เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยดงกุก มหาวิทยาลัยทางพระะพุทธศาสนา สาธารณรัฐเกาหลี และมูลนิธิธรรมกาย ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางพระพุทธศาสนา (MOU) โดยมีพระวิเทศธรรมาภรณ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย และ ศาสตราจารย์ ดร.อียองคยอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยดงกุก ร่วมลงนาม ณ ห้องฉายสื่อวีดิทัศน์ ชั้น 2 อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง วัดพระธรรมกาย โดยพระวิเทศธรรมาภรณ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ได้กล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ และเล่าถึงความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำสมาธิ และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
ศาสตราจารย์ ดร.อียองคยอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยดงกุก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยดงกุกเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มุ่งเน้นการพัฒนาสร้างบุคลากรที่มีความสามารถระดับโลก เปิดการเรียนการสอนในหลากหลายสาขาวิชา ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับ Top 10 ของเกาหลี เรามีความสัมพันธ์อันดีกับวัดพระธรรมกายมาเป็นเวลายาวนาน อีกทั้งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยดงกุก ยังได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาเกาหลี-ไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสององค์กร และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปของพระพุทธศาสนา สร้างศาสนทายาทให้เกิดขึ้น และเพิ่มความความร่วมมือทางด้านศาสนา วัฒนธรรม วิชาการ โดยมีเป้าหมายหลักคือร่วมมือกันพัฒนาวิธีการทำสมาธิแบบเกาหลี และการทำสมาธิในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันของ Zen Center ของมหาวิทยาลัยดงกุก วิทยาเขต WISE ของเรา และโครงการพัฒนาเยาวชนระดับโลก ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติธรรมคย็องจู อันเป็นศูนย์สาขาของวัดพระธรรมกาย เพื่อการเป็นผู้นำในการพัฒนาพระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยอีกด้วย
“ครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมหาวิทยาดงกุก ซึ่งมีอายุกว่า 118 ปี ที่ได้ทำการลงนามความร่วมมือ MOU ทางวิชาการไปแล้ว 62 ประเทศ กับ 473 มหาวิทยาลัย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ทำ MOU กับ “วัด” – วัดพระธรรมกาย” พระครูสมุห์สนิทวงศ์ กล่าว
ลงนามบันทึกความร่วมมือทางพระพุทธศาสนา (MOU) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างทั้งสองสถาบันเพื่อโลกาภิวัตน์ของพระพุทธศาสนาและการพัฒนาความสามารถทางพุทธศาสนา 2.เพื่อกระชับความเข้าใจความร่วมมือทางศาสนา วัฒนธรรม วิชาการ และเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองสถาบันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้านความร่วมมือ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาวัฒนธรรมชาวพุทธและการศึกษาทางพุทธศาสนาร่วมกัน 2.การปลูกฝังผู้เชียวชาญทางพุทธศาสนาและการแลกเปลี่ยนบุคลากร 3.เน้นความเชี่ยวชาญด้านการทำสมาธิทางพุทธศาสนาให้เป็นระดับสากลโลก 4.จัดสัมมนาและประชุมระดับนานาชาติ 5.การแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อธรรมะต่าง ๆ และข้อมูลทางพระพุทธศาสนา และ 6.กิจกรรมแลกเปลี่ยนอื่น ๆ ด้านวัฒนธรรม และพระพุทธศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น