เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมบริษัท บริษัท วิสาหกิจชุมชนโกโก้ จังหวัดระนอง โดยมี นายธันย์ปวัฒน์ เศวตภัทรวาทิน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ระนอง ให้การต้อนรับ และกล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้กันเป็นจำนวนมาก เพราะโก้โก้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง จึงได้เห็นถึงโอกาสจากโกโก้พืชท้องถิ่นของจังหวัด เป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักโกโก้ อีกทั้งเล็งเห็นโอกาสที่จะผลักดันให้เป็น COCOA HUB เมืองไทย และช่วยผลักดันตลาดโกโก้ในเมืองไทยให้เข้าสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต ซึ่งวิสาหกิจชุมชนโกโก้ระนอง ถือเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์โกโก้ที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างแน่นอน
จากการที่สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโกโก้ และกรรมวิธีในการผลิตโกโก้ที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งคาเฟ่ เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ และได้หารือถึงการส่งเสริมการขยายโอกาสการส่งออก ตลอดจนความสามารถทางการแข่งขันของสินค้า และกระจายสินค้า ซึ่งตนได้ฝากถึงผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยในด้านการควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานสม่ำเสมอซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งออกควบคู่ไปกับการจัดทำระบบบริหารจัดการที่ดี
สำหรับ วิสาหกิจชุมชนโกโก้ระนอง เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยนายธันย์ปวัฒน์ เศวตภัทรวาทิน ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SME ปี 2564 ในกลุ่มคลัสเตอร์โกโก้ภาคใต้และได้รับเลือกจากกลุ่มผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประสานงานคลัสเตอร์ หรือ CDA (Cluster DevelopmentAgent : CDA) ของกลุ่ม โดย สสว. ได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ผลที่ได้รับจากการพัฒนา พบว่า ผู้ประกอบการสามารถลดการสูญเสียต้นทุนได้ โดยเก็บรักษาวัตถุดิบเมล็ดโกโก้แห้ง หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการจัดการสวนโกโก้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการปรับปรุงสถานที่ และวิธีการ จนสามารถขอการรับรองสินค้าได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มกลุ่มลูกค้า เพิ่มช่องทางการขาย และสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นต่อไปได้อย่างดี ปัจจุบันได้จดทะเบียนนิติบุคคลเป็น บริษัท วิสาหกิจชุมชนโกโก้ระนอง จำกัด และเป็นผู้ก่อตั้ง และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาเคาโอ้-โกโก้จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการด้านการตลาด โดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ทั่วประเทศไทย
รมช.นภินทร กล่าวว่า การดำเนินการสนับสนุน และพัฒนาคลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง หลายกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย ตนเห็นถึงความสำคัญของการสร้าง และการพัฒนาคลัสเตอร์ของผู้ประกอบการ SME ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยมีการสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และสามารถจัดจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ สอดรับกับนโยบายการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจสู่อนาคตในการสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น