวายวัดแสงธรรมสุทธารามนครสวรรค์



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดประทานผ้าพระกฐิน เพื่อเชิญไปทอดถวายพระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดแสงธรรมสุทธาราม ตำบลชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566เวลา 10.09 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดประทานผ้าพระกฐินเพื่อเชิญไปทอดถวายพระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดแสงธรรมสุทธาราม ตำบลชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้รับเมตตาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมในพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และพระพุทธศรีสุคต พระพุทธปฏิมาประจำวัดแสงธรรมสุทธาราม และเปิดกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จุดเครื่องทองน้อยบูชาพระรูป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พร้อมเปิดกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายสักการะพระรูป สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเชิญผ้าพระกฐินประทาน กล่าวบท นะโม 3 จบ กล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จบแล้วจึงถวายผ้าพระกฐินและเทียนบูชาพระปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 พระสงฆ์กระทำอปโลกนกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ถวายบริวารกฐิน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำพุทธศาสนิกชนถวายเครื่องไทยธรรม และมอบปัจจัยโดยเสด็จพระกุศลในการถวายผ้าพระกฐินประทานแด่พระสิริวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ (ธ) เจ้าอาวาสวัดแสงธรรมสุทธาราม กรวดน้ำ พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา ประธานกราบลาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี โดยมียอดปัจจัยที่ถวายเพื่อทำนุบำรุงศาสนา เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,068,728 บาท

ในการนี้ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานสัมโมทนียกถา ความโดยสังเขปว่า วัดแสงธรรมสุทธารามแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นราว 60 กว่าปีที่แล้ว โดยพระดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ที่ทรงริเริ่มให้มีการสร้างขึ้น และโปรดให้ พระราชโสภณ (ละออ นิรโช) ขณะดำรงสมณศักดิ์ “พระมหาละออ นิรโช” เปรียญธรรม 7 ประโยค วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งพระมหาละออผู้นี้ท่านเป็นคนในพื้นที่ผู้สละความสุขส่วนตนในมหานครมาประดิษฐานการพระศาสนาให้มั่นคงมากขึ้น ณ ภูมิลำเนาของตน ต่อมาคณะกรรมการสร้างวัดเห็นว่าพื้นที่วัดยังน้อยเกินไปควรหาทางขยายเพื่อเพิ่มเติมพื้นที่ใช้สอย จึงซื้อที่ดินทางด้านใต้ของวัด กระทั่งเมื่อมีเสนาสนะเพียงพอต่อการพักอาศัยของพระสงฆ์แล้ว จึงนิมนต์พระสงฆ์จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดเทพศิรินทราวาสมาจำพรรษาฉลองศรัทธา โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2497 วัดได้เปิดการเรียนการสอนนักธรรมชั้นตรี มีพระมหาปรุง สุปญฺโญ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอาจารย์สอน นับว่าเป็นการเริ่มต้นการศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยดี แต่เมื่อออกพรรษาและรับกฐินแล้วภิกษุสามเณรก็แยกย้ายกลับไปปฏิบัติศาสนกิจในสำนักของตน ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้พระสงฆ์วัดราชบพิธไปรักษาศาสนสมบัติและปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดแสงธรรมสุทธาราม ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งมั่นของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ที่จะนำความเจริญให้ท้องถิ่นอำเภอชุมแสงแห่งนี้ จึงเสด็จมาทางรถไฟ เพื่อมาทอดกฐินและประทับแรม อันเป็นปฐมบทแห่งการก่อสร้างและทำนุบำรุงเกื้อหนุนจุนเจือ จนบัดนี้ได้รับการจัดตั้งวัด มีเสนาสนะมั่นคง มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ มีโรงเรียนเกิดขึ้น ทำให้การศึกษาต่าง ๆ ได้บังเกิดขึ้นในวัด อันสะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า พระองค์ไม่ได้มาเพียงเพื่อสร้างวัดอย่างเดียว แต่เป็นการนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นอำเภอชุมแสง ซึ่งเมื่อครั้งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังดำรงพระชนม์ชีพ จะเสด็จมาปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อช่วยดูแลการก่อสร้างอุปถัมภ์วัดแห่งนี้จนสำเร็จลุล่วง เป็นที่สถิตของพระเถระผู้ใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นสาขาวัดอีกสาขาหนึ่งของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

"ในวันนี้เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดเมตตามาถวายผ้าพระกฐินแก่พระภิกษุที่จำพรรษาครบไตรมาส ซึ่งได้มีการส่งผ้ากฐินมาทอดยังวัดแสงธรรมแห่งนี้โดยตลอด ซึ่งเป็นวัดสาขาของราชบพิธ และวัดนี้เป็นวัดสุดท้ายของฤดูกาลกฐินนี้ ที่ได้รับความเมตตาจากท่านสาธุชนทั้งหลายเป็นอย่างดี ซึ่งยอดรวมคร่าว ๆ ก็ประมาณ 3 ล้านเศษ ซึ่งจะทำให้การบูรณะเสนาสนะของพุทธารามนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้เจ้าอาวาสวัดที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ (ธ) มาปกครอง ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญของชาวบ้านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันมาโดยตลอด นับตั้งแต่อาตมาได้เดินทางมาครั้งแรกเมื่อประมาณ ปี 2507 - 2508 ซึ่งเป็นระยะเวลาล่วงมาหลาย 10 ปีแล้ว ดังนั้น ขอให้พวกเราช่วยกันดูแล เพราะวัดมิใช่สมบัติของเจ้าอาวาส หรือของคณะสงฆ์ แต่เป็นสมบัติของพระศาสนา ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธก็ต้องช่วยกันบำรุงพระศาสนา จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสหรือคณะสงฆ์บำรุงอย่างเดียวก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะเป็นวัดนี้เป็นสมบัติของศาสนา เป็นสมบัติของประเทศชาติที่เราจะต้องช่วยกันบำรุงช่วยกันนำกำลังจัดการให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นอาตมาถือว่าการทำบุญในวันนี้ ไม่ได้ทำเพื่อวัดแสงธรรมอย่างเดียว แต่เราทำบุญไว้เพื่อรักษาศาสนา ในฐานะธรรมทายาท ที่จะช่วยกันบำรุงพระศาสนา ดังคำที่กล่าวกันว่า “วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย ถ้าขัดกันก็เรียบร้อยทั้งสองทาง" ดังนั้น คณะสงฆ์ในวันนี้มีหน้าที่ในการบำรุงศาสนาบำรุงศาสนวัตถุ ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่พระศาสนา เราเข้ามาบวชแล้วต้องเข้ามาอุดหนุนศาสนา ช่วยกันศึกษาเล่าเรียน เวลาประพฤติตัวให้นึกถึงชาวบ้านที่เขาได้ทำนุบำรุงด้วยปัจจัย 4 ซึ่งถ้าเราทำไม่ดีนั้นก็ถือว่าเป็นหนี้ของเราที่เขาเลื่อมใส แต่ถ้าเราทำดี ศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติดี ดูแลกิจวัตร ประพฤติตนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ก็จะเป็นกำลังของประชาชน ในการเป็นผู้นำคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งหากเราทำได้เช่นนี้ทุกรูป ทุกวัดวาอาราม ก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม เพราะฉะนั้นก็จะขอฝากภิกษุสามเณรทุกรูปที่อยู่ในวันนี้ก็ดีที่อยู่ในละแวกนี้ก็ดี ให้ช่วยกันดูแลพระศาสนาอย่าเป็นภาระหรือปล่อยเวลาล่วงเลย เราเข้ามาบวชต้องบวชทั้งด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ และขอให้สาธุชนทั้งหลายที่ดูแลวัดนั้นก็ขอให้ดูแลวัดอย่างจริงจัง เมื่อพระได้ดูแลอบรมสั่งสอนแล้ว ก็ควรนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย” สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าว

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถาเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันเราเรียกร้องให้มีคนดีในสังคม แต่สังคมจะดีได้นั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า เราต้องช่วยกันสร้างคนดีในสังคม ให้สังคมของเรานั้นเต็มไปด้วยคนดี คนไม่ดีก็จะไม่มีที่ยืนในสังคมของเรา ซึ่งเราไม่สามารถจะทำทุกคนให้เป็นคนดีได้หมด เราจะทำอย่างไรให้สร้างคนให้เป็นคนดีมากขึ้นเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายมาโดยตลอด สำหรับในการสร้างวัด รัชกาลที่ 9 ก็มีพระราชดำริของท่านมาโดยตลอดว่า ควรสร้างวัดไม่ให้วิจิตรพิสดารใหญ่โตมโหฬาร แต่สร้างให้พระสงฆ์ปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกตามพระวินัย ให้ชุมชนในละแวกในหมู่บ้านนั้นได้มาใช้สอยในการประกอบศาสนกิจ ศึกษาปฏิบัติ ทำให้เป็นสถานที่สาธารณะส่วนกลางของพระศาสนา ในส่วนของพุทธบริษัทอันนี้เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่เราต้องถือปฏิบัติ ข้อสำคัญที่สุด คือ เราต้องช่วยกันดูแลตนเอง โดยการนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติ มิใช่เข้าวัดแล้วไม่ได้อะไรกลับไปเลย เหมือนมามือเปล่ากลับไปมือเปล่าไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าวัด เปรียบเหมือนนำคัมภีร์ที่ว่างเปล่าไม่ได้มีจารึกคำสอนอะไรไว้เลย

“วันนี้เรามาร่วมบุญกันด้วยอามิสบูชาในการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้บอกว่าสิ่งที่มีอานิสงส์มากกว่าคือ “ปฏิบัติบูชา” ซึ่งเราต้องมีการปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสั่งสอน เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และความเจริญรุ่งเรืองเหล่านั้นจะเกิดกับประเทศชาติของเรา เป็นสังคมที่มีความสุข ความเจริญ ไม่เบียดเบียนข่มเหงรังแกกัน อยู่กันด้วยความเรียบร้อยดีงาม มีความสมัครสามัคคีกันเอื้ออาทรกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคำสอนทางพระศาสนาของเรา และไม่ได้สอนให้ทุกคนไปสวรรค์ไปนิพพาน แต่สอนให้ทุกคนมีหลักธรรมประจำใจ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อยู่กันด้วยความผาสุกเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เมื่อเราปฏิบัติได้เช่นนี้สังคมของเรา ตลอดจนครอบครัวของเรา และประเทศชาติบ้านเมืองของเราก็จะอยู่กันด้วยความเรียบร้อยดีงาม ไม่ข่มเหงรังแกกัน ประพฤติตามหลักคำสอน ขอฝากคำปรารภด้วยกับพระสงฆ์และญาติโยมทั้งหลายที่เข้ามาในวัดแสงธรรมแห่งนี้ ขอให้ทุกท่านจงช่วยกันดูแลพระศาสนาและนำหลักธรรมคำสั่งสอนนั้นไปประพฤติอย่างจริงจัง เหมือนดังเช่นพระมหากษัตริย์ของเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้เคยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวต่างประเทศ โดยมีนักข่าวถามท่านว่าหน้าที่ของท่านในการเป็นพระมหากษัตริย์คืออะไรท่านตอบว่า “ไม่รู้” ท่าน “รู้” แต่เพียงว่าเมื่อตื่นจากบรรทม สิ่งที่ท่านคิด คือ พี่น้องประชาชนจะประสบความทุกข์ยากอะไรหรือไม่ มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งท่านคิดตลอดเวลาหลังจากตื่นจากบรรทม เช่นเดียวกันกับพวกเราขอให้เรานึกถึงเสมอว่าในขณะที่เราดำเนินชีวิต ประพฤติตน เราต้องคิดว่าเราจะสามารถทำอะไรที่เป็นความดีความงามให้แก่ตัวเองและแก่สังคมได้ ซึ่งถ้าสามารถตั้งไว้อย่างนี้ตลอดเวลา ตลอดอารมณ์ได้ตั้งแต่ตื่นนอน สังคมประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์” สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าว

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถา ในตอนท้ายว่า ขออำนาจแห่งคุณพระศรีพระรัตนตรัย และคุณงามความดีทั้งปวงที่เราทั้งหลายได้ตั้งใจทำรวมกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน จงมารวมกันเป็นพระรัตนตรัย อำนวยพรให้ทุกท่านมีความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญยิ่งด้วยจตุรพิธพรชัย มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ตลอดกาลนานเทอญฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...