กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับไลน์แมน จัดอบรมเสริมทักษะช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ให้พนักงานจัดส่งอาหาร นำร่อง 10 จังหวัดกระจายทุกภาคทั่วประเทศ ตั้งเป้า 200 คน หวังลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพเสริม
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ความนิยมในการสั่งซื้ออาหารแบบจัดส่งถึงบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลีกเลี่ยงการพบปะหรือไปตามแหล่งชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน กลายเป็นความเคยชินกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ รวมถึงอาหารการกินประจำวันด้วย อาชีพพนักงานส่งอาหารและจัดส่งพัสดุหรือไรเดอร์ (Rider) จึงได้รับความสนใจจากแรงงานที่ว่างงานจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยึดเป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ดูแลครอบครัว ในบางรายทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ให้มากขึ้นเพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 700-1,300 บาทต่อวัน รัฐบาลและนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแก่แรงงานที่ประกอบอาชีพรับส่งอาหาร ที่แต่ละวันมีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้นเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน เช่น ค่าซ่อมแซมยานพาหนะ อีกทั้ง เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปหารายได้ให้มากขึ้น จึงมอบหมายให้กรมจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานส่งอาหารให้มีความรู้ด้านการซ่อมรถจักรยานยนต์ ในระยะแรกมุ่งหวังให้ ไรเดอร์สามารถตรวจเช็คและซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ของตัวเองได้เบื้องต้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง รวมถึงยืดอายุการใช้งานของรถจักรยานยนต์ได้ยาวนานขึ้น สำหรับคนที่มีทักษะสูงขึ้นไปอีกระดับ สามารถซ่อมแซมได้เองโดยไม่ต้องเสียเงินจ้างช่างซ่อมรถ เป็นต้น
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานครั้งนี้ ได้ร่วมกับบริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด วางแผนจัดฝึกอบรม หลักสูตรการบำรุงรักษารถจักรยานยนต์เบื้องต้น ให้แก่พนักงานจัดส่งอาหารและจัดส่งพัสดุหรือไรเดอร์ (Rider) จำนวน 200 คน นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัด จังหวัดแรกจัดอบรมไปแล้วเมื่อ 19 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมาที่จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 2 กำหนดจัดอบรมวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 4 วันที่ 22 มี.ค. 2567 ที่ชลบุรี ครั้งที่ 5 วันที่ 23 เมษายน 2567 ที่พระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 6 วันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่นครปฐม ครั้งที่ 7 วันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่อุดรธานี ครั้งที่ 8 วันที่ 19 มิ.ย. 2567 ที่สกลนคร ครั้งที่ 9 จัดวันที่ 9 ก.ค. 2567 ที่กระบี่ และครั้งที่ 10 วันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ภูเก็ต โดยใช้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นสถานที่ฝึกอบรม
“การฝึกอบรมในครั้งนี้จึงมีส่วนลดภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมแซมบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ได้บ้าง ผู้ที่ผ่านการอบรมสามารถพัฒนาต่อยอดความรู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งกรมมีสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากต้องการเพิ่มทักษะความรู้ในระดับที่สูงขึ้นสามารถสมัครเข้าฝึกอบรมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น