เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา คณะเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท เชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จํากัด เตรียมการเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จํากัด เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุมอรพิม โรงแรมสีมาธานี อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เล็งเห็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในการเป็นกลไก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต New Engine of Growth ต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม ยานยนต์เดิมไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนสําคัญ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท เชิดชัยคอร์ปอเรชั่น จํากัด จึงมีแนวทางในการยกระดับทักษะความสามารถของบุคลากรที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยการจัดทําหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จัดการเรียนการสอนใน รูปแบบการเรียนระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ (CWIE : Cooperative and Work Integrated Education) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กับ บริษัท เชิดชัยคอร์ ปอเรชั่น และร่วมกันในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยสู่การพาณิชย์ในกรอบระยะเวลา 5 ปีการศึกษา นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 ถึง ปีการศึกษา 2571 การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นส่วนสนับสนุนให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า รองรับตลาดยานยนต์ที่มีการปรับตัวของโลกต่อไปในอนาคต
“ขอแสดงความยินดีและคิดว่าสิ่งที่ท่านอธิการบดีและเชิดชัย คอร์ปอเรชั่นได้ทำในการที่มีความร่วมมือเรื่องนี้ และมองเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในโคราช เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ถือว่าเป็นโคราชวิชั่น มองออกว่าทิศทางการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาจะต้องเดินไปอย่างไร ฉะนั้น เรื่องการให้ความรู้ให้การศึกษาหลักสูตรต่างๆ หรือความเชื่อมโยงกับบทบาทของมหาวิทยาลัยกับท้องถิ่นกับผู้ประกอบการในโคราช จะต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ” นายสุวัจน์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น