เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า ดีอี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มร้านค้าผ้าไหมไทย โดยคุณละมุล เจ้าของร้าน ชนวีร์ผ้าไหมไทย จังหวัดชัยภูมิ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันร้านผ้าไทยทั่วทั้งประเทศได้รับผลกระทบจากมิจฉาชีพออนไลน์ในรูปแบบเดียวกัน คือ
1) มิจฉาชีพได้แอบนำรูปผ้าไทย หรือเสื้อผ้าทางร้านไปแอบอ้างขายในเพจปลอมที่สร้างขึ้น โดยมีการตั้งราคาขายที่ถูกกว่าราคาร้านทั่วไปหลายเท่า เพื่อหลอกจูงใจให้คนหลงเชื่อ และโอนเงิน ก่อนจะทำการปิดเพจหนี
2) มิจฉาชีพจะทำการยิงแอดโฆษณาเพื่อหลอกล่อกลุ่มผู้ซื้อ โดยเพจปลอมจะมีผู้ติดตามและจำนวนผู้กดไลค์โพสต์จำนวนมาก ทำให้ผู้ชื้อหลงเชื่อว่าเป็นร้านค้าจริงที่ได้รับความนิยม
3) มิจฉาชีพจะทำการลอกเลียนแบบเพจร้านที่มีชื่อเสียง โดยปัจจุบันการไลฟ์ก็สามารถนำคลิปจากเพจจริงมาไลฟ์พร้อมกัน เพื่อสร้างความสับสนให้แก่ผู้ซื้อ
4) กลุ่มมิจฉาชีพจะมุ่งเป้าในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุที่นิยมการสวมใส่ผ้าไทย และมีกำลังทรัพย์ในการซื้อผ้าผืนหรือชุดผ้าไทยจากทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อร้านค้าและผู้ขาย
เพื่อป้องกันความเสียหายกับประชาชน ดีอี ได้ประสานงานกับพันธมิตรในการปิดกั้นเพจปลอมแล้ว
“ดีอีขอให้ท่านที่สนใจจะสั่งซื้อผ้าไทยผ่านออนไลน์ ขอให้ท่านตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจ ก่อนที่ท่านจะกดคำสั่งซื้อสินค้า และขอให้ท่านพิจารณาว่าราคาสินค้าสอดคล้องกับสินค้าที่ท่านจะสั่งซื้อหรือไม่เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ หากท่านมีความสงสัยว่าร้านค้าออนไลน์ที่ท่านสินค้าที่ท่านสั่งซื้อเป็นสินค้าปลอม หรือร้านค้าปลอม ขอให้ท่านแจ้งไปยังศูนย์แก้ปัญหาหลอกลวงทางออนไลน์ หรือ AOC 1441 เพื่อตรวจสอบและป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าวว่า ดีอีจะดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยออนไลน์มากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น