วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2567

อำเภอเมืองตรัง รวมพลัง "บวร" บูรณาการภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม "เก็บข้าวเบายอดม่วง"



เพื่อสืบสาน และรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่อยอดสู่การเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน" 

 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567   นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอเมืองตรัง เปิดเผยว่า อำเภอเมืองตรังบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันทำกิจกรรมเก็บข้าวเบายอดม่วง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดวิถีพอเพียง ที่แปลงนาสาธิต หมู่ที่ 10 ตำบลนาพละ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พร้อมกับมอบพื้นที่ จำนวน 2 ไร่ และเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้แก่โรงเรียนบ้านหนองเรี้ยได้นำไปปลูกในแปลงสาธิตตามหลักอารยเกษตร เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตการปลูกข้าวเบายอดม่วงที่ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นผลิตภัณฑ์ประจำถิ่นของตำบลนาพละ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันสามารถเพิ่มมูลค่าจำหน่ายข้าวเปลือกได้มากถึงตันละ 20,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ความเป็นมาและวิถีการทำนา การใช้ภูมิปัญญาในการปลูก การบำรุงรักษา ตลอดจนให้นักเรียนสืบทอดวิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิม และการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน และน้ำ ตามแนวคิด ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day) ของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ สู่การพึ่งพาตนเองได้ตามวิถีพอเพียง สร้างรากฐานความยั่งยืนในชุมชน 

นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอเมืองตรัง กล่าวว่า อำเภอเมืองตรังมุ่งมั่นขับเคลื่อนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้การจัดกิจกรรมเก็บข้าวเบายอดม่วงในแปลงนาสาธิต ด้วยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจในชุมชน โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการและภาคีเครือข่าย ซึ่งได้รับความเมตตาจากเจ้าอาวาสวัดหัวถนน และปราชญ์ชาวบ้าน หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลนาพละ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาพละ ผู้บริหารและคณะนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคตรัง ผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนต้นบากราษฎร์บำรุง ผู้บริหาร คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองเรี้ย คณะกรรมการหมู่บ้านหนองเรี้ย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวเบายอดม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลนาพละ ร่วมกิจกรรมสืบสานประเพณีไทยและส่งเสริมความรู้ทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมส่งมอบพื้นที่ จำนวน 2 ไร่ ให้กับโรงเรียนบ้านหนองเรี้ย พร้อมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ไป ทดลองปลูกในแปลงสาธิต เพื่อที่จะให้นักเรียนทุกคนได้ศึกษาการปลูกข้าวเบายอดม่วง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐาน (GI) และเป็นผลิตภัณฑ์ประจำถิ่นของตำบลนาพละ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านการทำนา รณรงค์และส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลนาพละ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนเห็นคุณค่า และน้อมนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข 

 นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอเมืองตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอเมืองตรังมีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมีพระชนมายุครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีโครงการและกิจกรรมจำนวนมาก อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการน้อมนำโครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง และโครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และหมู่บ้านยั่งยืน ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารัตนราชกัญญา การคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน และยังช่วยสร้างจุลินทรีย์และอินทรีย์วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ทรัพยากรดินและน้ำ ตามเจตนาการขับเคลื่อนวันดินโลก (World Soil Day) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความยั่งยืนให้ครอบครัว เเละชุมชน  

“ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้ง 7 เครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน ที่มาร่วมด้วยช่วยกันทำกิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นการบูรณาการร่วมกันตามหลัก บวร และกลไก 3 5 7 และเป็นส่วนสำคัญให้กิจกรรมดังกล่าวผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งเชื่อว่าการหลอมรวมพลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมเก็บข้าวเบายอดม่วงในแปลงนาสาธิตในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในครัวเรือน ชุมชน สังคม จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและหมู่บ้านและนักเรียนในสถานศึกษาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการรวมกลุ่มกันเป็นคุ้ม เป็นป๊อก เป็นหย่อมบ้าน มีการพูดคุยปรึกษาหารือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างรักใคร่สามัคคี และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” ต่อยอดสู่ความพอเพียงตามหลักบันได 9 ขั้นสู้ความพอเพียง พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมความรู้ทางวิชาการให้ประชาชน เพื่อนำทักษะความรู้มาพัฒนา ปรับใช้ในการดำรงชีวิต มีการดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยกลไกของทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงและมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายจักรพงษ์ฯ กล่าว

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.แจงขั้นตอนสมัครรับเลือกเป็น สว. พร้อมขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ 10 พ.ค.นี้

  เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่าผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ว...