วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เปิดเบื้องหลังภาพ : งานประสาทปริญญา “มจร”




การประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” ระหว่างวันที่ 9 -10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ถือว่า “เรียบร้อย” สวยสดงดงามสำเร็จดังพึงประสงค์เป็นที่พอใจและปลื้มใจ ทั้งเจ้าภาพและผู้มาเยือน อาจจะมีบ้างที่ติดขัด..เดียวมาเล่าต่อ แต่!! เบื้องหลังภาพแห่งความสำเร็จนี้ มีผู้คนมากมายทั้งเครียด ทั้งถกเถียง ทั้งเหนื่อยทางกายและใจ สัมผัสได้จากเบื้องหลังภาพที่จะเล่าสู่กันฟัง“ผู้เขียน”  ถือว่าเป็น “คนนอก” ไม่ได้เป็นส่วนในงานประสาทปริญญาในครั้งนี้แม้แต่น้อย แต่ถือว่า “เกาะติด” บรรยากาศการทำงานของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ยิ่งกว่า “คนใน” บางคนบางพวก  เกาะติดจนคนข้างในและคนนอกเข้าใจว่า..เป็นบุคลากรของ “มจร” ซึ่งลักษณะแบบนี้เหมือนกับยุคที่ “ผู้เขียน” ทำงานอยู่ในช่อง 11 บรรดารัฐมนตรี พวกเจ้าหน้าที่ หรือแม้กระทั้งคนนอก เข้าใจผิดคิดว่า “ผู้เขียน” เป็นเจ้าหน้าที่ของช่อง 11

   
“ผู้เขียน” เข้าไปเกี่ยวข้องงานสำคัญระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปีนี้สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับคณะสงฆ์มอญซึ่งมีทั้งคณะสงฆ์รามัญนิกายและคณะสงฆ์นิกายมหาเย็นหรือ “รามัญธรรมยุต” เข้ารับด้วย รวมทั้งเข็มเกียรติคุณอีกจำนวน 1 ท่าน และอีกส่วนหนึ่งหลายปีมานี้ หากไม่ติดขัดอะไร  “ผู้เขียน” ก็ไปร่วมทำงานแบบนี้ตลอด สำหรับ “ปริญญากิตติมศักดิ์” ของคณะสงฆ์มอญที่ได้รับนั่น “เบื้องหลัง” คงไม่ต้องเล่าความเป็นมาอย่างไร แต่ทุกรูปล้วนผ่านกลั่นกรองเบื้องต้นให้คณะสงฆ์ของประเทศนั้น เลือกกันเอง สอง ก็คือว่า คำสั่งของผู้บริหาร “มจร” ห้ามรับเงินหรือผลประโยชน์ใดโดยเด็ดขาด ทั้งในส่วนของ “มจร” ก็ไม่รับและ “ผู้ติดต่อ” คือ ผู้เขียนก็ห้ามรับ  เนื่องจากการถวายปริญญากิตติมศักดิ์แบบนี้ ผู้บริหารต้องการถวายเพื่อเป็น “ขวัญและกำลังใจ” ให้กับพระคุณเจ้าเหล่านี้ ในฐานะผู้ดูแล สืบทอด และทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและกิจการคณะสงฆ์มานาน “ผู้เขียน” ในฐานะมอญเมืองไทยทำงานนี้ในนาม “มูลนิธิรามัญรักษ์” ประสานกับคณะสงฆ์มอญตั้งแต่ปลายปี 2556 แล้วเมื่อขอประวัติ ซึ่งก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากคณะสงฆ์มอญ ไม่นิยมทำประวัติพระเถระผู้ใหญ่ หรือหากมีก็เป็นภาษามอญ ต้องแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ และระบบการสื่อสารในประเทศเมียนมา ช่วงหลัง ๆ ติดขัดไม่สะดวกเหมือนในอดีต  แต่ในความ “เลวร้าย” ก็มีความโชคดีคือ มีชมรมพระนิสิตมอญ มจร คณาจารย์ และตัวแทนฝ่ายคฤหัสถ์ในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา คอยช่วยประสาน


 กลับมาที่ “มจร”  ปีนี้ “ข้างใน” มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กๆน้อย ๆ แต่ไม่มาก ฝ่ายที่หนักที่สุดน่าจะเป็น “รองอธิการบดีฝ่ายแผน” คือ “เจ้าคุณประสาน”  พระราชวัชรสารบัณฑิต โดยมีทีมงาน พระมหาบัณฑิต ปณฺฑิตเมธี”  ผอ.กองแผนงาน อีกตำแหน่งคือ คณบดีคณะครุศาสตร์ เป็นตัวขับเคลื่อนแจกจ่ายงานคนสำคัญ งานรับปริญญา “รูปนี้” รู้ทุกเรื่อง แม้กระทั้ง “เมนูอาหาร” ที่ผู้เขียน “หมั่นใส้”  ตำรวจติดตาม “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” ในวันแรกที่มอบปริญญามาแล้ว หากไม่มีพระใกล้ชิด “สมเด็จธีร์” ห้ามไว้ จะ “ฟาด” ให้หนักกว่านี้..เสียชื่อ “สมเด็จธีร์” ที่เคยตั้งฉายาไว้ว่า “ขงเบ้ง” แห่งวงการสงฆ์หมด จะเสียชื่อก็เพราะบริวาร!! ภายในหอประชุมนอกจาก “เจ้าคุณประสาร -พระมหาบัณฑิต” แล้ว ที่วิ่งวุ่นอยู่ภายในงานทุกปีมีอยู่อีกรูปหนึ่งคือ “พระมหาถวิล” หรือ พระครูศรีสิทธิบัณฑิต” ผอ.สำนักทะเบียน เพราะต้องเช็ครายชื่อทั้งหมด 4,000 กว่ารูปใครมาไม่มา มาแล้วนั่งตรงไหน หากไม่มีที่นั่งต้องทำอย่างไร รายชื่อในปริญญาบัตรผิดถูกก็อยู่กับท่านนี้ ส่วนอีกรูปคือ “พระมหาปัญญา ปญฺญาสิริ” ผอ.กองคลังและทรัพย์สิน  รูปนี้เปรียบเสมือน “ผอ.สำนักงบประมาณ” เงินทุกบาททุกสตางค์ ซองทุกซองอยู่กับท่านนี้ ในขณะที่ภายนอกห้องก็มีอีกทีมหนึ่งคอยบริหารจัดการดูแลการลงทะเบียน การเข้าออกห้องประชุมรวมทั้งการต้อนรับพระผู้ใหญ่ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งคฤหัสถ์ที่มารับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มเกียรติคุณ ส่วนเรื่องน้ำเท่าที่ทราบได้รับความอนุเคราะห์จากวัดพระธรรมกาย คุยกับ “พระคุณเจ้า” ที่มาดูแลบอกว่าวันหนึ่งต้องชงไม่ต่ำกว่า 3,000 แก้ว ทุกปีจะมี "ทีมชง" ชากาแฟบริการพระทำงานและพระผู้ใหญ่จาก "วัดพระพุทธฉาย" พระราชธีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย รองเจ้าคณะภาค 2 แต่ปีนี้ "ไม่เห็น" 

ส่วน “ พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เสมือน “พ่อบ้าน” ประจำอยู่ภายในหอประชุมตั้งแต่วันซ้อมจนถึงรับปริญญาบัตรเสร็จ ใครนิมนต์เชิญไปไหนไม่ได้.. ในขณะที่ “เจ้าคุณโชว์” พระสุธีวีรบัณฑิต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม รับผิดชอบโรงทาน อาหาร ตลอดงาน ซึ่งปีนี้เจ้าภาพหลักอย่างน้อยมี 3 เจ้าภาพคือ มูลนิธิร่วมกตัญญู, แม่ชีทศพร วชิระบำเพ็ญ และมูลนิธิโพธิวรรณา ภายใต้การดูแลของ “เจ้าคุณโชว์” ไม่มีขาดตกบกพร่อง ท่านดูแลบริการตลอด เพราะฉะนั้นภายในหอประชุมจึงไม่มีรูปภาพท่านปรากฎ ในขณะที่ "ฝ่ายประชาสัมพันธ์"  เห็น "พี่สมหมาย สุภาษิต" ประสานงานวุ่นตลอด  "พลาดไม่ได้"  และสำคัญปีนี้ "ทีมถ่ายทอดสด" ลงไปประจำใช้พื้นที่ด้านล่างตึก บรรยากาศชั้นบนที่เคยทำงานประจำทุกปี โต๊ะสื่อมวลชน เลยดูเหงา ๆ เหลือเพียง "ตำรวจสันติบาล"  “หนักสุด” ปีนี้คือ “ฝ่ายจราจร” อันมี “ ดร.สุรพล สุยะพรหม” รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปเป็น “หัวเรือใหญ่” ดึงทีมจากคณะสังคมศาสตร์มาทั้งคณะ เห็นอาจารย์ “บางคน” อายุ 60 ปีกว่า ๆ ยืนตากแดกโบกรถเห็นแล้ว “น่าสงสาร” มองไปที่ใบหน้า “ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช”   ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ยืนโบกรถ “คิ้วหน้าขมวด” คงเครียดกับบรรยากาศที่ “รถติด” แม้กระทั้ง “ดร.กิตติศักดิ์ สุขเหลือง” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการที่ “เจ้าสำอาง” หน้าใสมาตลอด ด้วย “หน้าที่”  ต้องยืนตากแดดเป็นโฆษกอยู่ตรงทางเข้า VIP” แม่ยกแม่ใหญ่ จบงานคงต้อง “เตรียมขัดหน้า” แบบขนานใหญ่


ปีนี้เนื่องจาก “มจร” กำหนดวันรับปริญญาแค่วันเดียวคือวันที่ 10 ธันวาคม 2566 และมีผู้ลงทะเบียนรับจริงในทุกระดับทุกประเภท ประมาณ 3,500 รูป/คน บางรูปเป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นเจ้าคณะอำเภอ เป็นพระเกจิ มีลูกศิษย์ลูกหามาก บางรูปมารถบัส 5 -6 คัน ฉะนั้นพื้นที่ภายใน “มจร” ที่มีมากกว่า 300 ไร่เต็มไปด้วยรถบัส รถตู้ รถส่วนบุคคล บางคันบ่นกันระงม ว่าติดมากกว่า 3 ชั่วโมง เพราะเท่าที่สังเกตมีรถเต็มทุกพื้นที่ ขนาดภายใน “วัดมหาจุฬาฯ” ทุกปีไม่เคยเต็มแต่ปีนี้ทั้งภายใน ภายนอก รอบ ๆ เต็มไปหมด การระบายรถ “เข้า -ออก” ก็ยากลำบากเข้าออกได้ทางเดียว เวลาเจอรถจอดขวางหรือรับคนระหว่างทางจึงติดเป็นห่วงลูกโซ่ ขยับไปไหนไม่ได้ อันนี้  “น่าเห็นใจ” ทั้งผู้มาเยือนและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ยิ่งอากาศอบอ้าวอารมณ์คนบางคน “ยิ่งแรง” แต่โชคดีมองไปทางไหนมี “ผ้าเหลือง” เต็มไปหมดทำให้ “ผู้คน” ลดอารมณ์โทสะลงได้มาก ไม่เกรี้ยวกราดหมือนถนนด้านนอก “ ผู้เขียน” พาคณะสงฆ์มอญและคณะจำนวน 115 รูป/คน ไปร่วมฉันเพลรับการเลี้ยงจากคณะมนุษย์ในวันซ้อมคือวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม จากวัดมหาจุฬา ฯ มา ณ อาคารเรียนรวมเพื่อมอบพระไตรปิฏกฉบับภาษามอญ แก่ “มจร” และมีการเสวนาร่วมกับ "ศูนย์อาเซียนศึกษา" เรื่อง "เสน่ห์รามัญ : สุวรรณภูมิ ปฐมบทพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์" ระยะทางไม่น่าถึง 1 กิโลเมตร กว่าจะผ่านมาได้ร่วมชั่วโมง..หายใจไม่ทั่วท้อง ยามค่ำคืน 1-2 ปีมานี้ “มจร” ปรับโฉมใหม่ มีการประดับแสงสีไฟสวยงามทั้งทั่วบริเวณ ในขณะที่ซุ้มต่าง ๆ ก็ประดับประดาสวยงาม บางวิทยาเขตนำศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น พระภิกษุ นักปราชญ์ในท้องถิ่นตบแต่งสวยงาม เท่าที่สังเกตปีนี้ “วิทยาลัยสงฆ์สุราษฎร์ธานี” น่าจะเป็นเจ้าแรกมาร่วมงานจัดแต่งซุ้ม เพราะเห็นลากรถมาก่อนวันซ้อมและวันรับเกือบ 1 สัปดาห์


ส่วนซุ้มนิสิตนานาชาติ ไม่ต้องพูดถึง “สีสัน” ทุกปี ขนวิถีชนเผ่า ศิลปะของชาติมาประดับประดาเต็มที่ โดยเฉพาะไทใหญ่นอกจากมีซุ้มสวยงามแล้ว มีเครื่องดนตรีขับร้องเต้นรำสนุกสนานทุกปี ในขณะที่ “มอญ” นุ่งโสร่ง ใส่ชุดขาวลายแดง ส่วนหญิงก็ชุดแดง พาดสไบ สวยงามมากันหลายร้อยคน อันนี้คือ “เสน่ห์” ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ในเทศกาลรับปริญญา ฝ่ายอาคารสถานที่ “ไม่รู้ใครรับผิดชอบ” แต่ดูแล้ว “น่าหนักใจ” เพราะบัณฑิตจากวิทยาลัยเขตทั่วประเทศต้องมาพักนอนอยู่ที่อาคารเรียนรวม ในขณะที่โรงแรม รีสอร์ทรอบ ๆ มหาวิทยาลัยเต็มทุกที่ แต่ที่ไม่ได้พูดถึง..เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายไอที ไม่ใช่ไม่ได้ทำงาน “ทุกคน” มีหน้าที่รับผิดชอบหมด ในขณะที่ “ฝ่ายต่างประเทศ”  พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ไม่รู้เอาแรงมาจากไหนฟิตได้ทั้งวันทั้งคืน ยามค่ำคืนดึกดื่น เนื่องจากต้องประสานงานเรื่องเกี่ยวกับมอบพระไตรปิฎกฉบับภาษามอญให้กับ “มจร” โทรมาถามตลอด ในขณะที่ “พระมหาโกศล ธีรปญฺโญ”  อึดโคตร แต่บางคราวถามไปตอบมา..ดูเบลอ ๆ ฝ่ายต่างประเทศเป็นอีก “ทีมหนึ่ง” ที่ทำงานหนักไม่แพ้ฝ่ายอื่น ๆ


“ผู้เขียน” สังเกตหลังจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย “เปลี่ยนถ่ายอำนาจ” ดึงคนรุ่นกลาง ๆ คนใหม่ ๆ มาบริหารโดยมี “ผู้บริหารรุ่นก่อน” คอยประคับประคองระยะหลัง ๆ มานี้เริ่ม “เข้าที่” แล้ว แต่ละรูป แต่ละคนเริ่มรู้แล้วว่า บทบาทตัวเองมีแค่ไหน ควรยืนอยู่ตรงจุดใด อารมณ์ความรู้สึกภายในเริ่มสมานกันมากขึ้น ส่วนพฤติกรรมส่วนบุคคลของ “บางคน” นั่นก็คืออีกเรื่องหนึ่ง วันรับจริง “ผู้เขียน” อยู่ด้านในตลอด เดินไปมา มิใช่อะไร เพราะต้องการนำสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินมาเล่าสู่กันฟังเช่น “เจ้าคุณเทียบ” พระเทพวัชราจารย์ ผอ.สถาบันพระไตรปิฏกศึกษา ในขณะที่ผู้บริหาร คณาจารย์ บัณฑิต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กำลังรอประธาน เดินเข้าหอประชุม หากจำไม่ผิดเป็น “ภาคเช้า” คือ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เจ้าคุณเทียบเปิดประตูเข้ามาแล้วถามว่า “ได้เตรียมที่นั่งให้ผมไว้บ้างหรือเปล่า”  เจ้าหน้าที่วิ่งกันให้วุ่น สุดท้าย พระมหาบัณฑิต ปณฺฑิตเมธี และ ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ จัดที่นั่งของ “เจ้าคุณประสาร” ให้แทน เพราะเท่าที่สังเกตแล้ว ระดับผู้อำนวยการไม่ได้จัดไว้ให้นั่งด้านหน้า  และก็ถูกต้องแล้ว เนื่องจาก “เจ้าคุณประสาร” ในฐานะแม่งานไม่มีเวลานั่งจริง ๆ เพราะมีปัญหาให้แก้ตลอด ภาคบ่าย ไม่มีอะไรใหม่ หากจะมีก็ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” อยู่ต่อ อันนี้ “คิวแทรก” เพราะเดิมตามกำหนดไม่มี แต่ “เจ้าคุณวีรพล” ปัจฉาสมณะสมเด็จพระมหาธีราจารย์บอกว่า “สมเด็จพระสังฆราช”ขอให้อยู่ต่อ เนื่องจากพระองค์มีอายุมากแล้ว กลัวจะมีปัญหาเวลานั่งนาน


 “ผู้เขียน” ภาคค่ำมีกิจกรรมถวายจัดงาน “ถวายมุทิตา -เลี้ยงสังสรรค์” คณะสงฆ์มอญ ทั้งนิกายมหาเย็น-รามัญนิกาย และคฤหัสถ์ที่ร่วมเดินทางมาร่วมด้วยกว่า 100 ชีวิต ในนามมูลนิธิรามัญรักษ์ ณ วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ ซึ่งคฤหัสถ์กลุ่มนี้คือคนมีอันจะกินบางคนเป็นหมอ เป็นกับตัน เป็นนักธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มแรงงานทั่วไปที่พวกเราเห็นจนชินตาแถวตลาดมหาชัย หรือ ตลาดไท ประธานมูลนิธิรามัญรักษ์ “พระครูใบฏีกาปัญญาวุฒิ วุฑฺฒิโก” ชวนเชิญเชื่อมสัมพันธ์พี่น้องมอญไทยจากชุมชนต่าง ๆ ประมาณ 11-12 ชุมชนทั้งในจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา และลพบุรี มาร่วมถวายมุทิตาและเลี้ยงต้อนรับแบบ “ข้าวหม้อแกงหม้อ”  น่าจะเป็น “ครั้งแรก” ที่มอญสองเมืองสองแผ่นดินได้พบปะและสังสรรค์กันแบบนี้ หลายคนฟังเพลงมอญที่ขับร้องโดย “คุณปัทมา ขำดี”  เนื้อเพลงเล่าเรื่องการอพยพหนีทัพพม่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร บางคนถูกฆ่ากลางทาง เสียชีวิตในป่า ฟังแล้วทุกคนนิ่งเงียบน้ำตาซึม “สงสารบรรพบุรุษ” โชดดีคือ มีพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นที่พึ่งเสมือน “พระโพธิสัตว์”


นำเบื้องหลังภาพ..ที่สวยงามจับใจและประสบความสำเร็จออกมาเป็นที่ถูกใจและปลื้มใจสมกับความเป็น “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลก” มาเล่า “บางรูป” ไม่ได้นำมาเล่าเพราะไม่เห็น แต่ “ทุกคน” ใน “มจร”  ล้วนมีหน้าที่ทำงานประเภทร่วมด้วยช่วยกัน แม้หลังจบงานแล้ว “ฝ่ายกิจการนิสิต” ก็ยังชวนบรรดาพระนิสิตอาสาทั้งไทยและนานาชาติ ช่วยกันเก็บขยะ เก็บโต๊ะ เสื่อ ปัดกวาด เก็บของ ภาพออกมาดูแล้วสบายตา สบายใจ ลบภาพคน "ฝ่ายกองกิจนิสิต" ไปฟาดกับ "คู่อริเก่า" ที่สึกออกไปแล้วได้บ้าง พระมอญและคฤหัสถ์ที่มาร่วมงานตั้งแต่วันที่ 8 จนเสร็จงาน ทุกรูปทุกคนพูดตรงกันว่า “มจร” สมเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อันดับหนึ่ง เพราะยิ่งใหญ่จริง ๆ พระทุกรูปช่วยกันทำงาน ต้อนรับด้วยความเป็นกัลยาณมิตร “เรา” ในฐานะศิษย์เก่าและคนทำงานประสานงานก็ปลื้มไปด้วย..


ขอให้พวกเราชาว “มจร” รักษาความรัก ความสามัคคี ช่วยคิดช่วยทำ รักษาภาพบรรยากาศแบบนี้กันไว้ให้นาน ๆ เด็กเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก ผิดเล็กผิดน้อยต้องรู้จักให้อภัย รู้จักเสียสละ แล้วความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อัตลักษณ์ของเราก็จะตราตรึงใจให้กับชาวพุทธทั้งในประเทศและนานาชาติตลอดไปครับ..

ขอบคุณภาพ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ,MCU TV-Channel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

"สกลนครดีกว่าเดิม"  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงที่นี่ (Intro)   แดนธรรมพุทธา สกลนครเมืองงาม โค ข้...