วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

สนค. เปิดตัว “คิดค้า Briefing” ช่วยผู้ประกอบการ ผ่าน Data Storytelling นำร่อง “จับชีพจรส่งออกไทย”



สนค. เปิดตัว “คิดค้า Briefing” ช่วยผู้ประกอบการเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลเศรษฐกิจการค้าง่ายขึ้นผ่าน Data Storytelling นำร่อง “จับชีพจรส่งออกไทย” 

เมื่อวันที่ 25  มกราคม 2567  นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่าได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการข้อมูลด้านการพาณิชย์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการในการแข่งขันของประเทศ ตามแนวนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยพัฒนาและต่อยอดบริการข้อมูลเศรษฐกิจการค้าบนเว็บไซต์คิดค้า.com เพื่อนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจการค้ารูปแบบใหม่ สำหรับให้ผู้ประกอบการและประชาชน สามารถเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึก ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายและการตัดสินใจทางธุรกิจ ให้เท่าทันสถานการณ์การค้าโลกยุคใหม่



สนค. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับจัดทำนโยบายทางการค้าให้สอดรับกับบริบทโลกยุคใหม่และศักยภาพของธุรกิจและการค้าไทย  ได้ขยายผลการใช้ประโยชน์ข้อมูลการค้าเชิงลึกให้ผู้ประกอบการในทุกระดับสามารถใช้ประโยชน์ และเข้าถึงประเด็นสำคัญทางการค้าได้อย่างง่าย สะดวกและรวดเร็ว จึงต่อยอด คิดค้า.com โดยเปิดตัว “คิดค้า Briefing” ย่อยข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกให้เข้าใจง่ายในรูปแบบ Data storytelling โดยนำร่องเปิดตัวงานแรกในหัวข้อ “จับชีพจรส่งออกไทย” ซึ่งประกอบด้วยการนำเสนอเรื่องราว 3 ส่วน ได้แก่ 

1. สำรวจสถานการณ์การส่งออกไทยในปัจจุบัน โดยนำเสนอความสำคัญของภาคการส่งออกต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบันการส่งออกสินค้าไทยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจถึงร้อยละ 58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และสามารถเห็นถึงพัฒนาการในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยเติบโตมาอย่างไร รวมถึงนำเสนอโครงสร้างสินค้าและตลาดส่งออกของไทยในปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันตลาดส่งออกไทยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชียคิดเป็นร้อยละ 61 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงภาพรวมทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทย  

2. สำรวจเจาะลึกสินค้าและตลาดส่งออกสินค้าไทย ชวนหาคำตอบว่าสินค้าใดเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ปัจจุบันสินค้าใดเป็นสินค้าส่งออกไทยดาวรุ่ง และสินค้าใดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยประเมินจากแนวโน้มการเติบโตของสินค้าในปีปัจจุบัน สามารถเจาะรายกลุ่มสินค้าที่สนใจได้ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมาหาคำตอบว่าตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยมีประเทศใดบ้าง และแนวโน้มการส่งออกมีทิศทางเป็นอย่างไร แต่ละทวีปมีประเทศไหนเป็นคู่ค้าสำคัญบ้าง เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่สนใจเข้าใจสถานการณ์การส่งออกไทยในรายสินค้าและรายตลาด สำหรับวางแผนหาโอกาสและเตือนภัยได้อย่างทันสถานการณ์

3. สรุปสถานการณ์การค้ารายประเทศ นำเสนอสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของไทยรายประเทศคู่ค้าให้เห็นภาพรวมภายในหน้าเดียว โดยย่อยข้อมูลเศรษฐกิจการค้าให้เห็นภาพชัดเจนและเข้าใจง่าย ประกอบด้วย สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเปรียบเทียบกับไทย เช่น ขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากร  และรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว เพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ค้า เช่น แนวโน้มมูลค่าการส่งออก-นำเข้าในปัจจุบัน สินค้าส่งออกไทยที่สำคัญ และรูปแบบการขนส่งสินค้าที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจภาพการส่งออกของไทยในตลาดที่สนใจ

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันข้อมูลกับการค้ามีความสำคัญมาก เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางหรือกลยุทธ์ของธุรกิจ ให้เท่าทันสถานการณ์การค้าโลกยุคใหม่ และตรงความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย  ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลมาใช้ในงานด้านต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะเน้นการนำระบบ Big Data

มาวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อการบริหารนโยบายเชิงรุกและการให้บริการข้อมูลการค้าเชิงลึกกับผู้ประกอบการและประชาชน โดยหวังว่าเมื่อมีข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นระบบจะสามารถคาดการณ์ (Prediction) และเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าได้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้ามาใช้บริการข้อมูลการค้าเชิงลึก ที่เว็บไซต์ “คิดค้า.com” ซึ่งจะนำเสนอเนื้อหาใหม่ ๆ ต่อเนื่องตลอดช่วงปี 2567 โดยที่ผ่านมาได้เผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกด้านสินค้าเกษตร (Agriculture Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Province Dashboard) ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าระหว่างประเทศ (Global Demand Dashboard) และข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics Dashboard)

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎก 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกและบทบาทในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิ...