วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566

“ภูมิธรรม” ปาฐกถาพิเศษ ขยายความร่วมมือไทย-จีน เยือนคุนหมิง 17-18 ธ.ค.นี้



“ภูมิธรรม” ปาฐกถาพิเศษ ขยายความร่วมมือไทย-จีน ให้ผู้สำเร็จหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อรุกตลาดจีน ชู!ทีมไทยแลนด์หนุนเอกชนเป็นทัพหน้า ทำการค้าเชิงรุก บุกจีนรายมณฑล สร้างเงินเข้าประเทศ  พร้อมนำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนนครคุนหมิง ระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค.นี้ เตรียมเป็นประธานลงนามซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กาแฟไทย ลุ้นนำเงินเข้าไทยมหาศาล

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม  2566    นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบประกาศนียบัตรและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน” ในพิธีสำเร็จการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อรุกตลาดจีน รุ่นที่ 1 China Wealth Institute ที่ห้องประชุม ชั้น 3 True Digital Park ช่วงค่ำวานนี้(16 ธ.ค. 66)

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งในเป้าหมายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งตลาดเอเชียเป็นตลาดศักยภาพที่มีขนาดใหญ่มาก มีประชากรรวมกันมากกว่าครึ่งโลก และไทย-จีน ไม่ใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน ตนรู้สึกอย่างนั้น ในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีน มีมูลค่าถึง 3.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับปี 2564 เป็นสัดส่วนร้อยละ 17.86 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกสินค้าไปยังจีนให้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 หรือคิดเป็น 1.2 ล้านล้านบาท ตนให้นโยบายกับกระทรวงพาณิชย์ขยับตัวเลขการส่งออกเปลี่ยนจากลบเป็นบวก ซึ่งตนให้ความสำคัญกับการส่งเสริม เร่งกระชับความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนในหลายมิติ ให้ภาคเอกชนบุกตลาดจีน รัฐบาลพร้อมเป็นรัฐที่สนับสนุนเอกชน ไม่เป็นรัฐอุปสรรค กฎระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ รวมทั้งสร้างความทะเยอทะยานและคาดหวังในการบุกฝ่าอุปสรรคทางเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ตนได้พบกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ท่านบอกว่า วันนี้จีนไม่คิดว่าตนเองเป็นโรงงานของโลก แต่จะวางตัวเป็นตลาดของโลก โอกาสจะเกิดขึ้นกับทุกชาติในโลก ซึ่งตนเร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนในหลายมิติ ให้นโยบายยุทธศาสตร์การค้าเชิงรุกรายมณฑล  และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญของจีน ทั้ง China – ASEAN EXPO (CAEXPO) และ China International Import Expo (CIIE) ตนขอเป็นสะพานสนับสนุนการเชื่อมโยงการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการไทยและจีน โดยกระทรวงพาณิชย์จะขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของไทย ผ่านความตกลงทางการค้าในทุกระดับ ทั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP รวมทั้งสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าสู่มณฑลหรือเมืองรองที่มีศักยภาพของจีน ผ่านการจัดทำ MOU ทางการค้าอีก 6 ฉบับ กับเมืองเซี่ยเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานซี มณฑลเฮย์หลงเจียง และมณฑลเหอเป่ย เพิ่มเติมจาก 4 ฉบับที่ได้ดำเนินการไปแล้ว กับมณฑลไห่หนาน มณฑลกานซู่ มณฑลยูนนาน และเมืองเซินเจิ้น  ตลอดจนเร่งเชื่อมโยงการเข้าเป็นส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในอุตสหากรรมแห่งอนาคตของจีน ซึ่งสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ของไทย

โดยจะผลักดันสินค้าและบริการไทยทั้งแบบออฟไลน์-ออนไลน์ และจะร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยมุ่งเป้ารุกตลาดจีน ด้านอาหาร ผ่านร้านอาหารไทย Thai SELECT ซึ่งเป็นช่องทางจัดแสดงและสร้างการรับรู้ความเป็นไทย และตนได้จัดทีมพาณิชย์ ตั้งคณะอนุกรรมการเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เช่น คณะอนุกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน อาเซียน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า คณะอนุกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big Data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในจีน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ เฉิงตู คุนหมิง หนานหนิง กวางโจว เซี่ยเหมิน เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว ฮ่องกง และไต้หวัน รวมทั้งสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเศรษฐกิจ นโยบายรัฐ ทั้งการค้าการลงทุน กฎระเบียบการนำเข้า มาตรการที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภค ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุเพิ่มเติมว่า ตนได้ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั้ง 9 แห่ง ได้ผนึกกำลังกับพาณิชย์จังหวัดทำงานเชิงรุกและบูรณาการให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นไทยสู่ตลาดจีน เป็นทัพหน้าของกระทรวงพาณิชย์ในต่างแดน ทำงานกับเอกอัครราชทูตไทย และตัวแทนสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ ผลักดันการค้า และขยายการลงทุน ตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรี

“การทำธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก ถ้าไม่เปลี่ยนวันหนึ่งต้องถูกบังคับให้เปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนก่อนจะได้เปรียบ ตนเชื่อว่าการดำเนินการของรัฐบาลนี้ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การดูแลของตน ตลอดจนการศึกษาตลาดจีนอย่างรอบด้านภายใต้หลักสูตรนี้ จะทำให้ทุกท่านมีความรู้ มีช่องทางในการเข้าไปทำธุรกิจในจีน กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล รวมถึงกระทรวงต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน พร้อมสนับสนุนเอกชนในการบุกทำการค้าในตลาดจีน”นายภูมิธรรมกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมี นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และรองประธานกรรมการอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการร่วมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อรุกตลาดจีน รุ่นที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทยในจีน ร่วมด้วย โดยหลักสูตร China Wealth เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นติดอาวุธให้กับนักธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ในการเข้าบุกตลาดจีน หรือทำการส่งออก-นำเข้าสินค้าจากจีน บ่มเพาะทักษะการทำธุรกิจกับจีนอย่างรอบด้าน ผ่านนักวิชาการชั้นนำของประเทศ การถ่ายทอดประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในจีน รวมถึงการ Workshop ด้วย


นำทีมโรดโชว์ขายมันสำปะหลัง-กาแฟ ในจีน 17-18 ธ.ค.นี้

 

และวันนี้(17ธ.ค.) นายภูมิธรรม  เปิดเผยว่า ตนมีกำหนดการนำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปเยือนนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2566 เพื่อขยายตลาดการค้า และสำรวจลู่ทางการค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการที่จะเป็นประธานสักขีพยานการลงนามระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าจีน โดยจะมีการตกลงสั่งซื้อสินค้าแป้งมันสำปะหลังและสตาร์ช ที่ผลิตได้จากหัวมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กาแฟ โดยคาดว่าจะมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งขอให้รอติดตามผลงาน เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก และช่วยผลักดันราคาหัวมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์กาแฟ ในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน มีกำหนดลงพื้นที่สำรวจตลาดสินค้าไทยในห้างสรรพสินค้า Parkson ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าแรกของต่างชาติที่เข้ามาเปิดสาขาในจีน ก่อตั้งปี 2537 และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปี 2548 ปัจจุบัน มี 42 สาขา ใน 28 เมือง จำหน่ายสินค้ากว่า 5,000 แบรนด์ และมีสมาชิกกว่า 17.9 ล้านคน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับห้างในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าไทย เพื่อเปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการของไทยต่อไป

นอกจากนี้ มีกำหนดพบปะกับคุณจันทร์จิรา อนันต์ชัยพัฒนา (คุณชิง) เจ้าของร้านอาหารไทยคุ้มจันทร์เจ้า ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนตะวันตกเฉียงใต้ และประธานบริษัท Yunnan Dimiao Electronic Commerce Co., Ltd. โดยจะร่วมมือผลักดันวัตถุดิบอาหารไทย และสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้มีการนำสินค้าไทยเข้ามาจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์แล้ว เช่น เบียร์สิงห์ มาม่า และ S&P เป็นต้น

โดยการเปิด Flagship Store ในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีชื่อเสียงของจีน และยังมีความร่วมมือกับบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จำกัด (มหาชน) ในการเป็นตัวแทน จำหน่ายสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อมาม่า และยังเป็นตัวแทนจำหน่ายด้านออนไลน์ของสินค้าไทยอื่น ๆ เช่น รังนกยี่ห้อ B BIRD ผลไม้อบแห้งยี่ห้อ ROZOCHA เป็นต้น

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...