เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๗ ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร. โค้ชสันติภายใน วิทยากรต้นแบบสันติภาพ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มจร เป็นกระบวนกรสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการหลักสูตรเสริมทักษะชีวิต : ความสุขความสำเร็จ ให้กับการปฏิบัติงานคุมประพฤติภาคประชาชน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ โดยมีพระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต, ผศ. หัวหน้าโครงการวิจัย และมีอาจารย์ ดร. สร้อยบุญ ทรายทอง เป็นผู้ประสานงานในกิจกรรมนี้ ถือว่าเป็นความร่วมมือเพื่อสังคมระหว่างกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดสันติสุขมิติเชิงป้องกัน แก้ไข เยียวยา และรักษาไว้โดยกระทำผิดซ้ำอีก
โดยกระบวนการเรียนรู้มุ่งพัฒนาผู้ก้าวพลาด เพราะผิดมากผิดน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าสำนึกผิดหรือไม่ เป็นการเรียนรู้เพื่อการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ แก้ไขการกระทำผิด เยียวยาการกระทำผิด และรักษาไว้เพื่อไม่กลับไปกระทำผิดอีกครั้ง ถือว่าเป็นการให้โอกาสในการใช้ชีวิต โดยมุ่งพัฒนาตนเองตามแนวทางพุทธสันติวิธี ประกอบด้วย พัฒนาด้านกายภาพ พัฒนาด้านพฤติภาพ พัฒนาด้านจิตตภาพ และพัฒนาด้านปัญญาภาพ
โดยการขอโทษเป็นเครื่องมือที่เยียวยาที่ดีที่สุดในโลก ผ่านกระบวนการยุติธรรมเชิงเยียวยาแก้ไข (Restorative Justice:กระบวนการ RJ) เป็นการฟื้นฟู "เหยื่อ" คืนสู่สภาพปกติให้โอกาส "ผู้กระทำผิด" สำนึก ขอโทษ ชดใช้ค่าเสียหาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ดังคำที่ว่า "ผิดมากผิดน้อยไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่าสำนึกผิดหรือไม่" ในทางพระพุทธศาสนาให้โอกาสผู้ก้าวผิดอย่างเช่น องคุลิมาล
พระพุทธเจ้าทรงให้โอกาสทุกคนในโลกใบนี้แม้แต่องคุลิมาลให้โอกาสได้บวช เมื่อบวชแล้วท่านได้รับการศึกษาที่ถูกต้องจากกัลยาณมิตรต่อมาได้กลายเป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งสาวกผู้เปี่ยมเมตตา มหาโจรผู้โหดหินทมิฬชาติพลิกกลับมาเป็น พระผู้เป็นยาหอมและสายลมเย็นขอมหาชน ปัญญาที่สุกสว่างดั่งดวงดาวสุกสกาวอยู่ในใจของอดีตมหาโจรนี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เป็นเพราะเราทุกคนล้วนมีด้านที่งดงามซ่อนอยู่ข้างในเราต้องช่วยกันค้นหาด้านที่งดงามของเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่ค้นหาแต่ด้านที่มืดมิดของเขาเอามาประจานและนี่คือผลจากการมองคนทุกคนบนพื้นฐานแห่งการ "เคารพในความเป็นคน" ของเขา
พระพุทธเจ้าไม่ทรงด่วนตัดสินองคุลิมาล แต่ทรงมองเขาด้วยความเมตตาการุณย์และความหวัง ซึ่งในขณะที่ฝ่ายการเมืองยุคนั้นตัดสินว่า องคุลิมาลต้องไม่มีที่ยืนในสังคม พวกเขาทำถึงขนาดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาไล่ล่า แต่ยิ่งไล่ล่าหรือไล่ฆ่า ก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรงให้มากขึ้นในใจขององคุลิมาลและในสังคม ในทางกลับกันนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงไล่ล่า แต่ทรงเดินเข้าไปหา แล้วทรงนั่งคุยกับเขาอย่างฉันมิตร ไม่ทรงใช้อำนาจ แต่ทรงใช้ความรักและเหตุผลนำทาง บทสรุปคือองคุลิมาลขอโอกาสเริ่มต้นใหม่ พระองค์ทรงเปิดทางให้เขาอีกครั้งหนึ่ง เครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงใช้แก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมคือ การเจรจาด้วยเหตุผลและให้การศึกษาที่ถูกต้อง
สังคมไทยของเรานับวันยิ่งด่วนตัดสินกันง่ายๆ บางครั้งเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างวันธรรมดา ก็กลายมาเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมาจนหยุดไม่อยู่เพราะเรา"สื่อสารกันด้วยความรุนแรง"โดยใช้Hate speech เป็นเครื่องมือและโดยใช้โซเชียลมีเดียช่วยขยายการทำลายล้างให้เร็วและแรงหนักขึ้นอย่างปราศจากเมตตาธรรมและความยั้งคิด ยิ่งบางคนที่มีทัศนคติสุดโต่งในทำนองที่มักพูดกันว่า"อย่าให้คนผิดมีที่ยืนในสังคม" นั้นน่าเป็นห่วงว่า ทัศนคติอย่างนี้ยิ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงให้แก่ปัญหาหนักหน่วงยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เราไม่ควรมองคนผิด คนพลาด ว่าเป็นคนเลวไปเสียทั้งหมดแต่ควรมองคนผิด คนพลาด ว่าเขาผิดเขาพลาด เพราะมีอะไรเป็นเหตุปัจจัย เป็นเงื่อนไขแวดล้อม เมื่อมองเห็นเหตุปัจจัย ความเข้าใจและความเมตตาจะเกิดขึ้น การแก้ปัญหาจะตรงจุดและยั่งยืนยิ่งขึ้นการใช้อารมณ์ต่อสถานการณ์จะน้อยลง การด่วนตัดสินจะลดลง
เราควรมองคนทุกคนที่ผิดพลาด ด้วยความหวังด้วยความเชื่อมั่นว่า "โดยพื้นฐานคนทุกคนล้วนอยากเป็นคนดี" ไม่มีใครเกิดมาก็เลวแต่กำเนิดและควรเชื่อมั่นว่า"คนทุกคนล้วนพัฒนาได้"ด้วยทัศนคติทำนองนี้เท่านั้นที่เราจะลดทอนคนเลวในสังคมลงได้ ย้ำสั้นๆ ว่า ความเกลียดชัง ความโกรธ ความรุนแรง และการด่วนตัดสินไม่อาจทำให้สังคมและโลกของเราดีขึ้นได้ ความรู้ ความจริง ความรักและหัวใจที่เปิดกว้างต่างหากที่จะทำให้สังคมและโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้โลกเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วยปัญญาและการุณย์ ไม่ใช่ด้วยความเท็จ ความเกลียดชัง และความรุนแรง
โดยมุ่งไปที่สติมีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลก ไม่ว่าบุคคลนั้นจะนับถือศาสนาใดหรือมีความเชื่ออย่างอย่างไร พระพุทธศาสนาให้สำคัญเรื่องสติมาก โดยหัวข้อธรรมะที่ต้องศึกษาคือ #สติสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความพลั้งเผลอหรือผิดพลาด คือ ๑)สติ ความระลึกได้ ๒)สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ซึ่งมีสติเมื่อใดสันติเกิดเมื่อนั้น
สติเป็นความระลึกได้ โดยลักษณะของสติ มีความระลึกได้ในเวลาก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด เป็นลักษณะ หน้าที่ของสติ กำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกคือ ปมาทะ ความเลินเล่อ เป็นหน้าที่ ธรรมที่เป็นข้าศึกของสติคือ ปมาทะ ความเลินเล่อหรือความพลั้งเผลอ เป็นข้าศึกของสติ สติจึงมี ๒ ประเภท คือ #สติชั้นต้น เป็นไปในกิริยาที่ทำ ถ้อยคำที่พูด และเรื่องที่คิด #สติชั้นสูง เป็นไปในสติปัฏฐาน ๔ คือ ความระลึกที่เป็นไปในกาย เวทนา จิต และธรรม เวลาที่ต้องใช้สติ สติควรใช้เวลาก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด
สัมปชัญญะเป็นความรู้สึกตัว โดยลักษณะของสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวในเวลาทำ พูด คิด เป็นลักษณะ หน้าที่ของสัมปชัญญะ กำจัดธรรมที่เป็นข้าศึก คือ อญาณ ความเขลา ความไม่รู้ เป็นหน้าที่ ธรรมที่เป็นข้าศึกของสัมปชัญญะคือ อญาณะ ความเขลา ความไม่รู้สัมปชัญญะจึงมี ๔ ประเภท ประกอบด้วย #สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งที่มีประโยชน์ #สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งที่พอดี #โคจรสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในฐานะที่ควรไปและไม่ควรไป #อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในสิ่งนั้น โดยไม่งมงาย เวลาที่ต้องใช้สัมปชัญญะควรใช้ในเวลากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด ประโยชน์ของสติสัมปชัญญะคือ เมื่อใช้ให้ถูกต้องตามกาลเวลาแล้ว ย่อมให้ผลดี คือ สติเป็นธรรมกันความพลั้งเผลอ ทำอะไรมักไม่ผิดพลาด ส่วนสัมปชัญญะ เป็นธรรมคอยกำกับจิตให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ในขณะกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด ไม่ให้ผิดพลาดได้ สติและสัมปชัญญะทั้ง ๒ นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า #พหุปการธรรม
สติจึงเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เวลามีงานสัมมนาทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา มักจะยกเรื่องสติมาพูดคุยเพื่อย้ำเตือนคนในสังคมและโลกตระหนัก เช่น สติจากวิถีธรรมสู่วิถีชีวิต สติบนพื้นฐานแห่งธรรมะในกระแสความคิดหลักศิลป์และศาสตร์การใช้สติลดความเครียด สติรากฐานแห่งกรุณา สติบำบัด ความเป็นไปได้และความท้าทายในการประยุกต์ใช้บนพื้นฐานของสติ พระพุทธศาสนาและสติในเรือนจำ ศิลปะบำบัดด้วยสติ จึงเห็นว่า เมื่อภายในสงบภายนอกก็เบิกบาน จุดเด่นของพระพุทธศาสนาคือ มุ่งพัฒนาจากภายใน สงบจากภายใน มีสันติภายใน เพราะ "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี" ในแต่ละวันลองหาโอกาสนั่งเงียบๆ ดูลมหายใจ หรือ กำหนดพองยุบ ดูความเป็นไปภายในกาย เวทนา จิต และธรรม จะมีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตยิ่ง
ดังนั้น สติจึงเป็นเครื่องบำบัดจากภายใน สติเป็นเครื่องป้องกันความขัดแย้งในโลก สติเป็นธรรมเครื่องป้องกันความผิดพลาดในการบริหารชีวิต สติจึงมุ่งเชิงรับและเชิงรุก Mindfulness is the peace of the world ซึ่งการมีสติ คือ สันติสุขของโลกใบนี้อย่างแท้จริง จึงขออนุโมทนากับโครงการดีๆ แบบนี้ เป็นการให้โอกาสซึ่งกันและกันในการเติบโตสู่สังคมอย่างมีความสุข โดยในช่วงท้าย พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต, ผศ. หัวหน้าโครงการวิจัยมอบวุฒิบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมและกล่าวปิดย้ำให้มีสติเป็นฐานในการดำเนินชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น