กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ห่วงผลกระทบการจ้างงานหลังประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กำชับพนักงานตรวจแรงงานให้ตรวจสอบสภาพการจ้าง สภาพการทำงานของสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ หากพบการฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2567 นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะกำกับดูแลงานด้านการคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 12 ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) มีความห่วงใยสถานการณ์ด้านแรงงาน เฝ้าระวัง จับตาความเคลื่อนไหวการจ้างงานของสถานประกอบกิจการในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดอย่างใกล้ชิด หลังมีการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของนายจ้าง จึงมีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มอบหมายให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด กำชับพนักงานตรวจแรงงานให้ตรวจสอบสภาพการจ้าง สภาพการทำงานของสถานประกอบกิจการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเภทกิจการร้านอาหาร ลูกจ้างที่ทำงานในห้างสรรพสินค้า หรือกิจการประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ได้สั่งการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 10 พื้นที่ดำเนินการตรวจสอบด้วย เพื่อมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ประกาศไว้ และหากพบการฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องจะถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม กรมมีความมุ่งหวังให้นายจ้างได้เชื่อมั่นว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เป็นไปตามกฎหมายนั้น จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกจ้างและครอบครัวควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของสถานประกอบกิจการ ทั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างขวัญกำลังใจ รักษาการจ้างและการดำเนินกิจการของนายจ้างให้คงอยู่ต่อไปได้บนพื้นฐานของระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ย่อมดีกว่าให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น