วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567

เริ่มแล้วงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 39 ที่เชียงใหม่ วธ.นำชมขบวนร่มนานาชาติ



เริ่มแล้วงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 39 ที่เชียงใหม่ วธ.นำชมขบวนรถแม่ญิงขี่รถถีบก๋างจ้อง ร่วมเพ้นท์ร่มยักษ์ ร่มล้านนาและร่มนานาชาติ 1,000 คัน เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำร่ม พัด งานแกะสลักและทำกระดาษสา ชมขบวนร่มนานาชาติ จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ไทย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา  การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม  วธ.ร่วมทุกภาคส่วนยกระดับสู่นานาชาติ

 วันที่ 19 มกราคม 2567 เวลา 18.00 น. ที่หมู่บ้านบ่อสร้าง หมู่ที่ 3 ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 39  และงานมหัศจรรย์ล้านนาเมืองกระดาษสาบ้านต้นเปา ครั้งที่ 18 ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 -21 มกราคม 2567 ณ หมู่บ้านบ่อสร้างและหมู่บ้านต้นเปา โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอสันกำแพง ร้อยตรีวิโรจน์ โชติธนาภิรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองต้นเปา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าร่วม



นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า  กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยนโยบายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมมุ่งขับเคลื่อน Soft Power โดยเฉพาะด้านเทศกาลประเพณี (เฟสติวัล) และด้านท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายของวธ.ในการส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่น ๆ ด้านวัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ดังนั้น วธ.จึงมุ่งส่งเสริมเทศกาลประเพณีของไทยเพื่อยกระดับสู่ระดับนานาชาติ  โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติ และนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อดำเนินการคัดเลือกเทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการยกระดับให้เป็นเทศกาลประเพณีในระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเผยแพร่ประเพณีศิลปวัฒนธรรมไทยไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 39 จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 6 เทศกาลประเพณีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 นายสุรพล กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้บูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ เทศบาลเมืองต้นเปา หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 39  ณ หมู่บ้านบ่อสร้าง และงานมหัศจรรย์ล้านนาเมืองกระดาษสาบ้านต้นเปา ครั้งที่ 18 ณ หมู่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19 - 21 มกราคม 2567 กิจกรรมภายในงาน อาทิ ขบวนรถและริ้วขบวนประดับร่ม กิจกรรมสานสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง Thailand – Indonesia ขบวนเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมขี่รถถีบก๋างจ้อง ขบวนรถแม่ญิงขี่รถถีบก๋างจ้อง กิจกรรมเพ้นท์ร่มยักษ์และกิจกรรมเพ้นท์ร่มล้านนาและร่มนานาชาติ 1,000 คัน การวาดร่ม เหลาโครงร่ม การสาธิตการแกะสลักไม้โดยการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว กิจกรรมการแขวนร่มประดับ การตกแต่งซุ้มซอยประดับร่มบ่อสร้าง การเรียนรู้จากอุ้ยสู่หลาน การออกแบบลวดลายร่มโดยใช้นวัตกรรมรูปแบบใหม่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากร่ม ถนนคนเดินบนถนนสายบ่อสร้าง ชมขบวนร่มนานาชาติ อาทิ จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ไทย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา และนานาชาติ และชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงทางวัฒนธรรมล้านนา กิจกรรมถนนศิลปะสู่ชุมชน กาดมั่วคนเมือง การตกแต่งซุ้มถ่ายรูป การประกวดภาพถ่ายและนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ กิจกรรมนำเที่ยวชุมชน การประกวดธิดาร่มบ่อสร้าง การประกวดหนูน้อยร่มงาม การประกวดแม่เฮือนงามกระดาษสา การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม เป็นต้น 

 “วธ.ได้ประกาศเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ 6 เทศกาลประเพณีในปี 2567 คือ ประเพณีกำฟ้าไทยพวน จ.แพร่ มหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์อิ้วเมี่ยนโลก จ.พะเยา เทศกาลลานตาลันตา งานวิสาขปุรณมีบูชา สักการะมหาสถูปเจดีย์เขาคลังนอก จ.เพชรบูรณ์ ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา จ.ชัยภูมิ รวมทั้งงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาชมและเรียนรู้การทำอาชีพหัตถกรรมการทำร่ม พัด และการแกะสลักของประชาชนบ้านบ่อสร้าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการทำร่มและงานหัตถกรรมและบ้านต้นเปาซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการผลิตกระดาษสา เป็นการนำเสนออัตลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชนที่ได้อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมการทำร่ม การทำกระดาษสา การแกะสลักและงานหัตถกรรมอื่น ๆ  วธ.จะบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายทางวัฒนธรรมส่งเสริมงานเทศกาลนี้เพื่อยกระดับไปสู่นานาชาติ ทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเที่ยวชมเพิ่มขึ้น  ช่วยสร้างงานสร้างรายได้แก่ชาวบ้านและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของชาติตามนโยบายรัฐบาล” นายสุรพล กล่าว 

 ทั้งนี้ ในอดีตหมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติแบบชนบท ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ นาและสวน เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรมักจะผลิตร่มออกจำหน่าย ซึ่งเป็นร่มกระดาษสาสีขาว โครงร่มทำด้วยไม้ไผ่คุณภาพดี ต่อมาได้เติมแต่งลวดลายลงบนกระดาษสา จนกลายเป็นร่มที่มีความสวยงาม  สามารถซื้อไว้ใช้และเป็นของฝากของที่ระลึก  โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้มาเที่ยวเชียงใหม่ต้องไปเที่ยวบ่อสร้างสันกำแพง และเลือกซื้อร่มกระดาษสาไปเป็นของฝากของที่ระลึกเสมอ ต่อมาอินศวร ไชยซาววงศ์  ซึ่งเป็นพ่อค้าและเป็นคนพื้นที่เห็นว่าประชาชนหมู่บ้านบ่อสร้างมีฝีมือสามารถผลิตร่มออกมาขายและร่มที่ทำออกมาเป็นที่นิยม มีเอกลักษณ์ของร่มบ่อสร้างสันกำแพงที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จัก จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้เป็นกอบเป็นกำ จึงชักชวนชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นในสมัยนั้นริเริ่มจัดงานขึ้นครั้งแรก โดยปีแรกมีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาเที่ยวชมงานอย่างล้นหลาม มีกิจกรรมนานาชนิดและการละเล่นพื้นบ้าน ต่อมามนต์ขลังของงานร่มบ่อสร้างได้จางหายไป  การจัดงานจึงไม่ต่อเนื่องกัน แต่ทำกันมาตลอดโดยจะจัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างขึ้นประมาณเดือนมกราคมของทุกปี  เมื่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นฟู  การจัดงานร่มบ่อสร้างได้จัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

ร่มบ่อสร้างเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดเชียงใหม่มาช้านานนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะต้องแวะเวียนไปที่อำเภอสันกำแพง เพื่อชมและเลือกซื้อร่มบ่อสร้างที่ “บ้านบ่อสร้าง” เป็นที่ระลึกติดมือกลับมา ถือเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในหมู่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สาเหตุที่เรียกว่าร่มบ่อสร้างเพราะร่มนี้ผลิตกันที่บ้านบ่อสร้าง สมัยก่อนชาวบ้านจะทำร่มกันใต้ถุนบ้าน แล้วนำออกมาวางเรียงรายเต็มกลางลานบ้านเพื่อผึ่งแดดให้แห้ง สีสันและลวดลายบนร่มนั้น สะดุดตาผู้พบเห็น มีทั้งหมด 3 ชนิด คือ ร่มที่ทำด้วยผ้าแพร ผ้าฝ้ายและกระดาษสา แต่ละชนิดมีวิธีทำอย่างเดียวกัน       

อำเภอสันกำแพงไม่ได้มีแต่ร่มบ่อสร้างเท่านั้น ยังมีหมู่บ้านทำกระดาษสา และแปรรูปกระดาษสา มีผ้าไหมสันกำแพงที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก และมีเซรามิกศิลาดลที่เป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสันกำแพง จะได้ชมสินค้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมและเป็น Soft Power ที่ขึ้นชื่อของอำเภอสันกำแพงอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎก 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกและบทบาทในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิ...