"พวงเพ็ชร" เผยปีใหม่นี้ "วัดมหาธาตุ" พระอารามหลวงแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปิดเข้าชมครั้งแรก สมโภช 338 ปี ยิ่งใหญ่ 7 วันเต็ม
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำแถลงข่าว “เปิดม่านงานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ราชวรมหาวิหาร” โดยมีคณะสงฆ์ ประกอบด้วย พระธรรมวชิรมุนี ประธานคณะกรรมการอำนวยการ พระเมธีวรญาณ คณะกรรมการอำนวยการ พระราชวชิราธิบดี คณะกรรมการอำนวยการและเลขานุการ กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมแถลง
งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ราชวรมหาวิหาร จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสมโภชพระอราม อีกทั้งเป็นการรำลึกถึงบูรพากษัตริย์ทุกพระองค์ ประกอบกับโอกาสปีมหามงคลในปี 2567 ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบหรือ 72 พรรษา การจัดงานครั้งนี้
การจัดกิจกรรมสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ราชวรมหาวิหาร ครั้งนี้ถือเป็นครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นครั้งแรกที่ทางวัดได้เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาชมความสวยงาม ได้สัมผัสถึงความงดงามของเอกลักษณ์ ศิลปะ วัฒนวัฒนธรรมไทย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการต่อยอดสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์เชิงวัฒนธรรม ที่สร้างมูลค่าและก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศ โอกาสนี้ สัมผัสความงดงามอันทรงคุณค่าของไทย ร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในโอกาสที่ส่งท้ายปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ และเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดง การละเล่น การออกร้านค้า รวมถึงกิจกรรมสวดมนต์เจริญจิตภาวนาข้ามปี ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 - 2 มกราคม 2567
ทั้งนี้นสพ.ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 1 ธ.ค. 2566 " ได้รายงานว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร" เดิมชื่อ "วัดสลัก" สันนิษฐานว่า วัดนี้แต่ก่อนมีพระภิกษุเป็นช่างฝีมือแกะสลักอยู่จำนวนมาก อาจเป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกชื่อวัดว่า "วัดสลัก" เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระนครทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสลักอยู่ในพระนครฝั่งตะวันออก จึงทรงยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เป็นที่สถิตของพระราชาคณะ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนารถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯย้ายพระนครมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้มีวัดที่อยู่ใกล้ชิดพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ 2 วัดคือ "วัดโพธาราม" อยู่ชิดกับพระบรมมหาราชวังข้างด้านใต้ รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดนี้และพระราชทาน นามว่า "วัดพระเชตุพน"
ส่วน "วัดสลัก" อยู่ข้างเหนือพระบรมมหาราชวัง แต่อยู่ชิดด้านใต้พระราชวังบวรฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดสลักและขนานนามใหม่ ชื่อว่า "วัดนิพพานาราม" "วัดพระศรีสรรเพชญ" และ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เพิ่มสร้อยนามของวัด เป็น "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์" หรือที่ปัจจุบันหลายคนนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "วัดมหาธาตุ"
วัดมหาธาตุฯ มี 3 จุดไฮไลต์ชวนชม เริ่มกันที่จุดแรก ได้แก่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วิหารโพธิ์ลังกา และพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
"ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "โพธิ์ลังกา" มีอายุเก่าแก่ประมาณ 205 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ส่งคณะพระสงฆ์สมณทูตไทยออกไปสืบพระศาสนาในลังกาทวีป เป็นเวลาประมาณ 5 ปี และในตอนกลับ ได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองอนุราธบุรี ประเทศศรีลังกา มาปลูก ในปี พ.ศ. 2361 นับเป็นครั้งแรกที่นำต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาเข้ามาปลูกในกรุงรัตนโกสินทร์
"วิหารโพธิ์ลังกา" เป็นพระวิหารน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และเคยเป็นตำหนักที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระผนวช
"พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงห นาท" ย้อนไปในปี 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ และทรงเททองหล่อพระบวรราชานุสาวรีย์ ซึ่งมีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเหนือพระอุระเพื่อจบถวายเป็นพุทธบูชา ภายในฐานบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาทั้งสิ้น 28 แห่ง
จุดสองคือ "ตึกแดง" หรือ "ตึกถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ" เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณนี้ยังมี พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้กราบสักการะ
ส่วนบริเวณด้านหลังเป็น อาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9
จุดที่ 3 ได้แก่ "ศาสนสถานที่สำคัญ" ของวัด คือ เขตพุทธาวาสของวัด 3 แห่ง ได้แก่ "พระมณฑปพระธาตุ" เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคา ลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็น รูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกรม พระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนบนของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนใต้ฐานพระเจดีย์ บรรจุพระบรมอัฐิของพระปฐมบรมมหาชนก (ต้นราชวงศ์จักรี)
"พระอุโบสถ" หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบเสมาสลักเป็นภาพนารายณ์ทรงสุบรรณ อยู่ด้านในพระอุโบสถ ส่วนด้านนอกตามมุมทั้ง 4 สลักเป็นภาพครุฑยุดนาค ภายในโบสถ์มีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า "พระศรีสรรเพชญ" และพระอรหันต์ 8 ทิศ "พระวิหาร" กราบพระประธานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งประดิษฐาน "หลวงพ่อหิน" (พระพุทธรูปหินศิลาแลงเก่าแก่) หนึ่งใน พระประธานในพระวิหาร เดิมเป็นพระประธาน ในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุฯ) สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบันมีอายุกว่า 338 ปี ซึ่งเมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารหลวงจนถึงปัจจุบัน
รวมถึงยังมี "แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา" (พิชัยสงคราม) ซึ่งจารึกเป็นอักษรสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานสำคัญเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏปีที่สร้าง พศ.2228 เป็นเครื่องแสดงว่า วัดมหาธาตุฯ มีอายุ 338 ปี แต่เดิมติดอยู่ที่ฐานพระประธาน ต่อมาได้ถูกอัญเชิญไปไว้ในสระทิพยนิภาเป็นเวลาประมาณ 33 ปี และนำมาเก็บไว้ในพระวิหารมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นภายในพระวิหารยังมี พระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท, พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ, คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้ทำการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 1 (พศ.2331) และผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ ให้ชมอีกด้วย และเนื่องในวาระที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุครบ รอบ 338 ปี ทางวัดจึงมีกำหนดจัดงานสมโภชครั้งใหญ่ 7 วัน 7 คืน ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 66 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567
งานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุฯ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนม พรรษา 72 พรรษา ในปี 2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพกษัตริย์และบูรพาจารย์และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
ทั้งนี้ทางวัดมหาธาตุฯ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมเฉลิมฉลองสมโภชพระอาราม 338 ปี โดยการร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ ปรับภูมิทัศน์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้งามสง่าสืบไป สั่งสมเสบียงบุญ เกื้อหนุนพระศาสนา
โดยทางวัดได้เปิดร่วมบริจาคทรัพย์ 339 บาท รับพระสมเด็จอรหัง 1 องค์ พระสำคัญสุดยอดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สนามหลวง โดยสมเด็จพระสังฆราชสุก (สุกไก่ เถื่อน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 ในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มสร้างเมื่อกว่าร้อยปีก่อน เป็นที่ระลึกเพื่อการบูชา (จัดส่งถึงบ้าน) ทุกบาทมีค่า เป็นมหากุศล ร่วมบุญได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์สมโภชพระอาราม เลขที่บัญชี 905-0-22750-4 "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร" ตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวง ถนนท่าพระจันทร์แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-18.00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น