วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

วธ. ยกย่อง 153 องค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ เสริมแรงจูงใจขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม



ส่งเสริมสังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรม ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

วันที่ 24 มกราคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม เป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรประกาศยกย่ององค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สังกัดองค์กรอิสระ หน่วยราชการอิสระและองค์กรภาคเอกชน ในส่วนกลาง โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา  ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม เข้าร่วมพิธี ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร


 ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งเป็นแผนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2565) มีเป้าหมาย “คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และประเทศไทยปลอดทุจริตและประพฤติมิชอบ” และมีตัวชี้วัด ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้เห็นชอบผลการประเมินและการประกาศยกย่อง ชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับพัฒนาคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวน 42,430 แห่ง ได้รับเกียรติบัตรจากประธานอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด ระดับกระทรวง กรุงเทพมหานคร และประธานอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ตามประเภทและระดับที่ประเมิน 


ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ กำหนดจัดงานพิธีมอบเกียรติบัตรประกาศยกย่ององค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สังกัดองค์กรอิสระ หน่วยราชการอิสระและองค์กรภาคเอกชน ในส่วนกลาง ในวันพุธที่  24  มกราคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานราชการอิสระและองค์กรภาคเอกชน จำนวน 153 องค์กร ประกอบด้วย ระดับส่งเสริมคุณธรรม 80 องค์กร และระดับคุณธรรมต้นแบบ 73 องค์กร เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเสริมแรงจูงใจในการส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการสร้าง “สังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรม ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”


นางยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมไทยจะเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งและมั่นคงได้ ต้องได้รับความร่วมมือการขับเคลื่อนการดำเนินงานจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมสร้างสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและสะท้อนพฤติกรรมที่แสดงออกถึงคุณธรรม 5 ประการ“พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” คนไทยได้รับการพัฒนาทักษะชีวิต รวมทั้งน้อมนำหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566- 2570) และเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ มีระบบการบริหารงานด้านคุณธรรมที่มีมาตรฐาน มีแผนงานและกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม สร้างวัฒนธรรมให้บุคลากรภาครัฐมีความสุจริต ส่งผลให้ค่าคะแนนการประเมินดัชนีคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA เพิ่มสูงขึ้น อันจะนำสังคมไทยสู่สังคมคุณธรรมอย่างยั่งยืน

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎก 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกและบทบาทในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิ...