"เสริมศักดิ์" เดินหน้าออกกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของไทย สร้างสังคมแห่งความเสมอภาค คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิต ทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และภาคีองค์กรเครือข่ายด้านชาติพันธุ์ จัดงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์: เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค ณ ชุมชนบ้านผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน และกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศกว่า 800 คน ร่วมงาน
ในโอกาสนี้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมเป็นประธานในงาน และกล่าวว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาคกัน โดยมีนโยบายให้ความเท่าเทียม โดยจะดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยสวัสดิการโดยรัฐ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่ม ชาติพันธุ์ทุกฉบับที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในขณะนี้ เพื่อให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาคในฐานะพลเมืองไทย”
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ยังกล่าวด้วยว่า “ผมเห็นว่า กฎหมายชาติพันธุ์เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงอัตลักษณ์ที่หลากหลาย หนุนเสริมให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และการมีกฎหมายชาติพันธุ์นี้ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในการขับเคลื่อนสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย ให้คนทุกกลุ่มวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่เป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จึงใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล”
“การจัดงาน KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์ในวันนี้ ถือเป็นหมุดหมายเริ่มต้น ที่กระทรวงวัฒนธรรมในนามของรัฐบาล จะร่วมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่ม ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน แสดงเจตนารมณ์เดินหน้าสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่ทุกกลุ่มวัฒนธรรมได้รับการคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมศักยภาพอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้” นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานหลักที่จัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า “การจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่จะให้การยอมรับตัวตนและการดำรงอยู่ของกลุ่ม ชาติพันธุ์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 70 โดยได้จัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนถึง 36 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นมากกว่า 3,000 คน ถือเป็นการจัดทำร่างกฎหมายที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง”
ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณารับหลักการ โดยมีหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เน้นสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย สร้างพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม กฎหมายฉบับนี้ยังมีการกำหนดให้มีเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ "ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม" มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ถือเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าในการใช้มิติทางงวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกวัฒนธรรม
การมีกฎหมายครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เป็นได้ประโยชน์เฉพาะกับประชากรกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนบนบนฐานเศรษฐกิจฐานเชิงวัฒนธรรม สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ด้วยการยอมรับและเคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ลดเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม และสนับสนุนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างสังคมแห่งความเสมอภาคลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนา
นอกจากร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีขีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายลักษณะเดียวกันอีก 3 ฉบับ ซึ่งจะได้นำมาพิจารณาร่วมกัน ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยที่กำลังจะมีกฎหมายที่สนับสนุนและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และให้การยอมรับสิทธิของคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเสมอภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น