วันที่ 12 ธ.ค. 66 เฟชบุ๊ค อ. สุรพศ ทวีศักดิ์ (นักปรัชญาชายขอบ) ได้โพสต์ข้อความทำนองว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ปัจจุบันไม่มีนักวิชาการพุทธ ไม่มีผลงานทางภูมิปัญญาที่สังคมรู้จัก พร้อมฟาด “เสียดายภาษี” โดยมีความละเอียดดว่า
ยุคก่อนภูมิปัญญาพุทธค่อนข้างมีบทบาทชี้นำสังคมไทย เช่น คำสอนพุทธทาส ปัญญานันทะ เรื่อยมาถึงพระพยอมเป็นที่นิยมแพร่หลาย ในมหาลัยสงฆ์มีพระนักวิชาการชื่อดังอย่าง ป.อ. ปยุตฺโต, ระแบบ ฐิตญาโณ มีนักวิชาการพุทธแถวหน้าอย่างจำนงค์ ทองประเสริฐ, สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นต้น โดยที่มหาลัยสงฆ์ไม่ได้รับงบฯ อุดหนุนจากรัฐด้วยซ้ำ
ปัจจุบันมหาลัยสงฆ์เป็นมหาลัยในกำกับของรัฐ ได้รับงบฯ อุดหนุนจำนวนมาก รับทั้งพระและฆราวาสเข้าเรียน มีวิทยาเขตทั่วทุกภาคของประเทศน่าจะประมาณ 20 วิทยาเขต (บวก/ลบ)
แต่ไม่ปรากฏผลงานทางภูมิปัญญาพุทธที่สังคมรู้จักเลย ไม่มีนักวิชาการพุทธที่โดดเด่นที่มีบทบาทปัญญาชนสาธารณะนำเสนอพุทธธรรมเชิงก้าวหน้าร่วมอภิปรายปัญหาศีลธรรม สังคม การเมืองและอื่นๆ แม้แต่ปัญหาระบบโครงสร้างของพุทธศาสนากับรัฐที่ถูกคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามมากขึ้นๆ ก็ไม่มีนักวิชาการพุทธ ทั้งพระและฆราวาสสามารถร่วมอภิปรายถกเถียงอย่างเป็นที่ยอมรับทางสาธารณะเลย
เห็นมีเพียงผู้บริหารมหาลัยสงฆ์ “บางรูป” ที่มีจุดยืนอนุรักษ์นิยมทางศาสนาแบบสวนกระแสสังคมการเมืองสมัยใหม่ พยายามไปมีคอนเนคชั่นกับพรรคการเมืองบางพรรค เพื่อผลักดันกฎหมายอุปถัมภ์ศาสนา ธนาคารพุทธฯ เป็นต้น แต่ก็ไม่ต่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองในยุคนี้ที่ขาดความรู้ทางวิชาการที่น่าเชื่อถือในการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับความคิดของคนรุ่นใหม่
จะว่าไปก็ “เสียดายภาษี” ครับ ประชาชนจ่ายภาษีไปแล้ว แต่ไม่มีผลตอบแทนเป็นความงอกงามทางปัญญาพุทธที่มีพลังสนับสนุนคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือความเป็นธรรมทางสังคมในมิติอื่นๆ เราจ่ายภาษีสนับสนุนการผลิตสร้างความคิด คุณค่าแบบอนุรักษ์นิยมที่มีพลังถ่วงความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า เหมือนจ่ายภาษีให้สถาบันอนุรักษ์นิยมอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยและสังคมที่เป็นธรรม
อย่างน้อยยุคที่มหาลัยสงฆ์ยังไม่ได้งบฯ อุดหนุนจากรัฐ ยังผลิตสร้างภูมิปัญญาพุทธเพื่อสังคมอย่างเห็นได้ชัดมากกว่ายุคปัจจุบัน แม้ว่าภูมิปัญญาพุทธแบบที่เคยผลิตสร้างขึ้นมานั้นจะยังเป็นที่ถกเถียงในแง่ครอบงำ (dominate) มากกว่าปลดปล่อย (liberate) ก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น