เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 เฟซบุ๊ก พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ "เจ้าคุณประสาร" รองอธิการบดีบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ตอบคำถามกรณีมีคลิปเผยแพร่บทสนทนาประเด็น มหาวิทยาลัยสงฆ์มีไว้ทำไม" ระหว่าง อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ถาม อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ มีความระเอียดดังนี้
อันเนื่องมาจากบทสนทนา “มหาวิทยาลัยสงฆ์มีไว้ทำไม” สมฤทธิ์ ลือชัย ถาม ส.ศิวรักษ์ และบทความ“ปัญหาของเหตุผลทางศีลธรรมเถรวาทไทยเทียบกับมหายาน”โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาอาตมาไม่ค่อยจะได้ดูสื่อ ดูโซเซียลอะไรมากนัก เพราะมัวแต่เดินทางไปโน้นมานี่ จึงมีเวลาให้กับบางเรื่อง บางอย่างเช่น ดูข่าว อ่านข่าวน้อยลงไป แต่ก็ยังมีสหธรรมิกที่หวังดี ปรารถนาดีส่งเรื่องราวข่าวสารต่างๆมาให้ดูมาให้อ่านอยู่เนืองๆ นัยว่าจะได้ไม่เป็นคนตกข่าว
และในความเป็นจริงนั้น ในหลายปีมานี้อาตมาค่อนข้างจะมีขาประจำที่คอยแวะเวียนมาพูด มากล่าวถึงอยู่เนืองๆ แต่ก็ไม่เป็นไร ท่านก็ว่าของท่านไป เป็นสิทธิของท่าน แต่ในห้วงเวลานี้กลับมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งดูเหมือนว่าจะถี่ขึ้นๆก็คือ อ.สมฤทธิ์ ลือชัย และอ.สุรพศ ทวีศักดิ์
แต่เดิมนั้นท่านทั้งสองก็จะมีมาบ้างประปราย แต่ช่วงนี้ต้องขอบคุณอาจารย์ทั้งสองที่ดูจะขยันในการพูด ในการเขียนถึงอาตมาเป็นพิเศษ รวมทั้งได้นำรูปภาพไปลงประกอบในบทความ ข้อเขียน บทสนทนาของท่านด้วย
วันนี้อาตมาขอยืนยันว่า อาตมายังคงมีจุดยืนเดิมคือ พยายามจะตอบโต้หรือพูดถึงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยอาศัยกำลังแห่งขันติเท่าที่มีอยู่ เพราะได้รำลึกอยู่เสมอว่าเราเป็นพระสงฆ์ การที่จะวิวาทกับชาวบ้านนั้นดูจะไม่งาม ไม่เหมาะนัก โดยเฉพาะในบางเรื่อง บางกรณี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฆราวาสบางท่าน บางคนแล้ว พระท่านจะพยายามหลีกห่างออกไปให้ไกล ไม่ใช่เพราะท่านกลัว ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีภูมิปัญญาจะตอบโต้แต่ท่านไม่ต้องการที่จะมาต่อความยาวสาวความยืด ท่านไม่ต้องการที่จะตกเป็นเหยื่อหรือตกหลุมพรางของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอาตมาเองก็ได้ยึดถือหลักการนี้มาโดยตลอด เว้นเสียแต่ว่าท่านจะได้พูดได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่อาตมาก็เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่นั่น และถ้าจะไม่พูด ไม่ชี้แจงบ้าง ก็ดูเหมือนว่าเราจะอับจนปัญญา หมดทางสู้ ปล่อยให้เขาว่า ปล่อยให้เขาพูดอยู่ฝ่ายเดียวในที่สุดแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับด้วยซ้ำไป แม้ในบางสิ่งบางอย่างที่พูดนั้นอาจจะเข้าใจผิด ไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรืออาจจะมีเจตนาอื่นใดแอบแฝงไว้ก็ตาม
เบื้องต้นขออนุญาตพูดถึงเรื่องแรกก่อน คือ บทสนทนาผ่านสื่อในเรื่อง “มหาวิทยาลัยสงฆ์มีไว้ทำไม“ สมฤทธิ์ ลือชัย ถาม ส.ศิวรักษ์
ในเรื่องนี้นั้น ในเนื้อหาสาระอาตมาจะยังไม่ลงในรายละเอียดมากนัก เพียงแค่จะตั้งคำถามในเชิงศีลธรรมหรือความชอบธรรมของสื่อมวลชนเสียก่อน อุปมาอุปไมยเหมือนระบบศาลยุติธรรม เมื่อมีการฟ้องร้องกัน ทนายฝ่ายจำเลยจะสู้ในแง่มุมที่ว่าผู้ฟ้องมีสิทธิ์ฟ้องหรือไม่ ถ้าไม่มีสิทธิก็เป็นอันพับไป ถ้ามีค่อยไปลงในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนั้น จากการที่ได้ดู ได้ฟังหลายรอบ อาตมาจึงมีคำถามถึงอ.สมฤทธิ์ ลือชัย ดังนี้
1.หัวข้อสนทนา “มหาวิทยาลัยสงฆ์มีไว้ทำไม” นั้น เป็นหัวข้อชวนสนทนากับปัญญาชนสยามที่ท่านได้คิด ได้ไตร่ตรองมาดีแล้วใช่หรือไม่ ผู้ดำเนินการสนทนามีความมั่นใจไหม ว่าการตั้งชื่อเรื่องสนทนานั้น ท่านต้องการแสวงหาข้อเท็จจริง มุ่งหาเหตุและผล เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ได้ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ทำโดยปราศจากกำลังแห่งอคติเข้าครอบงำหรือไม่ ถามใจท่านดู
2.คำถามในแต่ละคำถามที่เตรียมมานั้น ท่านสามารถตอบด้วยความแกล้วกล้า กล้าหาญต่อจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชนที่ดีได้หรือไม่
เพราะดูเหมือนว่าคำถามส่วนใหญ่นั้นล้วนเป็นคำถามที่เข้าทำนองชี้นำ มุ่งนำร่อง โดยมีประเด็นและจุดมุ่งหมายเฉพาะ บนกรอบที่ตนเองได้วางไว้ ใช่หรือไม่
3.บทสรุปในแต่ละคำถามของผู้ชวนสนทนานั้น ไม่ว่าผู้ตอบจะตอบโดยหลักการแบบไหน อย่างไร สุดท้ายแล้วผู้ชวนสนทนาล้วนดึงให้เข้ามาในบทสรุปเฉพาะของตนเอง เข้าทำนอง ว่าเอง เออเอง ชงเองกินเอง ใช่ไหม
ในนามมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นตัองขออนุโมทนาขอบคุณอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มีความเป็นปราชญ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เอนเอียง ยึดมั่นในหลักการแม้จะถูกชักนำตั้งแต่การตั้งคำถามและระหว่างบทสนทนาก็ตาม
อ.สมฤทธิ์ ลือชัย เชิญชวนบอกให้อาตมาเข้ามาฟัง เจริญพร อาตมาเข้ามาแล้ว
ประเด็นถัดมาเป็นของ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ ตั้งแต่อาตมากับอาจารย์มีปุจฉา วิสัชนาที่อาจารย์วิพากษ์มหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบันว่า ไม่มีผลงานทางภูมิปัญญาพุทธที่สังคมรู้จัก ไม่มีนักวิชาการพุทธที่โดดเด่นที่มีบทบาทปัญญาชนสาธารณะนำเสนอพุทธธรรมเชิงก้าวหน้า เป็นต้น และยังมีคำว่า “เสียดายภาษี”ตามมาอีกนั้นอาตมาได้เขียนคำชี้แจงผ่านเพจส่วนตัวไว้เพื่อแสดงเหตุและผลที่แตกต่างและสื่อมวลชนก็ได้นำไปลงเป็นข่าวอยู่ระยะหนึ่ง
หลังจากนั้นมา อาจารย์ก็พูดถึงอาตมาถี่ขึ้น ตั้งแต่เรื่องเรียกชื่อ เรื่องโน้น เรื่องนี้ อะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ ต้องขออภัยที่จะต้องพูดว่า หลายเรื่องที่อาจารย์สุรพศ กล่าวมานั้นมีทั้งที่เป็นสาระและหลายเรื่องที่พยายามจะค้นหาสาระให้พบให้เจอ บัดนี้อาจารย์ได้เขียนบทความลงในประชาไท เรื่อง “ปัญหาของเหตุผลทางศีลธรรมเถรวาทไทยเทียบกับมหายาน”
ซึ่งในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเดิมๆที่อาจารย์ได้พูดได้แสดงมาแล้วในหลายที่ หลายแห่ง ในเรื่องนี้นั้น อาตมาขอบอกว่าเราเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิง เห็นต่างกันจริงๆ และอาตมาก็ได้ผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับชาวพุทธกลุ่มหนึ่งในนาม “ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” ผ่านรัฐบาลมาแล้วหลายยุค หลายสมัย
ยอมรับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็ไม่เคยท้อ พร้อมเดินหน้าต่อไป
ในวัน เวลานี้ อาตมาขอยืนยันว่า
1.ผลักดันให้บัญญัติคำว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ที่มีนโยบายที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีองค์คณะคล้ายๆ สสร.ในอดีต พวกเราจะไม่ยอมตกขบวนรถไฟสายประชาธิปไตยนี้แน่นอน
2.ผลักดันให้มี “ธนาคารพุทธศาสนา ”อาจารย์สุรพศ พอทราบข่าวที่น่ายินดีไหมว่าพี่น้องชาวมุสลิมนั้น มีธนาคารมุสลิมในประเทศไทยของเรามานานแล้ว อยากฟังทัศนะคนเก่ง คนกล้าจังเลย
3.ผลักดันให้รัฐออก พรบ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่อาจารย์สุรพศ บอกว่าเป็นปัญหาของเหตุผลทางศีลธรรมเถรวาทไทย นั่นแหละ
อ.สมฤทธิ์ ลือชัย อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ อาตมายืนยันว่า อาตมาในฐานะพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และรวมทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น ท่านและทุกคน สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ พูดถึงได้ ไม่มีปัญหา แต่ในทางสติปัญญานั้นเราควรจะพูดด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยสัมมาทิฐิ เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติทั้งปวงร่วมกันไหม
ถ้าใจท่านกอรปด้วยศีลธรรมอันดีงามบนฐานแห่งการอยากเห็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เจริญก้าวหน้าในทิศทางที่ควรจะเป็น ลองถามใจตัวเองดู
ตัวอย่างในสามก๊ก ตันก๋ง เจรจาตอบโต้กับโจโฉ ในช่วงเวลาที่รบแพ้และถูกจับเป็นเชลย ตันก๋งยอมตาย โจโฉเสียดายอยากเอาตัวไว้ใช้งาน บทสนทนาช่วงท้ายก่อนตันก๋ง จะเดินเข้าสู่ลานประหารและพูดด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า ข้ายอมตาย โจโฉ พูดตอบว่า ท่านจะเลือกตายก็เป็นสิทธิของท่าน แต่พ่อ แม่ ลูกเมียท่านละจะอยู่อย่างไร ตันก๋งกล่าวตอบว่า “ผู้ปกครองที่มีความกตัญญูย่อมไม่พาลถึงญาติ ผู้ปกครองที่มีคุณธรรมย่อมไม่ฆ่าล้างโคตรใคร ชีวิตพ่อ แม่ ลูกเมียข้าขึ้นอยู่กับใจของท่าน”
ในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็บอกว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า วันนี้ถ้าใจของท่านทั้งสอง กอรปด้วยคุณธรรม ขออภัยถ้าจะพูดอีกว่า ถ้าจะไม่พาลหรือจะเรียกว่า “แวะ” “เลาะ” ไปในทุกเรื่อง การพระศาสนา จะได้ประโยชน์จากคนเก่ง คนมีสติปัญญาของท่านทั้งสองมากทีเดียว ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับใจของท่าน ลองถามใจตัวเองดู
อีกประการหนึ่งอันนี้เฉพาะอาตมา (จริงๆ) ไม่มีเจตนาเป็นอื่นได ไม่เกี่ยวกับท่านทั้งสอง แต่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า อาตมาเองได้ยึดถือรื่องนี้มาโดยตลอด แม้ว่าตัวเรากับคนอื่นจะมีวิวาทต่อกัน คิดต่างกัน หรือต่อว่าต่อขานกันบ้าง หนักนิด เบาหน่อย แต่อุปัชฌาย์ อาจารย์ของอาตมาท่านสอนให้รู้จักการให้เกียรติคนอื่น เคารพและรับฟังความคิดเห็นของเขา ถ้าไม่เห็นด้วยก็แสดงเหตุและผลของเราให้เขาฟัง อย่าก้าวร้าว อย่าตีรวน
ท่านบอกอาตมาให้ท่องบทโคลงโลกนิติบทนี้ให้ขึ้นใจ เพราะสื่อถึงความหมายและบ่งบอกอะไรบางอย่างได้ชัดเจน
ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน
ขณะที่ดร.สำราญ สมพงษ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองเว็บไซต์หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ กล่าวว่า ตนเป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นผลผลิตทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ เป็นเด็กกำพร้าครอบครัวแตกแยก ที่หลวงปู่เก็บมาเลี้ยงให้ได้เรียนหนังสือตั้งแต่ป. 1 และได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงฆ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) จบรุ่นเดียวกับเจ้าคุณประสาร และได้สึกออกมาประกอบอาชีพเป็นนักข่าวตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน และได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ที่สถานบันการศึกษาแห่งนี้อีกครั้งในหลักสูตรสันติศึกษา ถ้าไม่มีสถานบันการศึกษาแห่งนี้มีหรือที่เด็กกำพร้าคนหนึ่งจะมีโอกาสใช้คำว่า " ดร." นำหน้า และได้นำหลักวาจาสุภาษิต ทฤษฎีการสื่อสารทั่วไป ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อสันติและทฤษฎีการเสื่อสารเพื่อสันติภาพ พอจะเป็นนักข่าวมืออาชีพได้คนหนึ่ง
และปัจจุบันนี้มีนิสิตที่เป็นชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากเข้ามาศึกษา ดังนั้นคำตอบที่ถามว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์มีไว้ทำไม ก็คือมีไว้เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยและโลกได้ระดับหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น