ปลัดมหาดไทยร่วมกับพระครูต้น วัดระฆังโฆสิตาราม ลงพื้นที่วัดระฆัง 150 ไร่ จ.นครนายก เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น้อมนำพระราชปณิธานสู่การขยายผล "ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวทางพุทธอารยเกษตร" เพื่อเป็นแหล่งเสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างต้นแบบการพัฒนาตามหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ลงพื้นที่ของวัดระฆัง จำนวน 150 ไร่ บริเวณคลอง 15 อ.องครักษ์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาพัฒนาและออกแบบภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวทางพุทธอารยเกษตร” โดยมีนายณัฐ บุญข้าเหลือ นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการเเละผังเมืองจังหวัดนครนายก เป็นผู้ชี้เเจงรายละเอียดโครงการฯ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นตั้งใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” ที่พระราชทานผ่านพระราชดำรัสความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยถอดบทเรียนความสำเร็จอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ จำนวนกว่า 5,151 โครงการ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด สู่การเป็น "อารยเกษตร" เพื่อให้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า คน ภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม เพื่อสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเป็นอารยะ พร้อมน้อมนำหลัก บวร. (บ้าน วัด ราชการ) ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา อีกทั้งยังมีรูปแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมที่สวยงาม กระทรวงมหาดไทยจึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางชุมชนและสังคม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ตามหลักอารยเกษตร เป็นเป้าหมายร่วมที่สำคัญของทุกภาคส่วนที่มีความเชื่อมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆในระดับท้องถิ่นหรือระดับพื้นที่ได้ครบทุกมิติ และตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น กระทรวงมหาดไทยและคณะสงฆ์ได้ส่งเสริมให้เกิดหุ้นส่วนในการพัฒนาด้วยการน้อมนำการพัฒนาตามหลัก “บวร” อันหมายถึงความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่าง บ้าน+วัด+ราชการ นำมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยรอบพื้นที่ของวัดระฆัง -ขนาด 150 ไร่ ที่คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อนำไปสู่การจัดทำแบบแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวทางพุทธอารยเกษตร” เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในทุกมิติ
เริ่มจากการพัฒนาพื้นที่ “ชุมชนอารยเกษตร” ตามหลักทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน (บ้าน) ในบริเวณด้านท้ายแปลงที่ดินด้านทิศตะวันตก ที่ต้องคำนึงถึงบริหารจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาพื้นที่เพื่อการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแหล่งรวมปัจจัย 4 คือ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และยารักษาโรค มีการปลูกป่า 3 อย่าง ที่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง อาทิ ป่าไม้ใช้สอย ก็จะนำมาสร้างบ้าน สร้างที่อยู่อาศัย มีป่าไม้กินได้ นำเป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร มีป่าเศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน และประโยชน์ในประการสุดท้าย คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำและสร้างสภาพแวดล้อมให้ร่มเย็นช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ และลดภาวะโลกร้อน มีโคก มีหนอง มีนา มีคลองไส้ไก่เป็นลำห้วยลำธาร มีการขุดหลุมขนมครกอยู่กระจายในพื้นที่ ตนจึงได้แนะนำให้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ในภาพฝีพระหัตถ์จิตอาสา Happy Family Happy Farmer เรื่องการขุดดิน ด้วยประโยคที่ว่า "Top Soil" การขุดดินลึกต้องแยกเป็นกองไว้ เพื่อให้ชั้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดได้อยู่ด้านบน เป็นการขุดแบบประณีต ซึ่งตนจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วยการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อควบคุมการขุดหน้าดินต่อไป
พื้นที่บริเวณตอนกลางของแปลงที่ดิน มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง “พุทธอารยเกษตร” (วัด) มีความเป็น “ศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ” ของชุมชนและสังคมพัฒนากายภาพพื้นที่ให้ส่งเสริมความเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่สงบ สัปปายะ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณของชุมชนและสังคม เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาทางจิตวิญญาณ ทั้งบุญกริยา ทาน ศีล ภาวนา และไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา โดยการออกแบบกายภาพ พื้นที่กิจกรรมและการบริหารจัดการที่เหมาะสม สร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของร่วมกันกับชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง การเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ของวัดระฆัง และการร่วมดูแลรักษาร่วมพัฒนาพื้นที่ของวัดระฆังต่อไป โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาพื้นที่วัด ด้วยความสมถะ สมประโยชน์ การนำปัจจัยมาใช้ถึงต้องคำนึงและยึดหลักที่ว่า “ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ศิลปะงามตา” กลมกลืนกับประวัติศาสตร์ สุนทรียภาพของวัด วิถีชีวิตชุมชน ทั้งรูปแบบและการใช้งาน ให้ผู้ใช้งานจริง เช่น ญาติโยม ชุมชน นักท่องเที่ยว หรือหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับวัด มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบและการใช้งาน การเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับพื้นที่ความเข้าใจในความงามและคุณค่าของแต่ละพื้นที่มีความต่างกัน ความงามเกิดจากการใช้งานนำไปสู่รูปแบบที่เหมาะสม สอดคล้อง นำหลักสัปปายะมาใช้ในการออกแบบ เพื่อส่งเสริมบทบาทหลัก คือ การเผยแผ่ธรรมะ สอดแทรกภาพปริศนาธรรมในพื้นที่อาคารและการจัดภูมิทัศน์เพื่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ประชาชนในพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เมื่อการพัฒนาพื้นที่ในขั้นพื้นฐานมีความมั่นคงพร้อมพอควรแล้ว ก็สามารถต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ไปสู่ขั้นก้าวหน้าที่เรียกว่า “อารยเกษตร” เป็นการพัฒนาที่สามารถก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ในแบบองค์รวมในหลายด้าน เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยพื้นที่บริเวณด้านหน้าแปลงที่ดินด้านทิศตะวันออกที่ติดกับถนนคลอง 15 มีแนวคิดในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ร่วมกัน (ราชการ) จัดให้เป็นพื้นที่ “สวนสาธารณะวิถีพุทธ” โดยออกแบบให้มีลานกิจกรรมด้านหน้าให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมทางด้านการเกษตร ไม้ดอก ไม้ประดับ ลานกิจกรรมจักรยานขาไถของเด็ก ๆ ลานออกกำลังกายของชุมชน ออกเเบบเน้นเปิดทางเข้าด้านหน้าตรงกลางพื้นที่เพื่อเปิดมุมมองทางเข้าให้สวยงาม เเละเน้นเเนวจุดนำสายตาเพื่อมุ่งไปสู่ลานชินบัญชร เเละลาน 9 ต่อ 10 จนถึงองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ซึ่งทีมออกเเบบต้องการสื่อถึงหลักธรรม พุทธอารยเกษตร มีการจัดภูมิสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีบ้านไทย 4 ภาค ลานไม้ดอก ไม้ประดับ อันเป็นจุดเด่นของพื้นที่ ที่เหมาะเเก่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ เป็นต้น นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ "ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวทางพุทธอารยเกษตร" นครนายก มีการปรับปรุงพื้นที่ มีพื้นที่สำหรับปลูกสมุนไพร ปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้น พร้อมทำให้ต้นไม้ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้พันธุกรรมพืช ด้วยการน้อมนำแนวทางตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทำป้ายให้ความรู้ชื่อและสรรพคุณของต้นไม้ เพื่อสามารถใช้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ด้านพันธุกรรมพืชสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งเมื่อคนรู้จักต้นไม้ รู้ประโยชน์ ก็จะมีความรักต้นไม้ และเป็นผู้เฉลียวฉลาดรอบรู้เรื่องพันธุ์ไม้ นอกจากนี้ต้องพัฒนาปรับพื้นที่ให้มีความสวยงาม มีอารยธรรม มีคุณธรรม สวยงามด้านจิตใจ ซึ่งความสวยงามด้านจิตใจที่เรามีจะได้ช่วยกันบริหารจัดการเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความผาสุก มีการรวมกลุ่มกัน รวมจิตใจ รวมน้ำใจ รวมความรักความสามัคคี ในการที่จะเอาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปขยายผลให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกครัวเรือน ดังนั้น เรื่องใหญ่ของคนมหาดไทย คือ การที่จะทำให้คนรวมจิตรวมใจกันในการที่จะช่วยกัน Change for Good สร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้เกิดกับพี่น้องประชาชนได้ ต้องน้อมนำหลักการทรงงาน คือ ร่วมกันคิด ร่วมพูดคุยปรึกษาหารือ ร่วมกันทำ และสุดท้ายก็จะได้ร่วมรับประโยชน์ทั่วกัน และการดำเนินการในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทยและคณะสงฆ์ ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนผ่าน MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม และ MOU ขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานอำนวยการโครงการเป็นหลักชัย ร่วมกับผู้นำศาสนาทุกศาสนา ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ในศีลในธรรมของศาสนาที่นับถือ เป็น "หมู่บ้านคุณธรรม" ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในความดี ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และดูแลสังคมให้มีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า มีความมั่นคงในระยะยาวด้วย “พุทธอารยเกษตร” ซึ่งจะเป็นมรดกในอนาคตสำหรับลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ด้านพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร กล่าวว่า พื้นที่โครงการ "ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวทางพุทธอารยเกษตร" จำนวน 150 ไร่ ของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ซึ่งมีพระเดชพระคุณ พระเทพประสิทธิคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เป็นหลักชัย ได้มีดำริให้ความเห็นชอบ และที่ประชุมทางวัดได้มอบหมายให้อาตมภาพได้ร่วมประชุมหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการพื้นที่ เพื่อออกแบบเป็น "ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนตามแนวทางพุทธอารยเกษตร" เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และทรงมุ่งมั่นในการสืบสานในพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขออนุโมทนาโยมสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ตลอดจนครบทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อที่จะได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดี สร้างคุณประโยชน์อันไพบูลย์ให้เกิดกับบรรดาพุทธศาสนิกชนตลอดจนปุถุชนผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมกันสร้างสิ่งที่ดีให้กับชีวิตของตนเอง โดยเมื่อพื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาสมดังความมุ่งมาดปรารถนาของทุกคนแล้ว จะสะท้อนให้เห็นสิ่งที่พวกเราจะได้สัมผัส นั่นคือ ธรรมชาติเป็นรมณีย์ อันมีสัปปายะ 7 ประการ ได้แก่ 1) อาวาสสัปปายะ ถิ่นที่อยู่อันเหมาะสม 2) โคจรสัปปายะ สถานที่อันสะดวกต่อการเดินทาง 3) ภัสสสัปปายะ พูดคุยแต่เรื่องที่เป็นสาราณียธรรม 4) ปุคคลสัปปายะ มีบุคคลเป็นกัลยาณมิตรคอยแนะนำ 5) โภชนสัปปายะ มีอาหารที่เหมาะสม 6) อุตุสัปปายะ มีดิน ฟ้า อากาศ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 7) อิริยาปถสัปปายะ มีอิริยาบถที่เหมาะ ที่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น