วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า อาจารย์สุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ อ.ขาบ ถ่ายทอดการสร้างสันติสุขในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้แนวคิดของ Local สู่เลอค่า ผ่านการสร้างศิลปะของชุมชนซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชน โดยมุ่งให้พระสงฆ์รุ่นใหม่ออกไปสร้างแบรนด์สันติสุขในชุมชนผ่านการออกแบบ โดยมุ่งให้ชุมชนมีรายได้สร้างความยั่งยืนของคนในชุมชนเป็นการสร้างสันติภาพปากท้อง ผ่านการพึ่งตนเองได้ โดยย้ำว่าวัดจะต้องมีจุดเช็คอินมีความเรียบง่าย วัดมีความงามจากภายใน รวมถึงวัดมีการสร้างศิลปะจากภายใน วัดควรสร้างแบรนด์สันติภาพผ่านความงาม ความดี ความเรียบง่ายความสงบ นำศิลปะเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดความสมดุล เรียบ นิ่ง งาม ประสานหัวใจ
โดยอาจารย์ขาบเล่าว่าหมู่บ้านที่ผมเติบโตมา มีบ้านเรือนแค่สี่สิบห้าหลังคาเรือนเท่านั้น “หมู่บ้านผมตั้งอยู่บนที่ดอนแปลว่าน้ำท่วมไม่ถึง ล้อมรอบด้วยนาข้าว ดังนั้นตอนหน้าฝน ที่นี่จะมีทัศนียภาพงดงามมาก เพราะมองเห็นฟ้าครามสะท้อนน้ำในทุ่งนา เว้นเพียงแค่หย่อมเขียวหย่อมน้อย ซึ่งก็คือหมู่บ้านที่ไม่สามารถขยับขยายไปมากกว่าสี่สิบห้าหลังคาเรือน เพราะที่ดอนมีขนาดเพียงเท่านี้ สวยงามเหมือนภาพฝันในความทรงจำ “ชาวบ้านที่นี่มีที่นาสำหรับปลูกข้าวไว้กิน นอกจากนี้ยังมีห้วย หนอง คลอง บึง และเรือกสวนไร่นาแบบผสมผสาน เกษตรกรรมมาจากวิถีชีวิตนี้ ในการดำรงชีวิต เราแทบไม่ต้องซื้อหาอะไรเลย เพราะอยู่อย่างพึ่งพิงธรรมชาติ โดยมีความพอเพียงเป็นพื้นหลัง ตั้งแต่อดีตจนถึงเมื่อแปดปีที่แล้ว”
เมื่อพื้นที่บริเวณนี้ถูกประกาศให้เป็นจังหวัดใหม่แห่งล่าสุดของประเทศไทย การพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงก็หลั่งไหลเข้ามา ขาบบอกว่าชาวบ้านถูกชักชวนให้ปลูกยางพารา ซึ่งเหมือนจะดีในแง่เศรษฐกิจช่วง ๓ – ๔ ปีแรก แต่หลังจากนั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง นอกจากเรื่องรายได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ยังกระทบคุณภาพชีวิต “เมื่อก่อนชาวบ้านทำนา เวลาว่างก็มีอาชีพเสริมโดยการนำต้นคล้า พืชท้องถิ่นที่ขึ้นรอบหมู่บ้านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขาย โดยเฉพาะกระติ๊บข้าวเหนียว ภาพที่ผมเห็นจนชินตาคือปฏิสัมพันธ์ของชาวบ้านระหว่างสานคล้าที่พูดคุยเล่นกันไป ทำงานกันไปด้วย ทำให้ชุมชนเหนียวแน่นเข้มแข็งและมีชีวิตชีวา “พอเปลี่ยนมาปลูกยางพารา วิถีชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ชาวบ้านต้องตื่นตั้งแต่ตีสามเพื่อไปกรีดยางแต่เช้ามืด หลังกรีดยางเสร็จ สายๆ ทุกคนแยกย้ายไปนอนเอาแรงจนถึงบ่ายแก่ๆ จากหมู่บ้านที่เคยคึกคักเปลี่ยนเป็นเงียบเชียบ เหมือนเมืองร้าง ไม่มีคน ไม่มีกิจกรรม ความสุนทรีย์ในชีวิตค่อยๆ หายไป” ขาบเอ่ยขึ้นช้าๆ
ต่อจิ๊กซอว์ชีวิต “ผมเรียนชั้นประถมที่บ้านนอก พอโตขึ้นก็เข้ามาเรียนในตัวอำเภอและจังหวัดตามลำดับ ที่ต้องเข้ามาเรียนในเมือง เพราะที่ชนบทในสมัยนั้น อนาคตโอกาสทางการศึกษาถือว่าน้อยกว่าในเมืองมาก จึงแล้วแต่ว่าครอบครัวไหนมองเห็นและให้ความสำคัญกับเรื่องโอกาสทางการศึกษา ก็ต้องแลกกับการส่งลูกเข้ามาเรียนในเมือง” ขาบรู้ตัวมาตลอดว่าชอบงานด้านศิลปะ แต่เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่ามันคืออะไร และควรต่อยอดไปทางด้านไหน เขาจึงเลือกเรียนบริหารการตลาด และจบปริญญาตรีได้ภายในสามปี “ผมเรียนมหาวิทยาลัยเปิด ใครมีความมุ่งมั่น ก็ขยันเก็บหน่วยกิตเอา เผอิญผมเป็นคนรักเรียน และตระหนักอยู่เสมอว่านี่คือโอกาสทางการศึกษา “เมื่อมีเวลาว่างพอจัดสรรได้ ผมก็ทำอยู่สองอย่างคืองานจิตอาสาและเข้าร้านหนังสือ
โดยเฉพาะหนังสืออาหารต่างประเทศที่มีการจัดเรียงภาพสวยงาม ประณีตและแปลกใหม่ โดยในหนังสือแต่ละเล่มจะมีรายละเอียดเขียนไว้เลยว่า เรื่อง ภาพถ่ายและฟู้ดสไตลิ่ง (Food Styling) โดยใคร ผมไม่รู้จักคำว่าฟู้ดสไตลิสต์ (Food Stylist) มาก่อน แต่เห็นเท่านั้นก็จับได้ทันทีว่ามันคืออาชีพ “ตั้งแต่เล็กแถวหมู่บ้านเป็นชุมชนอินโดจีน ผมวิ่งเล่นโตมากับเพื่อนคนไทย ลาว เวียด ทำให้ได้คลุกคลีกับอาหารพื้นถิ่นหลายที่มา เรื่องอาหารจึงอยู่ในสายเลือด ประกอบกับความชอบในศิลปะ พอได้เห็นหนังสืออาหารต่างประเทศเหล่านั้น มันจึงเป็นแรงบันดาลใจมหาศาลให้ผมอยากฝึกฝนด้านฟู้ดสไตลิ่ง แต่เพราะไม่มีโอกาสได้เรียนศิลปะมาโดยตรง ฉะนั้นหนังสือคือครู ผมเปิดดูหนังสือเยอะมากนับไม่ถ้วน” แต่นั่นก็ไม่เพียงพอ ความรู้ต้องมาพร้อมการฝึกฝนด้วย ขาบเริ่มหิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาดทุกวันหยุด เขารื้อฟื้นการปรุงอาหารเวียดนามกับอาหารลาว ไปพร้อมๆ กับการหัดทำฟู้ดสไตลิ่งแบบฝรั่งตามที่เห็นในหนังสือ “ปรุงเอง จัดสไตลิ่งเอง ถ่ายรูปเอง กินเอง อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง แต่พอมันเข้าที่เข้าทาง จะเหมือนเวลาต่อจิ๊กซอว์แล้วลงล็อก เราอยากค้นหา อยากทำมันต่อไปเรื่อยๆ” เขาเอ่ยยิ้มๆ
รู้จักวัตถุดิบ รู้จักตัวเอง “บุคคลที่ผมให้ความเคารพและชื่นชมคือ ครูโต-หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ ท่านเป็นฟู้ดสไตลิสต์ที่มีผลงานมากมาย วันหนึ่งมีโอกาสเจอครูโตโดยบังเอิญ ผมเลยเดินเข้าไปสวัสดีและแนะนำตัวเพื่อขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ครูโตคงเห็นว่าเจ้าคนนี้ดูมีความตั้งใจใสซื่อ เลยให้โอกาสรับเป็นลูกศิษย์ หลังจากนั้นเวลาครูโตมีงาน ท่านก็จะให้ผมติดสอยห้อยตามไปด้วย ผมจึงเรียนรู้จากการสังเกตและจดจำคำครูโต “ท่านสอนทุกอย่างตั้งแต่ความรู้ทางศิลปะ เทคนิคในการทำงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิต กระบวนการเรียนการสอนกับครูโตเน้นที่ลงมือทำ ท่านปล่อยให้ผมทำและอธิบายอย่างละเอียดหลังจบงานว่าต้องเสริมหรือปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง ความเคี่ยวกรำทำให้ผมเก่งขึ้น ครูโตคือผู้ให้ที่มอบโอกาสให้ชีวิต ท่านคือครูที่ดีที่สุดสำหรับผม” ขาบอธิบายว่า หลักของคำว่าฟู้ดสไตลิ่ง อย่างแรกต้องเข้าใจวัตถุดิบ อย่างที่สองต้องเข้าใจธรรมชาติการกินของมนุษย์ และสุดท้ายต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบของศิลปะ เพราะสุดท้ายแล้วชิ้นงานของเราคืออาหาร ดังนั้นมันจะสวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย “จานอาหารตรงหน้าจะสวยได้อย่างไร เป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบและการจัดพื้นที่วางคู่สี วัตถุดิบสีนี้ต้องจับคู่กับภาชนะสีอะไร แล้วต้องจัดวางแบบไหน โดยให้ความสำคัญกับอาหารในจานเป็นที่หนึ่ง ของที่อยู่ในจานจะต้องสวยโดดเด่นของออกมาโดยไม่พึ่งพร็อพ บางคนไปให้ความสำคัญกับพร็อพก่อนอาหารในจานก่อนเสียอย่างงั้น” ทุกวันนี้ ขาบคือฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารมากว่า ๒๐ ปี มีรางวัลระดับโลกการันตีฝีมือมากมาย ในขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่ทิ้งความชอบในการทำงานจิตอาสา ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ขาบเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญผู้ทำงานอาสาสมัครในมูลนิธิโครงการหลวง “อย่างที่ทราบกันว่ามูลนิธิโครงการหลวงเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นเยี่ยม มีผลิตภัณฑ์คุณภาพดีมากมาย ขายให้ประชาชนในราคาย่อมเยา และที่สำคัญคือมอบองค์ความรู้และสร้างอาชีพเกษตรกรรมยั่งยืนให้คนชนบท โดยเฉพาะชาวเขาที่อยู่บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ ผมต้องขึ้นไปบนดอยต่างๆ เพื่อตามหาวัตถุดิบสำหรับนำมาพัฒนาเป็นอาหารสร้างสรรค์ ทำให้ได้ไปพูดคุยกับเกษตรกรมากมายในพื้นที่ “ผมได้เห็นว่าความยั่งยืนถูกทำให้จับต้องได้อย่างไร โดยหลอมรวมเข้ากับการทำเกษตรกรรม วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและการพัฒนาชุมชน แม้พื้นเพผมเป็นคนอีสาน แต่ที่ที่ผมจากมาก็มีบริบทใกล้เคียงกัน ทำให้ผมซึมซับและอินกับเรื่องพวกนี้ พวกเราล้วนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัชกาลที่ ๙ “ผมเลยคิดไว้ในใจอยู่เสมอว่า วันหนึ่งเมื่อมีความพร้อม เราจะต้องกลับไปพัฒนาความยั่งยืนนี้ที่บ้านเราด้วย เพราะบ้านในความทรงจำของผมนั้นสวยงาม แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้ทุกวันนี้หมู่บ้านที่เคยมีสีสัน เงียบเหงาและไม่เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เลยตั้งปณิธานไว้ว่าเมื่อถึงวันที่พร้อม ผมจะเป็นคนคนนั้น คนที่กลับบ้านไปต่อยอดภูมิปัญญาให้มีมูลค่าและคุณค่าที่ยั่งยืน”
เปลี่ยนบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ๒ เหตุการณ์สำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำของขาบ คือรัชกาลที่ ๙ สวรรคตและต่อมาเพียงเดือนเดียวคุณแม่ของเขาจากไป “การสูญเสียบุคคลที่เคารพรักที่สุดในชีวิตพร้อมๆ กัน ทำให้ผมเสียหลักในชีวิตไปเลย พอตั้งสติได้ ค่อยๆ ทบทวนอย่างถี่ถ้วน คิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่จะทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้นาน นั่นคือทำอะไรอย่างอย่างให้กับที่เราเกิดมา และสานต่อพระราชปณิธานในการก่อร่างความยั่งยืนให้ประเทศไทย” จากส่วนหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ทุกวันนี้บ้านเกิดในหมู่บ้านขนาด ๔๕ หลังคาเรือนของขาบ กลายเป็นพื้นที่ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ “ผมสนใจเรื่องนวัตกรรมการท่องเที่ยว เพราะผมอยากฟื้นคืนความสุขสดชื่นของหมู่บ้านให้กลับมา และผมเชื่อว่ามันต้องมีหนทางในการสร้างรายได้ให้ชุมชน จากการนำภูมิปัญญามาต่อยอดและเก็บรักษา มรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเอาไว้ ตัวผมเองทำงานด้านฟู้ดสไตลิ่ง การสร้างงานศิลปะและการสร้างแบรนด์มานานเป็นสิบๆ ปี ผมจะใช้ทักษะนี้ ทำให้บ้านของผมเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้ได้” ครอบครัวสุริยะอุทิศเรือนไทยอีสานโบราณอายุ ๗๐ ปีของครอบครัวให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้แบบดั้งเดิมของชาวอีสานไว้ตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้าน ตั้งแต่เรื่องบ้าน การใช้ชีวิต การปรุงอาหาร การแต่งกาย เชื่อมโยงไปจนถึงวิถีเกษตรกรรมและหัตถกรรมของชุมชน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชุมชนของครอบครัวคนชนบทในอดีต ที่เรียกว่า ‘มีชีวิต’ เพราะบ้านหลังนี้ยังคงเป็นที่พำนักของครอบครัวสุริยะ ยังมีการใช้ชีวิตดำเนินไปภายใต้พิพิธภัณฑ์ที่เปิดต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน ขาบออกแบบและดูแลการปรับปรุงบ้านด้วยตัวเอง อัตลักษณ์ของบ้านตามแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมถูกเก็บไว้อย่างครบถ้วน และเพิ่มเอกลักษณ์ด้วยการทาสีบานประตูหน้าต่างด้วยสีเขียวสดใส สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติในพื้นที่ โดยเลือกใช้สีไทยโทนอย่างสีเขียวตั้งแช “หัวใจของบ้านคือห้องครัว ผมเติบโต ปลูกฝังความรักอาหารจากก้นครัวแห่งนี้ เราจัดแสดงข้าวของในครัวแบบอีสานชนบทแท้ๆ เอาไว้อย่างสมบูรณ์ มีทั้งชิ้นที่เคยใช้งานจริงและชิ้นที่ยังคงใช้งานอยู่ มีห้องจัดแสดงผ้า ซึ่งเป็นผ้าซิ่นไหมมรดกตกทอดของตระกูลที่ดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากรุ่นสู่รุ่นจัดแสดงอยู่ด้วย “เอกลักษณ์สำคัญของบ้านไทยอีสาน คือระเบียงบ้านกว้างขวางสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัว พื้นที่ตรงนี้ผมทำงานร่วมกับคนในหมู่บ้าน บริการจัดสำรับทานอาหารและทำพิธีบายศรีให้นักท่องเที่ยว ชุมชนเป็นผู้หุงหาสำรับโดยใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นที่ซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ เมื่อมีนักท่องเที่ยว ก็มีเงินหมุนเวียนเข้ามาสู่หมู่บ้าน เราได้อนุรักษ์และสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน
ชุบชีวิตชุมชนด้วยนวัตวิถี อาจารย์ขาบบอกว่า พิพิธภัณฑ์คือจุดเริ่มต้นที่จะค่อยๆ ผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นภายในหมู่บ้าน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจและความใส่ใจอย่างมาก ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป “เราค่อยๆ ดึงคนในหมู่บ้านเข้ามาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม จากงานเล็กๆ อย่างการจัดสำหรับและทำพิธีบายศรี กิจกรรมของเราก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเป็นตลาดชุมชนและอีเวนต์เทศกาลสำคัญอย่างงานบุญบั้งไฟพญานาค “หมู่บ้านของเรามีความเชื่อเรื่องพญานาคมายาวนาน โจทย์คือจะทำอย่างไรให้สิ่งที่อยู่มานานนั้นร่วมสมัย จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ชื่อ ‘วาดบ้าน แปลงเมือง’ ที่ชุมชนของเราทำร่วมกับนักศึกษา หลักสูตรจิตรกรรมเพื่อสังคม
ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าวได้นิสิตระดับปริญญาตรี "มจร" ซึ่งเป็นชาว สปป.ลาว เจ้าของยูทูปช่อง"ตุ๊กตาสาวลาวเรียนไทย"ที่มีผู้ติดตาม 9.26 หมื่นคนได้เข้ารับฟังด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น