วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2567

ผู้ว่าฯนครพนมบูรณาการภาคีเครือข่ายส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนตามแนวพอเพียง


 

ผู้ว่าฯ นครพนม สนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย บูรณาการภาคีเครือข่ายส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ส่งเสริมโภชนาการที่ดี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน 

 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 256     นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" เพื่อให้ทุกครัวเรือนได้มีการปลูกพืชผักสวนครัว ส่งผลให้พี่น้องประชาชนลดรายจ่ายครัวเรือน มีอาหารไว้รับประทานอย่างเพียงพอและมีสารอาหารครบถ้วน รวมถึงมีอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทาน พร้อมทั้งขยายผลไปสู่ทุกชุมชนหมู่บ้านและทุกครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะนำไปสู่การที่ประชาชนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน 

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมได้จัดโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ณ โรงเรียนบ้านนาคำ หมู่ที่ 16 ตำบลบ้านค้อ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม เพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนในชนบท ซึ่งมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย คือ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok) ร่วมให้การสนับสนุน และยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่จังหวัดนครพนมได้รับโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 4 โรงเรือน การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแนวพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งมีเป้าหมาย "มุ่งสร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้าน" คือ คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดี โดยผนึกกำลังภายในองค์กร สร้างความร่วมมือเครือข่ายภายนอก สร้างคุณค่าสู่สังคม เชื่อมโยงความยั่งยืนทุกมิติ ดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาชุมชนและเกษตรกร และด้านการปกป้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนในชนบท เป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่ไข่หรือปศุสัตว์อื่น เพื่อสนับสนุนให้เด็กปฐมวัย เด็กนักเรียน ได้รับประทานไข่ไก่หรือเนื้อสัตว์ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะไข่ที่มีประโยชน์มากมาย นอกจากเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินบี 12 วิตามินดี ไอโอดีน โฟเลต โอเมก้า ฯลฯ ที่จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะในร่างกาย ช่วยให้ฟันและกระดูกแข็งแรง ลดการอักเสบของข้อต่อ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ช่วยสร้างภูมิต้านทาน บำรุงสมอง ทำให้ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งนำมาประกอบอาหารได้ง่าย หลากหลายประเภท ทั้งต้ม ทอด หรือจะนำไปประกอบกับอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย จึงมีความเหมาะสมมากในการที่จะนำไข่ไก่มาทำเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน” นายวันชัยฯ กล่าว 

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมกล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ตลอดจนหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ และพี่น้องประชาชนทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญทำให้กิจกรรมในวันนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในครัวเรือน ชุมชน สังคม และร่วมกันสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ของเราในสถานศึกษาทั้งสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกสังกัด ตลอดจนถึงชุมชนได้มีแหล่งโภชนาการอันอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุ วิตามินชนิดต่าง ๆ ด้วยพืชผักสวนครัวและโปรตีนที่สูงจากไข่ไก่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ลูก ๆ หลาน ๆ ของเรามีร่างกายที่แข็งแรง ทั้งร่างกาย สติปัญญา และมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ เป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปถึงการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนหมู่บ้านและนักเรียนในสถานศึกษาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงและมีความสุขอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎก 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกและบทบาทในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิ...