คณะสงฆ์วังเจ้าร่วมกับฝ่ายปกครอง ขับเคลื่อนโครงการวัดไม่ทิ้งโยม ถนนสายบุญ ด้วยทุนทางวัฒนธรรม ตามหลัก "บวร" เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 นายศักดิ์ดา สำเภาเงิน นายอำเภอวังเจ้า เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนโครงการวัดไม่ทิ้งโยม ถนนสายบุญ ของคณะสงฆ์ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า นำโดย พระปลัดดอกดิน นริสฺสโร เจ้าอาวาสวัดลาดยาวใหม่ อำเภอวังเจ้า เจ้าคณะตำบลเชียงทอง เป็นการบิณฑบาต ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม และเครื่องอุปโภค-บริโภค นำไปให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เป็นการบูรณาการตามหลักการทรงงานศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะสงฆ์ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับอำเภอวังเจ้า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้ง 7 ภาคี ในพื้นที่อำเภอวังเจ้า ภายใต้แนวคิด “สานต่อ ก่อความคิด พัฒนาชีวิต” ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว และได้รับความชื่นชม และการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของทุนทางวัฒนธรรม "ครอบครัว ศาสนา สถานที่ราชการ หรือ สถานศึกษา" หรือ บ้าน วัด ราชการ หรือ "บวร" เป็นภูมิคุ้มกัน เพื่อความมั่นคงในระดับชุมชนหมู่บ้าน
นายศักดิ์ดา สำเภาเงิน นายอำเภอวังเจ้า กล่าวว่า โครงการวัดไม่ทิ้งโยม ถนนสายบุญ ของคณะสงฆ์ตำบลเชียงทอง อำเภอวังเจ้า เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ พระปลัดดอกดิน นริสฺสโร เจ้าอาวาสวัดลาดยาวใหม่ อำเภอวังเจ้า เจ้าคณะตำบลเชียงทอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือญาติโยมในพื้นที่ตำบลเชียงทอง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2561 พระปลัดดอกดิน นริสฺสโร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลเชียงทอง หลวงพ่อท่านได้เมตตาเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ แล้วพบว่าครัวเรือนจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีทั้งผู้สูงอายุที่มีรายได้แค่จากการรอรับเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการ และเด็กที่มีคนในครอบครัวเสพยาเสพติด ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งพระปลัดดอกดินได้ร่วมกับคณะสงฆ์ในพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง จัดทำโครงการวัดไม่ทิ้งโยม ถนนสายบุญ โดยจะรับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม เงินบริจาค และเครื่องอุปโภค-บริโภค เพื่อไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและผู้ยากไร้ในพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในช่วงที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พี่น้องประชาชนทุกคนลำบาก ทางวัดเองก็ลำบาก แต่จำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ลำบากกว่า ทำให้สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้เป็นจำนวนมาก และในปัจจุบันทางคณะสงฆ์มีเครือข่ายผู้สนับสนุนในพื้นที่จำนวนมาก และยังมีการรับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการประชุมคณะสงฆ์ประจำตำบลทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง
ด้านพระปลัดดอกดิน นริสฺสโร เจ้าอาวาสวัดลาดยาวใหม่ อำเภอวังเจ้า เจ้าคณะตำบลเชียงทอง กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการวัดไม่ทิ้งโยม ถนนสายบุญ มีการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนในพื้นที่แล้ว จำนวน 1,537 ครัวเรือน ซึ่งในปีนี้ พ.ศ. 2567 ได้มีการประชุมร่วมกับอำเภอวังเจ้า และคณะกรรมการสาธารณสงเคราะห์อำเภอวังเจ้า รุ่นที่ 1 หารือถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือรายเดิม โดยทางคณะสงฆ์ และกลไกฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ติดตาม และสำรวจปัญหาความต้องการ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ต่อมากลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ขอรับความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งจะต้องมีการบูรณาการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อยกระดับการให้ความช่วยเหลือทั้งสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ข้าวสารอาหารแห้ง นอกจากนี้ทางวัดลาดยาวใหม่ยังมีพื้นที่แปลงผักต้นแบบที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งได้น้อมนำแนวทางมาจากโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และโครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ที่ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย รวมถึงปลูกพืชสมุนไพร เพื่อรับประทานเป็นยาบำรุงสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งผลผลิตที่ได้จากแปลงผักในวัด จะนำไปแจกจ่ายให้ญาติโยม ทุกวันพระ
"นอกจากนี้คณะสงฆ์ในพื้นที่ตำบลเชียงทองยังได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการจัดตั้งกองทุนภายใต้โครงการนี้อีกด้วย โดยจะนำเงินที่ประชาชนบริจาคมาช่วยเหลือการจัดงานศพให้กับคนไร้ญาติ ศพละ 2,000 บาท และเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมให้จำนวน 1 คืน และการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในครัวเรือนที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น ครอบครัวที่พ่อและแม่ของเด็กติดยาเสพติด และเด็กอาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย เพียงลำพัง ถ้าเป็นเด็กผู้ชายทางคณะสงฆ์จะสนับสนุนให้มีการบวชเรียน แต่ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะมีการส่งเสริมให้เข้าเรียนในสถานศึกษาในพื้นที่ และใช้กลไกติดตามจากคณะกรรมการสาธารณสงเคราะห์ รุ่นที่ 1 ที่มีจำนวนผู้ดูแล 5 รายต่อ 1 หมู่บ้าน ประกอบด้วย พระ เด็กนักเรียน และผู้ใหญ่ ข้าราชการบำนาญ เพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างต้นทุนของชีวิต พร้อมทั้งส่งเสริมให้รู้จักการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผัก เช่น ข่า ตะไคร้ กะเพรา ใบมะกรูด พริก และเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ควบคู่กับการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การจัดการดินและน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นทรัพยากรที่สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีสารอาหารที่ครบถ้วนให้แก่ครอบครัวและคนในชุมชน สอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลก 2566 ภายใต้แนวคิด ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน (Sustainable soil and water for better life)” นายศักดิ์ดาฯ กล่าว
นายศักดิ์ดา สำเภาเงิน นายอำเภอวังเจ้า กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเป้าหมายต่อไป ทีมอำเภอวังเจ้า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ มีแนวคิดที่จะ Change for Good โดยการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยการขยายเครือข่ายการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ และสร้างกลไกที่มีความยั่งยืน สามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการโอน ย้าย ของข้าราชการในพื้นที่ โดยการทำงานแบบยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และใช้ทุนทางวัฒนธรรม "ครอบครัว ศาสนา สถานที่ราชการ หรือ สถานศึกษา" หรือ บ้าน วัด ราชการ หรือ "บวร" สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อความมั่นคงในระดับชุมชนหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญอย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐต้องเป็นส่วนที่กระตุ้น ปลุกเร้า และจับมือให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยลงมือลงแรงไปด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราทุกคนจะได้รับนอกจากจะเป็นความสุขทางใจแล้ว ยังช่วยทำให้คนในชุมชนของเรามีความเข้มแข็งมั่นคงอีกด้วย
#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น